บนเส้นทาง ‘ฮันรยู’ สู่ ‘บีทีเอส’ ท็อปชาร์ท

บนเส้นทาง ‘ฮันรยู’ สู่ ‘บีทีเอส’ ท็อปชาร์ท

ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ปลาบปลื้มกับความสำเร็จของวงดัง “บีทีเอส” (BTS) นำ “Dynamite” เพลงภาษาอังกฤษล้วนของวงเพลงแรกคว้าอันดับ 1 บนชาร์ทบิลบอร์ด Hot 100 ที่กว่าศิลปินจะมีวันนี้ได้ รัฐบาลมีส่วนร่วมด้วยอย่างมาก 

ปีนี้ถือเป็นปีทองของวงการบันเทิงเกาหลี หลังจากภาพยนตร์เรื่อง “Parasite” ของผู้กำกับ “บงจุนโฮ” คว้ารางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมมาครองได้แล้ว ล่าสุดเมื่อวันจันทร์ (31 ส.ค.) ตามเวลาสหรัฐ วงบอยแบนด์ “บีทีเอส” หรือบังทันโซย็อนดัน เป็นนักร้องเกาหลีรายแรกที่ครองที่ 1 ใน Billboard Hot 100

ไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้านั้น 7 หนุ่มบีทีเอสเพิ่งคว้า 4 รางวัลจากเวที VMAs หรือ MTV Music Video Awards โดยรางวัล Best Pop บีทีเอสเฆี่ยนขาใหญ่อย่างเลดี้กาก้า, อารีอานา กรานเด และเทย์เลอร์ สวิฟต์ลงไปได้ 

ประธานาธิบดีมุน แจอิน ของเกาหลีใต้ แสดงความยินดีกับวง เรียกความสำเร็จล่าสุดของพวกเขาว่า “ช่างน่าทึ่งจริงๆ ไดนาไมต์เป็นเพลงที่ยอดเยี่ยม เพิ่มความภาคภูมิใจให้กับวงการเคป็อป ความสำเร็จใหม่มีความหมายมากในฐานะบทเพลงปลอบประโลมใจผู้คนทั่วโลกที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19”

159897922679

ก่อนหน้านี้ในเดือน มี.ค. เพลง On ของวงเคยติดอันดับ 4 ของ Billboard Hot 100 มาแล้ว ชาร์ทนี้ถือเป็นการจัดอันดับเพลงมาตรฐานของสหรัฐ ซึ่งเป็นตลาดเพลงใหญ่เป็นอันดับ 1 ของโลก โดยการมีเพลงเข้าชาร์ทนี้ (ไม่จำเป็นต้องได้อันดับ 1)  ถือเป็นเครื่องวัดความสำเร็จของศิลปินรายนั้นๆ ในตลาดเพลงโลกได้เป็นอย่างดี

บีทีเอส ถือเป็นวงเกาหลีใต้วงแรกที่มีผลงานติดชาร์ท หลายปีก่อน ในฤดูใบไม้ร่วงปี 2555 “ไซ” ศิลปินเดี่ยวชาติเดียวกันนำเพลง “กังนัมสไตล์” ขึ้นสู่อันดับ 2 นาน 7 สัปดาห์

ส่วนศิลปินเอเชียคนแรกที่เคยครองที่ 1 Billboard Hot 100 คือเคียว ซากาโมโต นักร้องชาวญี่ปุ่น กับผลงานเพลง“Sukiyaki” ติดชาร์ทนาน 3 สัปดาห์ในเดือน มิ.ย.2506

159897926784

วงการเคป็อปทั้งเพลงและซีรีส์ เป็นหนึ่งในผลงานการส่งออกวัฒนธรรมที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดอย่างหนึ่งของเกาหลีใต้ องค์ประกอบสำคัญของกระแสคลื่นเกาหลี หรือฮันรยู คือ การได้รับความนิยมไปทั่วเอเชียและที่อื่นๆ ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา

เกาหลีใต้เป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศ ที่อุทิศตัวเพื่อเป้าหมายเป็นผู้นำการส่งออกวัฒนธรรมป็อป สำหรับพัฒนา “ซอฟท์เพาเวอร์” (อำนาจในการโน้มน้าวเพื่อสร้างความนิยมยอมรับ) ซึ่งตรงข้ามกับการใช้ฮาร์ดเพาเวอร์อย่างอำนาจทางการทหารและเศรษฐกิจ

เว็บไซต์ martinroll.com รายงานว่า คลื่นความนิยมเกาหลีเริ่มต้นเผยแพร่สู่จีนและญี่ปุ่น จากนั้นขยายไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอีกหลายประเทศทั่วโลกและยังคงอิทธิพลอย่างแข็งแกร่งถึงขณะนี้

ในทศวรรษ 2000 การห้ามแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมป็อประหว่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ที่ดำรงอยู่นาน 50 ปีถูกยกเลิกไป วัฒนธรรมป็อปเกาหลีจึงได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วในหมู่ชาวญี่ปุ่น สถานีโทรทัศน์โสมขาวส่งตัวแทนไปประชาสัมพันธ์รายการโทรทัศน์และเนื้อหาด้านวัฒนธรรมในหลายๆ ประเทศ

