ความหวังมาตรการ ศบศ. ต่อลมหายใจ 'เศรษฐกิจไทย'
โจทย์ใหญ่ของ ศบศ. คือการวางนโยบายหรือมาตรการในการเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยจากพิษวิกฤติโควิด-19 ที่จะมาช่วยต่อลมหายใจให้กับผู้ประกอบการ ที่ปัจจุบันต่อสู้อย่างหนัก โดยเฉพาะเอสเอ็มอีไทย
สวัสดีคุณผู้อ่านคอลัมน์ Think Forward ทุกท่านครับ เดือน ก.ย.นี้ เศรษฐกิจเริ่มใกล้เข้าสู่โค้งสุดท้ายไตรมาส 4 ของปี 2563 แล้วครับ ผู้ประกอบการภาคธุรกิจหลายคนคงยังเหนื่อยกับการต่อสู้กับผลกระทบการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 อยู่ ซึ่งทั่วโลกคาดการณ์กันว่าจะค้นพบวัคซีนป้องกันช่วงไตรมาส 2 หรือ 3 ในปี 2564 เท่ากับว่าเราจะต้องอยู่กับโรคโควิด-19 อีกสักระยะ และยังต้องเฝ้าระวังกันอย่างใกล้ชิดต่อไป
ต้องยอมรับว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาคเศรษฐกิจไทย เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและภาคเอกชนไม่ได้นิ่งนอนใจ พยายามตั้งรับสู้ไปด้วยกัน! ล่าสุดรัฐบาลจึงได้จัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบศ. ที่มีนายกรัฐมนตรีนั่งเป็นประธาน ทำหน้าที่คล้ายกับ ศบค.โควิด-19 ถือเป็นเรื่องดี และเป็นหนึ่งในข้อเสนอของภาคเอกชน หวังให้การทำงานการแก้ปัญหาต่างๆ มองภาพไปในทิศทางเดียวกัน
ล่าสุดการประชุมนัดแรกเมื่อวันที่ 19 ส.ค.ที่ผ่านมา เป็นการวางกรอบแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจของแต่ละหน่วยงานให้กลับไปทำการบ้าน ซึ่งหากมีการประชุมครั้งหน้าทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้ทำการบ้านเตรียมเสนอไว้แล้ว
โดยประเด็นสำคัญที่เร่งด่วน หนีไม่พ้นการเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยขอให้สถาบันการเงินขยายระยะเวลาพักชำระหนี้ออกไปอีก 2 ปี จนถึงสิ้นปี 2565 จากปัจจุบันผ่อนปรนให้เป็นเวลา 6 เดือน มาตรการจะสิ้นสุดในเดือน ก.ย.นี้ โดย 6 เดือนแรกขอให้พักทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ส่วนที่เหลืออีก 1 ปี ครึ่งให้พักเงินต้น จ่ายแต่ดอกเบี้ย ที่ไม่ถือเป็นการผิดนัดชำระหนี้ เพื่อช่วยต่อลมหายใจให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี
เพราะในปัจจุบันแม้ภาครัฐจะคลายล็อกดาวน์ให้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นบ้างแล้ว แต่ทุกอย่างยังไม่กลับมาฟื้นตัวเต็มที่ ผมมองว่ากว่าเศรษฐกิจในประเทศจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติอาจจะใช้เวลาถึง 2 ปี เพราะนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศยังไม่กลับมา ระยะต่อไปจึงยังน่าเป็นห่วง หากมาตรการช่วยเหลือด้านการเงินในกลุ่มต่างๆ สิ้นสุดลง หากผู้ประกอบการไปไม่รอด ก็จะทำให้เกิดปัญหาการว่างงาน ยิ่งซ้ำเติมเศรษฐกิจเข้าไปอีก
อีกประเด็นที่สำคัญไทยต้องเน้นการ “พึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศ” จึงต้องเร่ง “โครงการ Made in Thailand” โดยเร็ว เพื่อให้มีการจัดซื้อจัดจ้างใช้สินค้าไทย สร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะการให้แต้มต่อกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย สามารถขายสินค้าได้ราคาสูงกว่าไม่เกิน 10%
เนื่องจากเศรษฐกิจทั่วโลกยังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 สาหัสเช่นกัน เห็นได้จากตัวเลขภาคการส่งออกของไทย 7 เดือน (ม.ค.-ก.ค.) ยังติดลบ 7.72% ทั้งปีนี้ โดย กกร.ประเมินว่าจะติดลบ 12 ถึงติดลบ 10% ล่าสุดทางกรมบัญชีกลาง ได้รับลูกในเรื่องดังกล่าวแล้ว รอให้ที่ประชุม ครม.ประกาศอย่างเป็นทางการอีกครั้ง ซึ่งผมอยากให้มาตรการนี้ทันต่อปีงบประมาณ 2564
เรื่องการ “ตั้งกองทุนนวัตกรรม” ผมมองว่าเป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน กองทุนนวัตกรรมนี้ดูแลโดยเอกชน ไม่ได้ใช้เงินของภาครัฐ จะเบิกจ่ายง่ายกว่า ซึ่งเราจะรู้ว่าเอกชนรายไหนของเราไปรอดหรือไม่รอด ไม่ต้องห่วงนะครับ กองทุนนี้เราจะเน้นดูแลเอสเอ็มอี ไม่ใช่บริษัทใหญ่ หรือเครือบริษัทใหญ่ โดยขอให้ภาครัฐเปิดโอกาสให้เอกชนที่สนับสนุน หรือบริจาคให้กองทุนนี้ได้หักลดหย่อนภาษี 3 เท่า สำหรับสินค้าที่จะอยู่ในตลาดโลกได้ในวันข้างหน้า ต้องมีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ นวัตกรรมแปลกๆ เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค รวมทั้งยังช่วยลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพ และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการได้ด้วย
ทั้งนี้ รัฐบาลควรเตรียมเงินสำรองไว้อีกส่วนหนึ่งโดยการออก พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มอีก 1 ล้านล้านบาท เพื่อมาดูแลเศรษฐกิจฐานราก เพิ่มเติมจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1.9 ล้านล้านบาท ที่อาจไม่เพียงพอต่อผลกระทบโควิด-19 ที่สร้างความเสียหายไปแล้วไม่ต่ำกว่า 2 ล้านล้านบาท ถ้ารัฐบาลไม่มีมาตรการใหม่เพิ่มเติม หรือขยายมาตรการออกไป อาจทำให้มีผลกระทบคนตกงานปีนี้ 6-7 ล้านคน และมีผู้ประกอบการทยอยปิดกิจการเพิ่มมากขึ้น โดยวงเงินนี้จะมาดูแลกระตุ้นการใช้จ่าย ดูแลการจ้างงานต่างๆ เพื่อทำให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนไปได้ ส่วนผลสรุปมาตรการต่างๆ จะเป็นอย่างไร ผมจะมาอัพเดตให้ฟังอีกครั้งครับ
ณ เวลานี้ทุกอย่างกำลังเดินหน้าไปได้ ขอให้ผู้ประกอบการทุกท่านอย่าเพิ่งหมดกำลังใจ ร่วมมือร่วมใจฟันฝ่าไปด้วยกันนะครับ หากท่านผู้อ่านหรือนักธุรกิจท่านใดอยากทราบข้อมูลด้านอุตสาหกรรมเพิ่มเติม สามารถแอดไลน์ของสภาอุตสาหกรรมฯ ได้ที่ @ftithailand หรือทักเข้ามาได้ที่เฟซบุ๊คของผมตามลิงก์นี้ได้เลยครับ www.facebook.com/ftichairman สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย