เทคโนโลยีการแพทย์ยุคใหม่ร่นเวลาพัฒนาวัคซีนโควิด-19
วัคซีนทั้งสองชนิดใช้เทคโนโลยีการแพทย์สมัยใหม่เข้ามาช่วยเร่งกระบวนการคิดค้นและพัฒนา เพื่อให้ทันต่อความต้องการของตลาดโลก
เทคโนโลยีการแพทย์ทุกวันนี้ พัฒนาไปไกลไม่แพ้เทคโนโลยีด้านการสื่อสาร ทำให้การพัฒนาวัคซีนเพื่อนำมาใช้รับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19 มีความรวดเร็วมากขึ้นแต่ก็ต้องผ่านการทดสอบอย่างละเอียด ถี่ถ้วนเพื่อให้วัคซีนนั้นๆมีความปลอดภัยเพียงพอ แต่ก่อนจะพูดถึงประเด็นเทคโนโลยีการแพทย์ยุคใหม่ว่าช่วยในเรื่องการพัฒนาวัคซีนอย่างไร ขอบอกเล่าถึงความร้ายแรงของไวรัสชนิดนี้ก่อน
เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่ก่อโรคโควิด-19 ส่งผลต่อร่างกายคนเราแตกต่างกันออกไป หลายคนอาจไม่แสดงอาการป่วยให้เห็นเลย แต่บางคนอาจต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลนานหลายสัปดาห์ เชื้อไวรัสนี้ เข้าสู่ร่างกายทางปาก จมูก หรือ ตา โดยเกาะติดไปกับเซลล์ในเยื่อบุจมูก ช่องคอ ทางเดินหายใจ หรือปอด และเปลี่ยนให้เซลล์ในส่วนต่างๆทำหน้าที่เหมือนโรงงานที่เพิ่มจำนวนและแพร่เชื้อไวรัสออกไป
คนส่วนใหญ่ เมื่อติดเชื้อชนิดนี้แล้วอาจมีอาการรุนแรงที่สุดคือ มีไข้สูง ไอ และหายใจลำบาก แต่ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่เป็นต้นตอโรคโควิด-19 อาจสร้างความเสียหายต่อหลอดเลือดขนาดเล็กที่อยู่ในปอด ทำให้เลือดแข็งตัวเป็นลิ่ม และหากเกิดการอักเสบบริเวณถุงลม ซึ่งมีหน้าที่นำออกซิเจนเข้าสู่เลือด จะทำให้เกิดอาการปอดบวม และในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง แพทย์ต้องรักษาด้วยการให้ออกซิเจน เนื่องจากปอดเต็มไปด้วยของเหลวและซากเซลล์ตายแล้ว
โรคโควิด-19 ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการชัก หรือมีอาการขั้นโคม่าได้โดยไม่รู้สึกตัว และยังทำให้เกิดปัญหากับสมอง ที่นำไปสู่โรคหลอดเลือดสมอง เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันที่มีการตอบสนองมากเกินไปอาจทำให้เลือดแข็งตัว ส่งผลให้การส่งเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของสมองหยุดทำงาน เมื่อเป็นแบบนี้ ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงอาจแสดงอาการคล้ายกับคนเป็นโรคสมองอักเสบ โรคจิต และโรคสมองเสื่อม
ในส่วนของระยะเวลาการป่วยโดยเฉลี่ยของการเป็นโรคนี้คือ 14 วัน แต่หลายคนอาจมีอาการป่วยนานกว่านั้น และผู้ป่วยบางคนอาจมีปัญหาเกี่ยวกับระบบการหายใจ มีอาการอ่อนเพลียเรื้อรังนานหลายเดือน โดยกลุ่มที่มีโอกาสสูงสุดที่จะมีอาการรุนแรงคือ กลุ่มคนชรา และผู้มีโรคประจำตัว
จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ที่ทุกคนควรปฏิบัติตามข้อแนะนำด้านสุขภาพ เพื่อให้ปลอดภัยจากโรคนี้ เนื่องจากทุกวันนี้ ยังไม่แน่ชัดว่าร่างกายของแต่ละคนจะตอบสนองต่อโรคโควิด-19 อย่างไรบ้าง จนกว่าคนๆนั้นจะติดเชื้อเสียก่อน
ในส่วนของการพัฒนาวัคซีนต้านโรคโควิดนั้น ถือเป็นเรื่องโชคดีที่โลกยุคปัจจุบัน เป็นโลกแห่งเทคโนโลยีก้าวไกล ทำให้มีเทคโนโลยีการแพทย์แบบใหม่เป็นพระเอกขี่ม้าขาวเข้ามาช่วยให้กระบวนการพัฒนาวัคซีนไม่ล่าช้าเหมือนในอดีต
เมื่อไม่นานมานี้ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐ(ซีดีซี)แจ้งให้สำนักงานสาธารณสุขของรัฐต่าง ๆ เตรียมแผนแจกจ่ายวัคซีนต้านโรคโควิด-19 ซึ่งอาจพร้อมผลิตออกมาได้ก่อนวันที่ 1 พ.ย. นี้ พร้อมทั้งคาดว่า วัคซีนสองชนิดที่กำลังพัฒนาโดยบริษัทเวชภัณฑ์โมเดอร์นาของสหรัฐ และบริษัทไบโอเอ็นเทคของเยอรมนี ที่ร่วมมือกับบริษัทไฟเซอร์มีความเป็นไปได้มากที่สุดที่จะสามารถนำออกมาใช้ได้ภายในเดือนดังกล่าว
