'ปิยบุตร' ยัน 'รัฐธรรมนูญ 2560' แก้ได้ทุกหมวดทุกมาตรา
"ปิยบุตร" ยัน "รัฐธรรมนูญ 2560" แก้ได้ทุกหมวดทุกมาตรา ย้ำอย่าสร้างความเข้าใจผิดจนอาจกลายเป็นวิกฤตการณ์รัฐธรรมนูญในอนาคต
เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 63 ปิยบุตร แสงกนกกุล ในฐานะกรรมาธิการ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 สัดส่วนพรรคพรรคก้าวไกล อภิปรายตอบคำถามสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ต่อกรณีที่ผลการศึกษาของ กมธ. ที่รายงานต่อสภาไม่มีการพูดถึงการศึกษาหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 เรื่องพระมหากษัตริย์ แต่อย่างใด
ปิยบุตร ระบุว่าในเรื่องนี้ตนมีความเห็นต่าง ข้อจำกัดในการแก้ไข "รัฐธรรมนูญ 2560" ที่เขียนไว้ในมาตรา 255 คือห้ามเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐและห้ามเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ถ้อยความนี้หมายความว่า สามารถแก้ได้ทุกหมวดทุกมาตรา แต่ห้ามแก้จนเปลี่ยนให้ประเทศไทยเป็นสหพันธรัฐ เปลี่ยนเป็นเผด็จการ หรือเปลี่ยนให้มีประธานาธิบดีเป็นประมุขเป็นอันขาด และในอดีตที่ผ่านมาทั้งหมวด 1 และหมวด 2 มีความเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นพลวัตรต่อเนื่องตามยุค แม้กระทั่งรัฐธรรมนูญปี 50 ก็มีการเพิ่มหลักเรื่องนิติธรรมลงไปในหมวด 1 หรือในปี 60 ก็มีการเพิ่มเรื่องการใช้อำนาจนั้นต้องคำนึงถึงเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน
“ในหมวด 2 พระมหากษัตริย์ก็มีการเปลี่ยนแปลงอย่างนัยยะสำคัญเช่นเดียวกัน ปี 2492 เพิ่มให้มีองคมนตรีอยู่ในรัฐธรรมนูญและยังอยู่มาจนถึงปัจจุบันนี้ปี 2534 มีการเปลี่ยนว่าการเข้าสู่ประมุขของรัฐหรือการเข้าสู่ตำแหน่งของพระมหากษัตริย์ จากเดิมให้รัฐสภาลงมติให้ความเห็นชอบได้เปลี่ยนเป็นการรับทราบเฉยๆ ซึ่งเราเห็นในข้อเท็จจริงได้ตอนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศรัชกาลที่ 9 ขึ้นครองราชย์ในเวลานั้น รัฐสภาเป็นผู้ลงมติให้ความเห็นชอบ แต่ครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ปัจจุบัน ในวันนั้นรัฐสภาทำหน้าที่เพียงรับทราบเท่านั้น นั่นคือความเปลี่ยนแปลงในหมวด 2”
ปิยบุตร ยังกล่าวต่อไปว่า ในหมวด 2 ยังมีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญใน "รัฐธรรมนูญ 2560" ที่เปลี่ยนแปลงว่าในกรณีพระมหากษัตริย์ไม่ทรงประทับอยู่ในราชอาณาจักรอาจจะตั้งผู้สำเร็จราชการแทนหรือไม่ก็ได้ จึงเห็นว่าอาจมีหลายเรื่องในหมวด 1 และ 2 ที่จำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไข ดังนั้นอย่าสร้างความคิด ความเชื่อ ความเข้าใจผิดๆ ว่าสองหมวดนี้แตะต้องไม่ได้
