'สศช.-คมนาคม' ลุยแลนด์บริดจ์ภาคใต้เล็งเปิด PPP แสนล้าน
สศช.-คมนาคม รับลูกนายกฯ ศึกษาเมกะโปรเจค แลนด์บริดจ์-คลองไทย คาดใช้เวลาศึกษา 1 ปี “ศักดิ์สยาม” เล็งเปิดพีพีพี 1 แสนล้านบาท ดึงเอกชนลงทุน 3 โครงการย่อย ท่าเรือ รถไฟทางคู่ มอเตอร์เวย์เชื่อมทะเล 2 ฝั่ง ระนอง-ชุมพร
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาโครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้ (แลนด์บริดจ์) และคลองไทย ซึ่งนายกรัฐมนตรีต้องการผลักดันโครงการขนาดใหญ่เป็นจุดขายดึงการลงทุนต่อยอดจากเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวะนออก (อีอีซี) ที่ดำเนินการมา 5 ปี แล้ว
นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า โครงการนี้อยู่ในแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ และโครงการการพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (เอสอีซี) เพื่อเพิ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยอาศัยศักยภาพของพื้นที่ภาคใต้ในอนาคต รวมทั้งสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีด้วย
โครงการแลนด์บริดจ์ที่รัฐบาลจะพัฒนา คือ โครงการเชื่อมการขนส่งจากฝั่งอันดามันมาฟังอ่าวไทย โดยใช้การขนส่งทางรางบริเวณ จ.ชุมพร และ จ.ระนอง เป็นโครงการรถไฟทางคู่เพื่อเชื่อมการขนส่งทั้ง 2 ฝั่งทะเล
นายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการ สศช.กล่าวว่า สศช.จะลงพื้นที่ศึกษาและรับฟังความเห็นประชาชนในภาคใต้เกี่ยวกับการพัฒนาโครงการใหญ่ 2 โครงการ คือ
1.โครงการแลนด์บริดจ์
2.โครงการคลองไทย ซึ่งเป็นข้อเสนอจากพื้นที่ผ่านสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งได้รับงบประมาณในปี 2564 เพื่อศึกษาและทั้ง 2 โครงการมีขนาดใหญ่ต้องใช้เวลาศึกษา 1 ปี
นายดนุชา กล่าวว่า โครงการแลนด์บริดจ์ตามแผนใหม่จะอยู่บริเวณ จ.ชุมพร-จ.ระนอง ซึ่งเน้นการขนส่งและโลจิสติกส์มากกว่าอุตสาหกรรม ซึ่งจะอาศัยโครงสร้างพื้นฐานที่มีในพื้นที่ คือ ท่าเรือ จ.ระนอง และสร้างท่าเรือใหม่ที่ จ.ชุมพร แล้วเชื่อมท่าเรือทั้ง 2 แห่งด้วยรถไฟทางคู่
ทั้งนี้ เส้นทางรถไฟทางคู่เส้นทางนี้กระทรวงคมนาคมเคยศึกษาแล้ว มีระยะทาง 108 กิโลเมตร มูลค่าโครงการ 45,844 ล้านบาท โดยเริ่มต้นจากสถานีรถไฟชุมพรมุ่งด้านทิศตะวันตกและไปสิ้นสุดโครงการบริเวณท่าเรือนํ้าลึกระนอง และมี 9 สถานี ได้แก่ ขุนกระทิง บ้านนา วังใหม่ ปากจั่น กระบุรี บางใหญ่ ละอุ่น สถานีท่าเรือนํ้าลึกระนอง และสถานีระนอง
ส่วนท่าเรือระนองปัจจุบันจะพัฒนาเป็นท่าเรือเชิงพาณิชย์ได้ แต่ข้อจำกัด คือ พื้นที่หลังท่าไม่กว้างนัก ส่วนร่องน้ำกรณีรองรับเรือสินค้าขนาดใหญ่อาจต้องขุดร่องน้ำใหม่หรือมีรูปแบบอื่นในการรับสินค้าจากเรือเข้ามาที่ท่าเรือ
