คำนูณ ยืนยันจุดยืนโหวตตัดอำนาจส.ว.เลือกนายกฯ
คำนูณ สิทธิสมาน ประกาศโหวตตัดอำนาจส.ว.เลือกนายกฯ มาตรา 269 ประกอบมาตรา 272 หัวใจสำคัญที่สุดที่กำหนดให้คสช.คัดเลือก 250 ส.ว. ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตยตามปกติ
นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. กล่าวถึงการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)ว่า โดยภาพรวมแล้วรัฐธรรมนูญ 2560 ในส่วนของบทถาวร มีข้อดีอยู่พอสมควร โดยเฉพาะเมื่อพิจารณามาตรา 144 ที่เป็นนวัตกรรมใหม่ไม่ให้นักการเมืองเข้ามามีส่วนใช้งบประมาณแผ่นดิน แต่สำหรับเสียงคัดค้านในบทเฉพาะกาลที่ถูกตั้งคำถามหนักในประเด็นความชอบธรรมทางการเมือง อันเป็นเสมือนส่วนยอดภูเขาน้ำแข็งของความขัดแย้งทางการเมืองในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา อย่างมาตรา 269 ประกอบมาตรา 272 อันเป็นหัวใจสำคัญที่สุด ที่กำหนดให้คสช.คัดเลือก 250 ส.ว. แล้วส.ว.ร่วมเลือกอดีตหัวหน้าคสช.เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งยอมรับว่าตรงนี้ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตยตามปกติ
"บทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญมีไว้เพื่อให้บรรลุ 2 เป้าหมาย หนึ่ง คือความสงบสุขในบ้านเมือง อย่างน้อยก็ชั่วคราว และ สอง เพื่อให้การปฏิรูปประเทศตามแผนงานเดินหน้าได้ดี ในช่วง 5 ปีแรก แต่บัดนี้ทั้ง 2 เป้าหมายไม่สามารถบรรลุผลได้ โดยเฉพาะการปฏิรูปประเทศอย่างการปฏิรูปตำรวจ ที่จำเป็นที่จะต้องกล่าวด้วยความเจ็บปวดว่ารัฐบาลชุดนี้สอบไม่ผ่าน เมื่อชั่งน้ำหนักแล้วผมขอตอบโจทย์โดยไม่ลังเล ขณะนี้ไม่มีความคุ้มค่าที่จะคงมาตรการพิเศษเฉพาะกิจและเฉพาะกาลช่วงเปลี่ยนผ่าน โดยเฉพาะที่อ้างว่าเพื่อให้การปฏิรูปประเทศเดินหน้า ไว้อีกต่อไป ทำให้ตรงเป้าที่สุดก็คือตัด มาตรา 272 อำนาจร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีของ 250 ส.ว.ออกไปจากรัฐธรรมนูญ ความคิดเบื้องต้นของผม คือควรแก้รัฐธรรมนูญรายมาตราว่ากันเป็นประเด็น ๆ ไปก่อนเลย โดยต้องรวมเอาประเด็นที่เป็นปัญหาเร่งด่วนที่สุด หรือที่ถูกมองว่าไร้ความชอบธรรมที่สุด คือมาตรา 272 ไว้ด้วย จะเหมาะสมกว่าการแก้ไขให้เกิดการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับโดยส.ส.ร."
"อย่างไรก็ตามในชั้นต้นที่ผมยังมีคำถามกับประเด็นส.ส.ร.ก็เพราะ การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่หมดทั้งฉบับโดยส.ส.ร.ในลักษณะปราศจากกรอบ นอกจากห้ามแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 เท่านั้น เสี่ยงต่อการที่จะทำให้ของดี ๆ ที่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญ 2560 มีอันต้องหายไป นอกเหนือจากหมวด 1 และหมวด 2 แล้ว ยังมีประเด็นที่ละเอียดอ่อนอีกมาก โดยเฉพาะประเด็นเหล่านี้ พระราชอำนาจในฐานะองค์พระประมุขแห่งรัฐที่อยู่นอกหมวด 2 อาทิ ในขั้นตอนการตราพระราชบัญญัติ หรือรัฐธรรมนูญ และอื่น ๆ กลไกขององค์กรอิสระต่าง ๆ ศาลปกครอง และศาลรัฐธรรมนูญ รวมทั้งกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญฉบับต่าง ๆ ที่อาจถูกแปรเปลี่ยนไปเมื่อต้องยกร่างใหม่ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยเฉพาะพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ
นอกจากนั้น ก็ยังต้องใช้เวลาอีก 15 - 19 เดือนกว่าจะสำเร็จทุกขั้นตอน แต่ครั้นคิดทบทวนดูอย่างรอบคอบแล้ว ในชั้นวาระที่ 1 นี้ จะให้ผม ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกวุฒิสภาชุดแรก 250 คนตามบทเฉพาะกาล มาคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมแบบยกร่างใหม่ทั้งฉบับ ที่เสนอจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้ง 2 ฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากพรรคร่วมรัฐบาลภายใต้การนำของท่านนายกรัฐมนตรี ได้อย่างไร ขอบอกว่าโดยตรรกะแล้วเป็นไปไม่ได้โดยสิ้นเชิง หนึ่งคือประเด็นความสงบในบ้านเมือง ดังนั้น ในวันที่ 24 ก.ย.ส่วนตัวจะลงมติให้ความเห็นชอบกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขรายประเด็นรายมาตรา โดยเฉพาะมาตรา 272ว่าด้วยการให้ส.ว.ร่วมลงมติเลือกนายกฯ ถ้ามีร่างฯเสนอเข้ามา หรือการแก้ไขเพิ่มเติมหมวดใหม่ให้มีส.ส.ร.ดำเนินการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับตามร่างฯที่เสนอเข้ามาแล้ว 2 ฉบับ