“คำว่าแตะต้องไม่ได้ คำว่าเปิดทางให้มีการแก้ คำว่าจะแก้หรือไม่แก้ เป็นคนละประเด็นกันหมดเลย การเขียนว่าทบทวนแก้ไขได้เสมอ ไม่ได้หมายความว่าอยากแก้ แต่ถ้าจำเป็นต้องแก้ก็ต้องแก้ ถ้าบอกว่าหมวด 1 และ 2 แตะต้องอะไรไม่ได้เลย แล้ววันหนึ่งหากมีความจำเป็นต้องแก้จริงๆ จะเกิดสภาวะ Deadlock เกิดวิกฤตการณ์ในทางรัฐธรรมนูญ ดังนั้นอย่าอธิบายหรือพยายามทำความเข้าใจผิดจนเกินตัวบทรัฐธรรมนูญซึ่งยืนยันชัดเจนว่า หมวด 1 และ 2 แก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ นอกจากนี้ สมาชิกสภา วุฒิสภา หรือประชาชนก็ควรสามารถพูดคุยถกเถียงกันเรื่องนี้ได้" ปิยบุตร อภิปราย
ในช่วงท้าย ปิยบุตร กล่าวว่า สำหรับหมวด 1 หากมีการทำรัฐธรรมนูญกันใหม่ หรือหากจะแก้ไขเพิ่มเติมในฉบับนี้ ก็สามารถแก้ไขเพิ่มเติมหลักการพื้นฐานสำคัญของประเทศลงไปอีกก็ได้ ในทางทฤษฎีเราเรียกว่าบทบัญญัตินิรันดร หรืออาจเรียกว่าอัตลักษณ์ทางรัฐธรรมนูญ หมายความว่าใครจะมาเปลี่ยนแปลงแตะต้องไม่ได้ ซึ่งประเทศไทยควรสถาปนาหลักการพื้นฐานลงไป เพื่อยืนยันว่าไม่ว่าจะมีการยึดอำนาจ มีการเลือกตั้ง มีการเปลี่ยนรัฐธรรมนูญกี่ฉบับก็ตาม แต่ประเทศไทยจะต้องเป็นแบบนี้ตลอดกาล นั่นคือหลักการเรื่องของรูปของรัฐคือความเป็นรัฐเดี่ยว เป็นราชอาณาจักร มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข สืบทอดทางสายโลหิต เรื่องของระบอบประชาธิปไตย หลักการนิติรัฐ หลักการเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หลักการแบ่งแยกอำนาจ หลักการสถาปนารัฐบาลพลเรือนจากการเลือกตั้งอยู่เหนือกองทัพ รวมไปถึงหลักการกระจายอำนาจ เพื่อให้หลักการเหล่านี้เป็นกระดูกสันหลังของประเทศไทย และไม่น่าแปลกอะไรหากจะบรรจุหลักเหล่านี้ลงไปในหมวด 1
“เช่นเดียวกัน ในหมวดที่ 2 หากพิจารณาแล้วว่าต้องแก้ไขเพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นประชาธิปไตย เป็นคุณต่อบ้านเมือง ธำรงค์ไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยอันเป็นประมุขได้ ก็จำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุง ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้กรอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัติรย์ทรงเป็นประมุขอยู่แล้ว ขอยกตัวอย่างเรื่องหนึ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง คือพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขของรัฐ สืบทอดทางสายโลหิต เป็นสัญลักษณ์ศูนย์รวมจิตใจของราชอาณาจักรไทย พูดง่ายๆ เวลาเราพูดว่ารัฐเป็นนิติบุคคล เราไม่เห็นหน้าตาว่าเป็นอย่างไร ดังนั้นมนุษย์จึงต้องสร้างตำแหน่งประมุขแห่งรัฐขึ้นมาเพื่อบอกว่า ถ้าพูดถึงรัฐนี้ต้องคิดถึงคนๆ นี้ นี่คือที่มาของประมุขแห่งรัฐ ตำแหน่งนี้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร เขาจึงต้องเขียนในรัฐธรรมนูญว่าต้องแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพราะประเทศไม่สามารถขาดประมุขของรัฐได้ เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่้ต้องนำมาพิจารณาเหมือนกันว่า ท้ายที่สุดแล้ว "รัฐธรรมนูญ 2560" หมวด 2 ต้องแก้ไขเรื่องนี้หรือไม่อย่างไร"