‘ฟังด้วยใจ’ ประตูทางออกที่อาจช่วยให้ 1 ชีวิตรอดจาก 'ฆ่าตัวตาย'

‘ฟังด้วยใจ’ ประตูทางออกที่อาจช่วยให้ 1 ชีวิตรอดจาก 'ฆ่าตัวตาย'

10 กันยายน "วันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก" ประเทศไทยมีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จเฉลี่ย 1 คนในทุกๆ 2 ชั่วโมง การระบายปัญหาที่เกิดขึ้นของผู้คนจึงเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้น 'การฟังด้วยใจ' อาจช่วยให้การ "ฆ่าตัวตาย" ลดลง

วันที่ 10 กันยายนของทุกปี องค์การอนามัยโลกประกาศให้เป็น    "วันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก" โดยมีการประเมินว่าประชากรกว่า 800,000 คนทั่วโลก  เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายทุกปี ซึ่งปัญหาฆ่าตัวตายเป็นสาเหตุหนึ่งที่สำคัญที่นำผู้คนไปสู่การเสียชีวิตก่อนวันอันควร และในแต่ละครั้งที่มีการฆ่าตัวตายสำเร็จ (completed suicide) จะมีความพยายามฆ่าตัวตาย (attempted suicide) มากกว่า 20 ครั้ง

159967660574

ส่วนในประเทศไทยนั้น มีสถิติจากกรมสุขภาพจิต พบว่าคนไทยมีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จเฉลี่ย 1 คน ในทุกๆ 2 ชั่วโมงและมีผู้ได้รับผลกระทบจากการสูญเสียถึง 5 เท่า หรือกว่า 20,000 คนต่อปี ซึ่งการฆ่าตัวตายมักมีหลายสาเหตุมาเกี่ยวข้อง อาทิเช่น ปัญหาทางด้านชีววิทยาสังคม และ เศรษฐกิจ (Psycho-sociological and economic factors) ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ 

แต่ทั้งนี้ ปัญหาฆ่าตัวตายนั้นสามารถป้องกันได้ ถ้ามีความตระหนักและเหยื่อผู้รอดชีวิตได้รับการช่วยเหลือทันท่วงที กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ พาไปรู้จักการ ‘ฟังด้วยใจ หนึ่งในวิธีการที่อาจจะช่วยลดการสูญเสีย รวมทั้งช่วยลดอัตราการ   "ฆ่าตัวตาย"  ในสังคมไทยได้ไม่มากก็น้อย 

159967659495

  • การรับฟัง อาจจะเป็นทางออก

กรมสุขภาพจิตสำรวจแล้วว่า การฆ่าตัวตายมักมีหลายสาเหตุมาเกี่ยวข้องประกอบกัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาชีวิต ปัญหาความรัก ปัญหาสังคม ปัญหาครอบครัว ปัญหาเศรฐษกิจ และปัญหาต่างๆ ผู้คนในสังคมจึงเก็บสะสมเอาความทุกข์ ความเจ็บปวดของตัวเองเอาไว้ เมื่อนานวันเข้าก็กลายเป็นหลุมดำที่ดูดกลืนพวกเขาเหล่านั้นให้ตัดสินใจที่จบชีวิตลง ดังนั้นคีย์เวิร์ดสำคัญที่ทำให้ลูกโป่งแห่งความรู้สึกไม่ระเบิด ก็คือ   "การระบายออก"

159967661772

เรามักจะเห็นว่ากระบวนการสำคัญของจิตแพทย์ ไม่ใช่แค่การตรวจร่างกาย หรือการจ่ายยา แต่คือการนั่งคุยกับคนไข้ เพื่อให้พวกเขาได้ระบายสิ่งที่ใดสิ่งหนึ่งออกมา แต่ถึงอย่างนั้นบุคคลที่ฆ่าตัวตาย ส่วนใหญ่มักจะฆ่าตัวตายสำเร็จก่อนที่จะปรึกษาจิตแพทย์เสียด้วยซ้ำ

นอกจากนี้ การเข้าไปคุยกับจิตแพทย์ยังมีวาทกรรมเส้นบางๆ ที่ส่งผลให้คนไทยส่วนหนึ่งไม่กล้าเข้าไปพบหรือรักษาหากตนเองเจอปัญหา เพราะกลัวจะถูกกล่าวหาว่าเป็นบ้าเช่นกัน 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