วัคซีนทั้งสองชนิด ใช้เทคโนโลยีการแพทย์สมัยใหม่เข้ามาช่วยเร่งกระบวนการคิดค้นและพัฒนา เพื่อให้ทันต่อความต้องการของตลาดโลก โดยเน้นวิจัยไปที่รหัสพันธุกรรมมากกว่าตัวเชื้อไวรัส
ที่ผ่านมา การพัฒนาวัคซีนจะใช้วิธีนำไวรัสชนิดนั้นที่ตายแล้ว หรืออ่อนกำลังลงมากระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันใหม่ขึ้นมา แต่วัคซีนแบบใหม่นี้ ใช้รหัสพันธุกรรมที่เรียกว่า mRNA เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างชิ้นส่วนไวรัสชนิดนั้นขึ้นมาพร้อมกับสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาด้วย ซึ่งเชื่อว่าวิธีนี้จะไม่ทำให้เกิดอาการข้างเคียงแต่อย่างใด
ตามปกติแล้ว การผลิตวัคซีนในปริมาณหลายร้อยล้านโดส ต้องใช้ระบบการผลิตด้านชีวภาพแบบพิเศษ ซึ่งมีขนาดใหญ่พอที่จะสร้างเชื้อโรค หรือเชื้อไวรัสจำนวนมากได้ แต่การใช้วิธีสร้างรหัสพันธุกรรม mRNA ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาระบบขนาดใหญ่ขนาดนั้น ทำให้สามารถพัฒนาวัคซีนได้เร็วกว่าเดิม
นอกจากนี้ mRNA ซึ่งมีลักษณะเป็นห่วงโซ่ทางเคมีเรียงต่อกันยังสามารถนำไปปรับเปลี่ยนเพื่อสร้างวัคซีนสำหรับเชื้อโรคชนิดอื่น ๆ ได้ด้วย ซึ่งการพัฒนาวัคซีนโดยเน้นที่รหัสพันธุกรรมของมนุษย์ที่กำลังดำเนินอยู่นี้ ถือเป็นครั้งแรกของโลก แม้ว่าก่อนหน้านี้ เคยมีวัคซีนลักษณะนี้ที่นำมาใช้กับโรคในสัตว์หลายชนิดแล้ว เช่น เชื้อไวรัสเวสต์ไนล์ ที่เกิดกับม้า เชื้อเมลาโนมาที่เกิดกับสุนัข และโรคบางชนิดที่พบในปลาแซลมอน
ขณะนี้ ทั้งวัคซีนของบริษัทโมเดอร์นาและของบริษัทไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทคอยู่ในขั้นสุดท้ายของการทดลอง โดยใช้กลุ่มตัวอย่างมนุษย์ 30,000 คน เพื่อตรวจสอบประสิทธิผลและอาการข้างเคียงจากวัคซีนดังกล่าว คาดว่าผลการทดลองขั้นสุดท้าย จะออกมาในช่วงปลายปีนี้ แต่องค์การอาหารและยาสหรัฐ(เอฟดีเอ) กล่าวว่า อาจจะอนุญาตให้ใช้วัคซีนได้โดยไม่ต้องผ่านการทดลองขั้นสุดท้าย หากว่าผลการทดลองในขั้นแรก ๆ ออกมาเป็นที่น่าพอใจ
อย่างไรก็ตาม การที่ซีดีซีแจ้งให้รัฐต่าง ๆ เตรียมแจกจ่ายวัคซีนโควิด-19 ในวันที่ 1 พ.ย. สองวันก่อนที่จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ทำให้บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขเกิดความกังวลว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์อาจจะกดดันให้เอฟดีเออนุมัติวัคซีนออกมาเร็วเกินไปเพื่อหวังผลในการเลือกตั้ง
แต่"สตีเฟน ฮาห์น"ผู้อำนวยการเอฟดีเอ ปฏิเสธในประเด็นนี้ โดยบอกว่า การตัดสินใจในเรื่องนี้จะขึ้นอยู่กับผลการทดลอง รวมทั้งข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์เป็นหลัก ไม่เกี่ยวกับประเด็นทางการเมืองแต่อย่างใด ถึงอย่างนั้น ผู้เชี่ยวชาญยังเชื่อว่ามีความเป็นไปได้ยากที่จะมีวัคซีนโควิด-19 ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ เมื่อพิจารณาจากเวลาที่ต้องใช้ในการทดลองกับกลุ่มตัวอย่างจำนวนมาก รวมทั้งยังต้องมีขั้นตอนอีกหลายอย่างสำหรับรัฐต่าง ๆ ในการเตรียมตัวสำหรับโครงการแจกจ่ายวัคซีน รวมทั้งการขาดแคลนงบประมาณที่เพียงพอสำหรับการแจกจ่ายวัคซีนด้วย
ขณะเดียวกัน ผลการสำรวจความคิดเห็นคนอเมริกันครั้งล่าสุดจัดทำโดยเอพี-เอ็นโออาร์ เซนเตอร์ ฟอร์ พับลิค แอฟแฟร์ส์ รีเสิร์ช (AP-NOR Center for Public Affairs Research) พบว่ามีชาวอเมริกันแค่ครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่ยืนยันว่าจะรับวัคซีนโควิด-19 เมื่อมีการพัฒนาออกมาใช้