'วราวุธ' ติดตามวางขาแท่นที่ 4 เป็นปะการังเทียม พื้นที่เกาะพะงัน

'วราวุธ' ติดตามวางขาแท่นที่ 4 เป็นปะการังเทียม พื้นที่เกาะพะงัน

รมว.ทส. “วราวุธ” ติดตามวางขาแท่นที่ 4 เป็นปะการังเทียม พื้นที่เกาะพะงัน  สั่ง “กรมทะเล” เตรียมถอดบทเรียน ขยายผลต่อเนื่อง


กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ร่วมกับ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และกลุ่มนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินโครงการนำร่องการใช้ขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียม จำนวน 7 ขาแท่น ไปจัดวางเป็นปะการังเทียม เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล บริเวณเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งดำเนินการจัดวางไปแล้ว จำนวน 3 ขาแท่น โดยวันนี้ (2 กันยายน 2563) จะจัดวางขาแท่นที่ 4 และคาดว่าขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมทั้ง 7 ขาแท่น จะดำเนินการจัดวางแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2563 ด้านนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สั่งถอดบทเรียนเพื่อพัฒนาต่อยอดโครงการ ต่อไป

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) กล่าวว่า ประเทศไทยได้มีการศึกษาเรื่องการใช้โครงสร้างเหล็กชนิดเดียวกับขาแท่นมาจัดวางเป็นปะการังเทียมแล้ว และพบว่ามีความเหมาะสม อีกทั้ง สามารถเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำและสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ เป็นแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งประมง สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนในพื้นที่ รวมถึงกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับประเทศชาติเป็นจำนวนมาก โดยคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ ที่มีพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน ซึ่งได้มีมติเห็นชอบในหลักการ เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2561 เรียบร้อยแล้ว

159905681566

อย่างไรก็ตาม ตนได้ติดตามการดำเนินการโครงการฯ ดังกล่าวมาโดยตลอด ซึ่งภายหลังเสร็จสิ้นโครงการตนคิดว่า พี่น้องประชาชนต้องได้รับประโยชน์จากการดำเนินการโครงการทั้งทางตรงและทางอ้อม นอกจากนี้ ตนได้หารือกับนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ถึงแนวทางการพัฒนาต่อยอด รวมถึง การดำเนินการในพื้นที่อื่น ๆ


ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้นายยุทธพล อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำกับการดำเนินงานอย่างใกล้ชิด พร้อมหารือแนวทางร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ผู้เชี่ยวชาญ และนักวิชาการ ในการศึกษากลไกและความเป็นไปได้ และถอดบทเรียนจากการดำเนินการโครงการฯ ครั้งนี้ โดยต้องคิดให้รอบด้านถึงผลดีและผลเสีย ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องด้วย

159905683030

ด้าน นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการฯ ได้ริเริ่มศึกษาความคุ้มค่าและความเป็นไปได้ในสมัยนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยังดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และพัฒนาการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง โดยที่เชฟรอนประเทศไทย ได้ส่งมอบขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมที่ไม่ใช้งานแล้วจำนวน 7 ขาแท่น ให้แก่ทช. เพื่อนำไปจัดวางเป็นปะการังเทียม รวมทั้ง ให้การสนับสนุนงบประมาณการดำเนินโครงการ 


นอกจากนี้ ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้รับผิดชอบในการศึกษาทางวิชาการด้านกายภาพและนิเวศวิทยาของพื้นที่ รวมถึงการเข้าใช้ประโยชน์พื้นที่ให้เป็นไปตามมาตรฐานวิชาการของทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ต้องขอขอบคุณกองทัพเรือ กรมเจ้าท่า และกรมประมง ที่ให้การสนับสนุนและความร่วมมือในการดำเนินงานมาโดยตลอด


สำหรับในวันนี้ โครงการนำขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมมาจัดวางเป็นปะการังเทียม ในพื้นที่เกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ทางเชฟรอนได้ดำเนินการจัดวางเป็นขาแท่นที่ 4 จากทั้งหมด 7 ขาแท่น ซึ่งโดยในวันนี้ (2 กันยายน 2563) ตนพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้ลงพื้นที่สังเกตการณ์และติดตามการวางขาแท่นที่ 4 และคาดว่าขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมทั้ง 7 ขาแท่น จะดำเนินการจัดวางแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2563 นี้ 

159905685199

นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี  กล่าวว่า ภายหลังจากโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จ ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งของจังหวัดสุราษฎร์ธานีจะกลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง อีกทั้งปริมาณสัตว์น้ำและแหล่งที่อยู่อาศัย จะเพิ่มขึ้นและสมบูรณ์ขึ้น รวมถึงแหล่งหลบภัยของสัตว์น้ำวัยอ่อน นอกจากนั้น การออกแบบการจัดวางขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมในการนำไปจัดวางเป็นปะการังเทียมในพื้นที่เกาะพะงัน ตามที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรได้ดำเนินการยังเป็นประโยชน์ในด้านการเพิ่มแหล่งดำน้ำ

 อีกทั้งช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวทางทะเลของจังหวัดสุราษฎร์ธานี สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติให้เดินทางมาท่องเที่ยว เพื่อสร้างรายได้ให้กับพี่น้องชาวจังหวัดสุราษฎร์ธานี ตลอดจนลดจำนวนนักท่องเที่ยวดำน้ำออกจากแนวปะการังธรรมชาติ และลดการทำลายแนวปะการังธรรมชาติจากกิจกรรมการท่องเที่ยวอีกด้วย