ศบศ. ชงมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ เพื่อเศรษฐกิจฐานราก
ศบศ. ชงมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ เพื่อเศรษฐกิจฐานรากโดยเฉพาะพ่อค้าแม่ค้า หาบเร่แผงลอยได้รับประโยชน์ เพิ่มสิทธิโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เร่งจ้างงานกว่า 260,000 อัตรา
วันนี้ (2 ก.ย. 63) เวลา 11.30 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร นายดนุชา พิชญนันท์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แถลงผลหลังการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ) ครั้งที่ 2/2563 โดยที่ประชุมเห็นชอบการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศเพิ่มเติมภายใต้โครงการเราเที่ยวด้วยกัน โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) แบ่งออกเป็น 2 แนวทาง
ได้แก่ 1. การเพิ่มสิทธิให้ผู้ลงทะเบียนจำนวน 3 สิทธิ ได้แก่ เพิ่มส่วนลดค่าที่พักร้อยละ 40 จำนวน 10 คืนต่อคน เพิ่มคูปองอาหารต่อการท่องเที่ยว สูงสุดมูลค่า 900 บาทต่อวัน และให้เงินคืนค่าตั๋วเครื่องบินจำนวน 2,000 บาทต่อที่นั่ง พร้อมทั้งเห็นชอบในหลักการเสนอให้ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง และพนักงานรัฐวิสาหกิจ สามารถลาพักผ่อนในวันธรรมดาเพิ่มได้ 2 วัน โดยไม่ถือเป็นวันลาเมื่อลงทะเบียนและใช้สิทธิในแพ็คเกจเราเที่ยวด้วยกัน เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในวันธรรมดา รวมทั้งดึงดูดกลุ่มผู้มีกำลังซื้อ อาทิ ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง และพนักงานรัฐวิสาหกิจ ให้ออกเดินทางท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบมาตรการส่งเสริมการจ้างงานใหม่สำหรับผู้จบการศึกษาใหม่โดยภาครัฐและภาคเอกชน โดยกระทรวงแรงงาน เพื่อสนับสนุนการจ้างงานผู้จบการศึกษาใหม่ใน 3 กลุ่ม ได้แก่ ระดับปริญญาตรี ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) รวมจำนวน 260,000 อัตรา และเห็นชอบในหลักการของมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย โดยกระทรวงการคลัง เพื่อลดค่าครองชีพของประชาชน ส่งเสริมการบริโภคและช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยทั่วไป ผู้ประกอบการกลุ่มหาบเร่ แผงลอย ประมาณ 80,000 ร้านค้า ผ่านกลไกการดำเนินงานผ่านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ของรัฐบาล
รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเผยว่า แม้เดือนสิงหาคม 2563 มีสัญญาณของการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการเดินทางภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตและเดบิตภายในประเทศเริ่มปรับตัวดีขึ้น รวมทั้ง โครงการ DR BIZ การเงินร่วมใจ ธุรกิจไทยมั่นคง ของธนาคารแห่งประเทศ ที่ออกมาช่วยเหลือลูกหนี้ธุรกิจที่มีเจ้าหนี้สถาบันการเงินหลายรายให้ได้รับการบรรเทาภาระหนี้ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้มอบนโยบายให้ ศบศ. เร่งหามาตรการเศรษฐกิจโดยมุ่งเป้าช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยทั่วไป โดยเฉพาะกลุ่มพ่อค้า แม่ค้าหาบเร่ แผงลอย เพื่อเป็นการกระตุ้นการใช้จ่ายในระดับเศรษฐกิจฐานราก เกิดกระจายรายได้ให้แก่กลุ่มบุคคลดังกล่าวด้วย