คลื่นความนิยมเกาหลี (ฮันรยู) เป็นประโยชน์สำหรับเกาหลีใต้ทั้งในแง่ธุรกิจ วัฒนธรรม และภาพลักษณ์ประเทศ ตั้งแต่ต้นปี 2542 ฮันรยูกลายเป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมครั้งใหญ่สุดทั่วเอเชีย สร้างผลลัพธ์มหาศาล คิดเป็น 0.2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของเกาหลีใต้ในปี 2547 คิดเป็นเงินราว 1.87 พันล้านดอลลาร์ ถึงปี 2562 ฮันรยูทำเงินให้เศรษฐกิจเกาหลีใต้ถึง 1.23 หมื่นล้านดอลลาร์

  • 5 ปัจจัยสำคัญที่มีส่วนมหาศาลต่อวิวัฒนาการของกระแสเกาหลี ได้แก่

1.ยกเลิกห้ามชาวเกาหลีเดินทางไปต่างประเทศ เผลอๆ นี่อาจจะเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด เมื่อรัฐบาลเกาหลีใต้ตัดสินใจยกเลิกคำสั่งห้ามชาวเกาหลีไปต่างประเทศช่วงต้นทศวรรษ 90 ทำให้ชาวเกาหลีใต้จำนวนหนึ่งได้สำรวจโลกตะวันตก ส่วนใหญ่เป็นสหรัฐและยุโรป บางคนได้ไปเรียนหนังสือ บ้างเข้าไปทำงานในบริษัทดังก่อนกลับเกาหลีใต้ช่วงปลายทศวรรษ 90

ชาวเกาหลีที่ได้รับการศึกษาแบบตะวันตกนำมุมมองใหม่ๆ เข้ามาใช้ในธุรกิจ ตีความศิลปะ ภาพยนตร์ ดนตรี และรูปแบบนวัตกรรมในการแสดงความรู้สึกเสียใหม่ เปิดโอกาสให้คนเก่งอายุน้อยผู้มากความสามารถ

2.ปรับโครงสร้างแชโบล วิกฤติการเงินเอเชียระหว่างปี 2540-2541 ส่งผลกระทบต่อบริษัทยักษ์ใหญ่ของเกาหลีใต้ที่เรียกกันว่าแชโบลจนต้องปรับโครงสร้าง ขายกิจการบางอย่างออกไป แล้วหันมาให้ความสำคัญกับธุรกิจที่ถนัด

ประธานาธิบดีคิม แดจุง ผลักดันให้เทคโนโลยีสารสนเทศและวัฒนธรรมป็อปเป็น 2 ตัวขับเคลื่อนหลักเพื่ออนาคตเกาหลี

ซัมซุง หนึ่งในแชโบลที่โดดเด่นที่สุดของประเทศ วิกฤติปี 2540-2541 ผลักดันให้ซัมซุงต้องสร้างความเป็นสากลเพื่อแสวงหาการเติบโตนอกประเทศ ซึ่งซัมซุงได้พบกับความรุ่งเรืองตั้งแต่นั้น เป็นตัวอย่างคลาสสิกให้บริษัทเกาหลีได้เข้าใจถึงการแสวงหาประโยชน์จากการที่โลกสนใจสิ่งที่เกาหลีใต้เป็น และสิ่งที่ประเทศตอบสนองต่อโลก

3.ยกเลิกกฎหมายเซ็นเซอร์ กฎหมายฉบับนี้ห้ามผู้สร้างภาพยนตร์และศิลปินสร้างงานในหัวข้อที่เป็นประเด็นโต้เถียง จึงจำกัดความคิดสร้างสรรค์มาเป็นเวลานาน

ปี 2539 ศาลรัฐธรรมนูญห้ามการเซ็นเซอร์ เปิดให้ศิลปินทำงานในหัวข้อใหม่ๆ ได้ คนหนุ่มสาวยยุคใหม่จึงมีโอกาสแสดงแนวคิดอันโดดเด่นผ่านภาพยนตร์และดนตรี ผู้สร้างภาพยนตร์ดังๆ เติบโตขึ้นในยุคนี้

4.ตอกย้ำแบรนด์เกาหลี กลางทศวรรษ 90 แชโบลใหญ่ๆ บางรายอย่างซัมซุงและแอลจี เริ่มเสริมความแข็งแกร่งในระดับโลก ทั้งในแง่คุณภาพ ดีไซน์ การตลาด และแบรนด์ กลายเป็นสินค้าระดับพิเศษในตลาดโลก

5.สนใจโครงสร้างพื้นฐานมากขึ้น รัฐบาลโซลทุ่มงบประมาณพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ตไฮเทค เพื่อให้ประชาชนได้เชื่อมต่อกับโลก

ปัจจัยทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้เป็นฐานชั้นยอดให้คนหนุ่มสาวได้ทดลองดนตรี ละคร และภาพยนตร์แบบใหม่ๆ อย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน ความสำเร็จจึงเกิดขึ้นกับวงการบันเทิงเกาหลีในทุกวันนี้