'กรมบัญชีกลาง' มีหน้าที่อะไร แล้วเกี่ยวกับ 'เงินผู้สูงอายุ' และ 'เบี้ยความพิการ' อย่างไร
เจาะบทบาทหน้าที่ที่แท้จริงของ "กรมบัญชีกลาง" หลังทัวร์ลงหนัก เพราะ "เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ" และ "เบี้ยความพิการ" เดือน ก.ย. 63 เข้าไม่ตรงตามกำหนด
กลายเป็นประเด็นที่อยู่ในกระแสความสนใจของสังคม เมื่อ "เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ" และ "เบี้ยความพิการ" เดือน ก.ย.63 ไม่เข้าบัญชีของผู้ที่มีสิทธิ์ตามวันที่กำหนด ทำให้ประชาชนไม่ได้รับเงิน ซึ่งทำให้เฟซบุ๊คของ "กรมบัญชีกลาง" ถูกถล่มด้วยคอมเมนต์ เพราะประชาชนส่วนใหญ่เข้าใจว่า ความผิดพลาดครั้งนี้อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของกรมบัญชีกลางที่โอนเงินล่าช้า แถมบานปลายไปไกลถึงประเด็น "รัฐบาลถังแตก" เลยทีเดียว
โดยภายหลังจากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว กรมบัญชีกลาง ได้ออกมาโพสต์อธิบายเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า "กรมบัญชีกลางได้ตรวจสอบข้อมูลการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยความพิการ ประจำเดือนกันยายน 2563 เรียบร้อยแล้ว แต่เนื่องจาก กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) มีงบประมาณไม่เพียงพอ จึงต้องขอจัดสรรเพิ่ม เมื่อ สถ.ได้รับงบประมาณพร้อมแล้ว กรมบัญชีกลาง พร้อมโอนเงินให้ผู้มีสิทธิโดยเร็ว ภายในเดือน กันยายน 2563"
นั่นหมายความว่าการโอนเงินผู้สูงอายุและเบี้ยความพิการ ไม่ได้มีแค่กรมบัญชีกลางที่มีส่วนเกี่ยวข้องเท่านั้น แต่ยังมี กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ที่มีหน้าที่ในการจัดสรรงบประมาณ เกี่ยวข้องด้วย
จากประเด็นดังกล่าว "กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" จึงพาไปไขข้อสงสัย ถึงบทบาทหน้าที่ที่แท้จริงของกรมบัญชีกลาง ตามกฎกระทรวงการคลัง พ.ศ. 2562 ที่กำหนดให้กรมบัญชีกลาง มีภารกิจเกี่ยวกับการควบคุมดูแลการใช้จ่ายเงินของแผ่นดินและหน่วยงานภาครัฐ ให้เป็นไปโดยถูกต้อง มีวินัย คุ้มค่า โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ ซึ่งหากจะเปรียบเทียบง่ายๆ ก็คือเป็นกระเป๋าสตางค์ของประเทศ โดยมีรายละเอียดหน้าที่ 16 ข้อ ดังต่อไปนี้
1. ให้คำปรึกษาหรือข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการพัฒนาระบบริหารการคลังของประเทศในด้านการบริหารเงินคงคลัง ต่อกระทรวงการคลัง และคณะรัฐมนตรี
2. ดำเนินการเกี่ยวกับกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง และหลักเกณฑ์ด้านการเงิน การคลัง การบัญชี การพัสดุภาครัฐและการตรวจสอบภายใน เพื่อให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐถือปฏิบัติ
3. กำหนดนโยบายและมาตรฐานการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ
4. กำหนดนโยบายและมาตรฐาน การกำกับดูแล และการพัฒนาเกี่ยวกับการตรวจสอบภายในภาครัฐ
5. ประเมินผลการคลังภาครัฐในความรับผิดชอบของกรม รวมทั้งติดตามการดำเนินงานและการบริหารด้านการคลัง เพื่อประกอบการพิจารณาเสนอแนะนโยบายด้านการคลังของประเทศ
6. ควบคุม ดูแล และตรวจสอบการเบิกจ่ายเงินของหน่วยงานภาครัฐ การก่อหนี้ผูกพัน การนำเงินส่งคลัง และการถอนคืนเงินรายได้แผ่นดิน รวมทั้งพิจารณาทำความตกลงในการเบิกจ่ายเงินงบประมาณตามที่ส่วนราชการขอทำความตกลง
7. ดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารเงินคงคลัง
8. พัฒนาระบบบริหารเงินนอกงบประมาณในด้านกำกับดูแล การติดตามประเมินผล การใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณ การทบทวนประสิทธิภาพและความจำเป็นในการดำเนินงานของเงินนอกงบประมาณอย่างเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งการพัฒนากฎระเบียบที่เกี่ยวข้องในการกำกับและบริหารเงินนอกงบประมาณของหน่วยงานภาครัฐ
9. กำหนด ปรับปรุง และพัฒนามาตรฐานค่าตอบแทน สวัสดิการ และสิทธิประโยชน์ของบุคลากรภาครัฐ
10. พัฒนาระบบการบริหารการเงินการคลังภาครัฐแบบอิเล็กทรอนิกส์ และกำกับดูแลการบริหารการเงินการคลังภาครัฐแบบอิเล็กทรอนิกส์
11. กำหนดมาตรฐานการบัญชีภาครัฐ ระบบบัญชี ตลอดจนการจัดทำและวิเคราะห์รายงานการเงินของแผ่นดิน
12. ดำเนินการเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ และความรับผิดทางแพ่งของเจ้าหน้าที่ของส่วนราชการ
13. ดำเนินการเกี่ยวกับการพัฒนาระบบการบริหารบุคคลลูกจ้างของส่วนราชการ
14. ดำเนินการเกี่ยวกับการพัฒนาบุคลากรด้านการเงินการคลัง การบัญชี การตรวจสอบภายใน และการพัสดุภาครัฐ
15. ให้คำปรึกษา เสนอแนะ และให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการและการปฏิบัติงานทางการเงินการคลัง การบัญชี การพัสดุภาครัฐ การตรวจสอบภายใน แก่ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ
16. ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นหน้าที่และอำนาจของกรมหรือตามที่รัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย
จากรายละเอียดของหน้าที่กรมบัญชีกลางข้างต้น โดยเฉพาะข้อที่ 6. เกี่ยวกับการควบคุม ดูแล และตรวจสอบการเบิกจ่ายเงินของหน่วยงานภาครัฐ สะท้อนว่ากรมบัญชีกลางมีหน้าที่เป็นตัวกลางในการเบิกจ่าย ไม่ใช่หน่วยงานที่อนุมัติงบประมาณ
ขณะเดียวกันในกรณีนี้ มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดสรรงบประมาณเกี่ยวกับเงินผู้สูงอายุและเบี้ยความพิการคือ "กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.)" ซึ่งมีหน้าบทบาทหน้าที่ในการส่งเสริมสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แนะนำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในด้านการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่น การบริหารงานบุคคล การเงินการคลัง และการบริหารจัดการ เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีความเข้มแข็ง และมีศักยภาพในการให้บริการสาธารณะ
โดย กองพัฒนาและส่งเสริมการบริหารงานท้องถิ่น มีอํานาจหน้าที่ตามกฎกระทรวง แบ่งส่วนราชการกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นกระทรวงมหาดไทย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559 คือการประสาน รวบรวม วิเคราะห์ และดําเนินการเกี่ยวกับการจัดทํางบประมาณเงินอุดหนุน ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อประกอบการจัดทําคําของบประมาณรายจ่ายประจําปีของกรม และปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย
อย่างไรก็ตาม วิลาวรรณ พยาน้อย รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง ในฐานะโฆษกกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า กรมบัญชีกลางห่วงใยและเข้าใจในความจำเป็นของผู้มีสิทธิทุกท่าน เมื่อ สถ.ได้รับงบประมาณเรียบร้อยแล้วกรมบัญชีกลางจะดำเนินการจ่ายให้ผู้มีสิทธิอย่างเร่งด่วนต่อไป (ภายในเดือน กันยายน 2563) ทั้งนี้ ขอให้ติดตามข่าวจาก facebook กรมบัญชีกลาง อย่างใกล้ชิด หรือ สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Call Center กรมบัญชีกลาง 02 270 6400 ในวัน เวลาทำการ”
ที่มา: กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นกระทรวงมหาดไทย (ฉบับที่ 2) เว็บไซต์กรมบัญชีกลาง เฟซบุ๊คกรมบัญชีกลาง