ขณะเดียวกันก็พยายามดูแผนเรื่องของการพัฒนาท่าเรือเพื่อรองรับการท่องเที่ยวด้วย เช่น ให้มีที่จอดท่องเที่ยวได้ช่วยสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวควบคู่กันไปด้วย ซึ่งในระยะต่อไปหากมีการพัฒนาโครงการถนนเรียบชายฝั่งทะเลหรือโครงการไทยแลนด์ริเวร่าก็จะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่มากขึ้นได้
ยืนยันฟังความเห็นคนพื้นที่
นายดนุชา กล่าวว่า โครงการแลนด์บริดจ์จะเกิดหรือไม่ต้องพิจารณาต้นทุนการขนส่งเป็นสำคัญ เพราะหากมีท่าเรือรองรับ 2 ฝั่ง จะทำให้การขนส่งสินค้าจากฝั่งตะวันตกไม่ต้องอ้อมช่องแคบมะละกา ซึ่งจะประหยัดเวลา 3 วัน และเรือที่จะผ่านต้องดูว่าต้นทุนแบบไหนประหยัดกว่า ส่วนโครงการที่พัฒนาจะมีอุตสาหกรรมด้วยหรือไม่ต้องรับฟังความเห็นคนในพื้นที่เป็นหลัก โดยโครงการที่ สศช.เสนอในแผนเอสอีซีไม่ได้เน้นอุตสาหกรรมแบบอีอีซีแต่เน้นในเรื่องของโลจิสติกส์การขนส่งสินค้าเป็นสำคัญ
“โครงการแลนด์บริดจ์มีการศึกษามาหลายครั้ง ครั้งล่าสุดที่มีการศึกษาที่ท่าเรือปากบารา แต่คนในพื้นที่เขาไม่เอาเพราะกลัวว่าจะกระทบกับการท่องเที่ยวก็ต้องฟังเสียงของคนในพื้นที่ แต่แลนด์บริดจ์ในแผนใหม่เป็นแลนด์บริดจ์ที่อยู่ภาคใต้ตอนบน และเน้นในเรื่องโลจิสติกส์ ไม่ได้เน้นในเรื่องของอุตสาหกรรมแบบอีอีซี”นายดนุชา กล่าว
คาดเลือกลงทุน1โปรเจค
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล กล่าวว่า ทั้ง 2 โครงการเป็นโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งในที่สุดรัฐบาลจะต้องเลือกลงทุนโครงการใดโครงการหนึ่ง เพราะใช้งบประมาณมากจึงลงทุนพร้อมกันทั้ง 2 โครงการไม่ได้ รวมทั้ง 2 โครงการดังกล่าวมีจุดขายที่การลดเวลาขนส่งสินค้าจากมหาสมุทรอินเดียในฝั่งทะเลอันดามันมาอ่าวไทย ดังนั้นหากผลการศึกษาออกมาว่าโครงการใดเหมาะสมกว่ารัฐบาลจะเลือกลงทุนโครงการนั้น
ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ สั่งการให้ สศช.ศึกษาโครงการคลองไทยตั้งแต่ปลายปี 2562 แต่ถูกตัดงบประมาณส่วนนี้ในปี 2563 วงเงิน 10 ล้านบาท โดย สศช.ได้รับงบประมาณส่วนนี้ในปี 2564 ซึ่งถือว่ามีความจำเป็นในการเร่งศึกษาเพราะปัจจุบันเศรษฐกิจในภาคใต้ได้รับผลกระทบมากในช่วงโควิด-19 ที่ทำให้การท่องเที่ยวได้รับผลกระทบมาก ดังนั้นหากมีโครงการใหม่เกิดขึ้นก็จะเป็นความหวังทางเศรษฐกิจภาคใต้ในอนาคต
แหล่งข่าว กล่าวว่า เส้นทางโครงการคลองไทยที่ สศช.มีแผนลงไปศึกษาความเป็นไปได้ คือ บริเวณแนวเส้นทาง 9A ระยะทาง 135 กิโลเมตรผ่านพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ 1.ตรัง ในพื้นที่ อ.สิเกา อ.วิงวิเศษ อ.ห้วยยอด อ.รัษฎา 2.นครศรีธรรมราช พื้นที่ อ.ทุ่งสง อ.หัวไทร และ 3.สงขลา ในพื้นที่ อ.ระโนด
