เปิดหลักเกณฑ์ช่วยเหลือ ‘เกษตรกร’ ประสบภัยพิบัติด้านพืช มีขั้นตอนอย่างไร?
เปิดหลักเกณฑ์ช่วยเหลือ "เกษตรกร" ที่ประสบภัยพิบัติด้านพืช มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง? แต่ละรายได้รับเงินช่วยเหลือรายเท่าไร?
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ประชาสัมพันธ์ กรมส่งเสริมการเกษตร ได้เผยแพร่เกณฑ์การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติด้านพืช โดยการให้ความช่วยเหลือนี้เป็นไปตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ปี 2562
ซึ่งตามระเบียบกระทรวงการคลัง อธิบายว่า “ภัยพิบัติ” หมายถึง สาธารณภัย ได้แก่ อัคคีภัย วาตภัย อุทกภัย ภัยแล้ง ภาวะฝนแล้ง ฝนทิ้งช่วง ภัยจากลูกเห็บ ภัยอันเกิดจากไฟป่า ภัยที่เกิดจากโรคหรือการระบาดของแมลง หรือศัตรูทุกชนิด ภัยอันเกิดจากโรคที่แพร่หรือระบาดในมนุษย์ อากาศหนาวจัดผิดปกติ ภัยสงคราม และภัยอันเนื่องมาจากการกระทำของผู้ก่อการร้าย กองกำลังจากนอกประเทศ ตลอดจนภัยอื่นๆ ไม่ว่าเกิดจากธรรมชาติหรือมีบุคคลหรือสัตว์ทำให้เกิดขึ้น ซึ่งก้อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต ร่างกายของประชาชน หรือทำให้เกิดความเสียหาย
ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตร ระบุถึงขั้นตอนการขอรับการช่วยเหลือ 7 ขั้นตอน ดังนี้
เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือ หลังจากนั้นเกษตรกรจึงจะยื่นแบบขอรับการช่วยเหลือ (กษ 01) ซึ่งมีผู้ใหญ่บ้าน กำนัน องค์การบริหารส่วนตำบล หรือนายกเทศมนตรี ตรวจสอบและรับรองตามสถานที่ที่กำหนด ซึ่งจะต้องมีคณะกรรมการหมู่บ้านตรวจสอบและรับรองความเสียหาย
หลังจากนั้นจะนำรายชื่อเกษตรกรที่ผ่านการตรวจสอบแล้ว ไปติดประกาศคัดค้านตามสถานที่ที่กำหนดไม่น้อยกว่า 3 วัน และสำนักงานเกษตรอำเภอนำเสนอคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติอำเภอ (ก.ช.ภ.อ.) พิจารณาให้ความช่วยเหลือ วงเงินไม่เกิน 500,000 บาท หากไม่เพียงพอ จะมีการเสนอคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจังหวัด (ก.ช.ภ.จ.) ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานกรรมการ ในวงเงิน 20 ล้านบาท
หากพื้นที่เกิดความเสียหายมากและไม่เพียงพอ การพิจารณาจะอยู่ในอำนาจของปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วงเงิน 50 ล้านบาท
สำหรับหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือ จะเป็นไปตามที่เกาตรกรที่ประสบภัยพิบัติ ขึนทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตรก่อนเกิดภัยพิบัติ ซึ่งจะเป็นการช่วยเหลือตามพื้นที่เสียหายจริง ไม่เกินครัวเรือนละ 30 ไร่ โดยกำหนดอัตราการช่วยเหลือดังนี้ ข้าว 1,113 บาทต่อไร่ พืชไร่ 1,148 บาทต่อไร่ ขณะที่พืชสวนและอื่นๆ 1,690 บาทต่อไร่
อย่างไรก็ตามหากเกษตรกรเข้าร่วมโครงการประกันภัยกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เกษตรกรที่ปลูกข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เมื่อได้รับเงินช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังแล้ว จะได้รับเงินช่วยเหลือเพิ่มเติม คือ ข้าวนาปี ได้รับเบี้ยประกัน 97 บาทต่อไร่ สินไหมทดแทน 1,260 บาทต่อไร่ ส่วนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ได้รับเบี้ยประกัน 160 บาทต่อไร่ และสินไหมทดแทน 1,500 บาทต่อไร่
ที่มา : ratchakitcha.soc,