'ศอญ.จอส.พระราชทาน - ราชทัณฑ์ปันสุข' ลงพื้นที่ติดตามงานด้านสาธารณสุข เรือนจำอำเภอนาทวี
คณะทำงานโครงการ "ราชทัณฑ์ปันสุข ทำความดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์" ประจำศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน ลงพื้นที่ติดตามการบริหารจัดการน้ำเสีย และการสาธารณสุข ภายในเรือนจำอำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา
เมื่อวันที่ 2 กันยายน 63 เวลา 11.30 น.พลตรี กัลย์สรรค์ จันทรเสน รองผู้อำนวยการ ศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน (ศอญ.จอส. พระราชทาน) และ คณะทำงานโครงการราชทัณฑ์ปันสุข ทำความดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ประจำ ศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน เดินทางมาที่เรือนจำอำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา เพื่อให้คำแนะนำเกี่ยวกับระบบการบำบัดน้ำเสีย และ การสาธารณสุข โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา และ ผู้บัญชาการเรือนจำอำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา พร้อมด้วย ข้าราชการพลเรือน ทหาร ตำรวจ และ จิตอาสา 904 ในพื้นที่ให้การต้อนรับ
เรือนจำอำเภอนาทวี ตั้งอยู่ที่ ตำบลนาหมอศรี อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา เริ่มก่อสร้าง ตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน 2548 และเปิดดำเนินการควบคุมผู้ต้องขัง เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2553 มีอำนาจการควบคุมผู้ต้องขังกำหนดโทษ ไม่เกิน 25 ปี มีเนื้อที่ 26 ไร่ 3 งาน 50 ตารางวา อยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดสงขลา ประมาณ 60 กิโลเมตร ปัจจุบัน มี ผู้ต้องขังชาย จำนวน 2,473 คน ผู้ต้องขังหญิง จำนวน 312 คน รวมยอดผู้ต้องขังชายและผู้ต้องขังหญิง ทั้งหมดจำนวน 2,785 คน และ มีผู้ต้องกักขังชาย จำนวน 46 คน ผู้ต้องกักขังหญิง 2 คน รวมยอดผู้ต้องกักขังชาย และ ผู้ต้องกักขังหญิง ทั้งหมด จำนวน 48 คน รวมยอดผู้ต้องขังและผู้ต้องกักขัง ทั้งหมด จำนวน 2,833 คน
เรือนจำอำเภอนาทวี มีแหล่งน้ำที่ใช้อุปโภค บริโภค เป็นน้ำบาดาล มีจำนวน 3 บ่อ ใช้ทั้งภายในเรือนจำ และ ภายนอกเรือนจำ อัตราการใช้น้ำของผู้ต้องขัง จำนวน 157,428.37 ลิตร/วัน อัตราเฉลี่ยการใช้น้ำของผู้ต้องขังใน 1 วัน ปริมาณ 55 ลิตร/คน ปริมาณน้ำเสียเฉลี่ยรวมทั้งหมด 125,942.64 ลิตร/วัน ในภาพรวม เรือนจำอำเภอนาทวี สามารถจัดการระบบดักไขมันภายในเรือนจำ ฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วน บ่อน้ำที่อยู่ภายนอกเรือนจำมีขนาดใหญ่ รองรับน้ำที่ออกจากเรือนจำ โดยไม่ผ่านการบำบัดเบื้องต้น บ่อน้ำ ยังมีกลิ่นเหม็น โดยเฉพาะตอนฝนตก ตะกอนที่สะสมอยู่ในบ่อจะลอยขึ้นมาอยู่ผิวน้ำ
คณะทำงานโครงการราชทัณฑ์ปันสุข ทำความดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ประจำ ศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน ได้เสนอข้อแนะนำ ให้ ทางเรือนจำอำเภอนาทวี ดำเนินการ ขุดบ่อบำบัดน้ำเสีย แบบเติมอากาศ เพิ่มเติม อีก 1 บ่อ หรือ ขุดลอกตะกอนจากบ่อเดิม ใช้จุลินทรีย์ในการบำบัดน้ำตั้งแต่ต้นทาง งดการใช้สารเคมี บริหารจัดการขยะ ศึกษาการใช้พลังงานทดแทน สนธิกำลัง บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการ บำบัดน้ำเสีย อย่างเป็นระบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ มีการสำรวจพิจารณาเรือนจำนำร่อง ในการแก้ปัญหาระบบการบำบัดน้ำเสีย อีกหลายเรือนจำให้เป็นเรือนจำต้นแบบ การแก้ปัญหาระบบการบำบัดน้ำเสีย ให้เรือนจำทั่วไป ได้เกิดกระบวนการเรียนรู้ ปรับปรุงเพื่อให้คุณภาพน้ำดีขึ้นตามลำดับ และจะมีการเปิดสอน อบรม หลักสูตรจิตอาสาราชทัณฑ์ (จอส.รท.) เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ต้องขัง มีความเสียสละ ตั้งใจทำความดี เป็นพลเมืองดี มีจิตอาสา ช่วยเหลือ สังคม และ ประเทศชาติต่อไป
นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ตั้งโครงการราชทัณฑ์ ปันสุข ทำความดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ทรงมีพระวิสัยทัศน์อันกว้างไกล โดยทรงเห็นว่าสุขภาพกาย สุขภาพใจที่ดีเป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน ไม่เว้นแม้แต่ผู้ต้องขัง ซึ่งก็คือประชาชนเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ ทรงเห็นว่าการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ พยาบาล รวมไปถึงการได้รับความรู้ในการดูแลสุขภาพของผู้ต้องขัง เป็นสิทธิของผู้ต้องขังที่ควรได้รับเท่าเทียมกับบุคคลภายนอกตามหลักมนุษยธรรม โดยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงห่วงใย ใส่พระทัย ติดตามสถานการณ์ การแก้ปัญหาการบำบัดน้ำเสีย ภายในเรือนจำทุกแห่งทั่วประเทศ ของกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ในภาพรวม อย่างใกล้ชิดอีกด้วย