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ มีข้อสั่งการให้ศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์เพื่อพัฒนาโครงข่ายโลจิสติกส์และพัฒนาเมืองในภาคใต้ ซึ่งกระทรวงคมนาคมมอบให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เร่งศึกษารายละเอียดโครงการด้านคมนาคมให้เสร็จใน 1 ปี หรือภายในปี 2564
ทั้งนี้ เบื้องต้นการเชื่อมทะเลภาคตะวันตกและภาคตะวันออก ประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่
1.โครงการท่าเรือน้ำลึก จะพัฒนา 2 จังหวัด คือ ท่าเรือน้ำลึกชุมพร และท่าเรือน้ำลึกระนอง เพื่อรองรับการขนส่งทางเรือจากฝั่งอันดามันและอ่าวไทย 2.โครงการรถไฟทางคู่ สายชุมพร–ระนอง ใช้เป็นโครงข่ายสนับสนุนการขนส่งเชื่อมต่อระหว่าง 2 ท่าเรือ
3.ทางหลวงพิเศษ (มอเตอร์เวย์) เพื่อเป็นทางเลือกด้านโลจิสติกส์
“สิ่งที่จะศึกษาควบคู่ คือ รูปแบบการลงทุนที่อยากให้เป็นพีพีพี คือ ให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุน เพื่อให้เข้าขั้นตอนประมูลได้เลย ไม่ล่าช้า อีกทั้งจะศึกษา พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก เหมือนโครงการในอีอีซีด้วยว่าจะทำได้หรือไม่ เพราะหากเข้า พ.ร.บ.ดังกล่าวได้จะประหยัดเวลาประมูลไปได้อีกมาก”นายศักดิ์สยาม กล่าว
ทั้งนี้ ไม่ต้องการให้โครงการโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมในแลนด์บริดจ์ แยกการประมูลออกเป็นส่วน เหมือนโครงการในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพราะหากแยกการประมูลทำให้แต่ละโครงการต้องรอเดินไปพร้อมกัน ดังนั้นกระทรวงคมนาคมจึงมีแนวคิดประมูลงานโครงสร้างพื้นฐาน 3 ส่วนให้เป็นแพ็คเกจเดียว
สำหรับมูลค่าโครงสร้างพื้นฐานในแลนด์บริดจ์ประเมินว่าหากรวมเป็นแพ็คเกจเดียวกันจะใกล้เคียงกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม หรือราว 1 แสนล้านบาท ดังนั้นถือว่าเป็นมูลค่าไม่สูงมากหากจะประมูลพร้อมกัน อีกทั้งอยากให้มองโอกาสที่จะเกิดขึ้นจากการเร่งพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์ เช่น โลจิสติกส์แล้ว การพัฒนาเมือง และพัฒนาเศรษฐกิจในภาคใต้
“ต้องให้เวลา สนข.ศึกษา 1 ปี จะทราบว่าโครงการจะมีลักษณะใด ส่วนที่เคยศึกษาท่าเรือไว้ เช่น ท่าเรือปากบารา โครงการนี้ก็คงไม่ใช่พัฒนาท่าเรือปากบารา แต่จะหาท่าเรือในชุมพร และระนอง รวมถึงมอเตอร์เวย์และรถไฟทางคู่ โดยขณะนี้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในพื้นที่เห็นด้วยหมดว่าแลนด์บริดจ์ช่วยพัฒนาเมือง”