หนทางจากคนที่เจอปัญหาสู่การรักษา หรือคุยจิตแพทย์อย่างถูกวิธี ดูจะเป็นเส้นทางที่ขรุขระสำหรับบางคน แต่ถ้าเราสามารถระบายให้กับคนใกล้ตัว คนที่พร้อมรับฟังได้ละจะเป็นอย่างไร? กระบวนที่เกิดขึ้นจึงเรียกว่า การฟังด้วยใจ 

กระทรวงสาธารณสุขพยายามโปรโมทโครงการการฟังด้วยใจตั้งแต่ปี 2561 โดยโครงการมีการรณรงค์ให้คนในสังคมเป็นผู้ฟังที่ดีให้มากขึ้น โดยเริ่มต้นจากการรับฟังคนใกล้ชิด คนในครอบครัว หรือคนรอบข้างทั้งในสถานที่ทำงานหรือสถานศึกษา ให้ได้ระบายความทุกข์ใจ ความเศร้าใจ ซึ่งจะทำให้คลายเครียด มีกำลังใจ และมีความสบายใจมากขึ้น เป้าหมายเพื่อลดการสูญเสีย รวมทั้งลดอัตราการฆ่าตัวตายในสังคมไทย โดยจิตอาสาผู้ฟังที่ดีจากโครงการนี้ จะกระจายตัวไปตามที่ต่างๆ ของสังคม

รวมถึงยังมีหน่วยงานอื่นๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับภาครัฐ อย่างสมาคมสะมาริตันส์ที่ให้บริการเป็นเพื่อนพูดคุยทางโทรศัพท์ โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อป้องกันการฆ่าตัวตายเฉพาะด้วยเช่นกัน นั่นคือการตอกย้ำว่า การฟังนั้นสำคัญ และส่งผลถึงอัตราการฆ่าตัวตายได้อย่างมีนัย

159967662837

  • ฟังด้วยใจ ฟังอย่างไร 

แต่ถึงอย่างนั้น หากคิดว่าแค่การนั่งฟังเพียงอย่างเดียว คงจะเพียงพอให้ผู้คนระบาย นั่นอาจจะเป็นแค่การรับฟังในขั้นต้นเท่านั้น กรมสุขภาพจิต ให้คำแนะนำประชาชนสำหรับการเป็นผู้รับฟังที่ดีนั้น ประกอบด้วยเทคนิคการฟังง่ายๆ 3 ประการ คือ

1. การฟังด้วยหู คือ การรับฟังเรื่องราว เนื้อหา สาเหตุ 

2. การฟังด้วยตา คือ การฟังสีหน้า ท่าที กิริยา 

3. การฟังด้วยใจ คือ การรับฟังอารมณ์ความรู้สึก ความต้องการลึกๆ ในใจ

นอกจากนี้ คุณสมบัติของการเป็นผู้ฟังที่ดี ได้แก่ ใจที่พร้อมเปิดรับฟัง การจับประเด็นและสรุปใจความสำคัญได้ การจับความรู้สึกของผู้พูดและสะท้อนความรู้สึกได้ การยอมรับอย่างไม่มีอคติ ไม่ตัดสิน ไม่พูดแทรก ไม่แสดงความคิดเห็น ไม่แนะนำสั่งสอน หรือเล่าเรื่องตัวเองแทน และหลังจากจบการรับฟังแล้ว ผู้ฟังจะไม่เก็บความทุกข์ของผู้อื่นไว้กับตัวเอง สามารถผ่อนคลายได้

สำหรับกระบวนการในการรับฟังนั้น จะมีการสบตา สีหน้าอารมณ์สงบ สร้างความเชื่อมั่น ทักทาย ถามไถ่ เปิดโอกาสให้เล่าอย่างอิสระ สะท้อน ความรู้สึก เช่น เศร้า เสียใจ ทุกข์ใจ กังวลใจ โกรธ โดยเรื่องที่เล่าจะเก็บเป็นความลับ ยกเว้นเรื่องที่อันตรายถึงชีวิต จะขออนุญาตแจ้งผู้เกี่ยวข้องหรือส่งต่อผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งอาจมีการตกลงกันในการพูดคุย

กล่าวโดนสรุปได้ว่าการ "ฟังด้วยใจ" ไม่ใช่เรื่องยาก รวมถึงอาจจะสามารถช่วยเยียวยาปัญหาของใครคนใดคนหนึ่งไม่มากก็น้อย สุดท้ายเราฟังเสียงคนอื่นด้วยใจมากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งจะได้ยินเสียงของหัวใจตัวเราเองชัดขึ้นเท่านั้น