'เพื่อไทย' ดักคอ ห้ามใช้ 'งบกลาง' จ่ายค่าปรับคดี 'เหมืองทองอัครา'
"ประชาชาติ-ก้าวไกล" รุมท้วง "งบกลาง" บางรายการ ไม่มีหน่วยรับงบ เหมือนตีเช็คเปล่าให้นายกฯ ด้าน "เพื่อไทย" ดักคอ ห้ามใช้งบกลางจ่ายค่าปรับคดี "เหมืองทองอัครา"
เมื่อวันที่ 16 ก.ย.63 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ ในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างน้อย สงวนคำแปรญัตติลด "งบกลาง" 1% เนื่องจากรายจ่ายประจำในปีนี้เพิ่มมาอีกแสนล้านบาท ซึ่งสำนักงบประมาณฯ ชี้แจงว่า ประกอบด้วยเบี้ยผู้สูงอายุ ผู้พิการและเด็ก อีก 50,000 ล้านบาท คือเบี้ยหวัดบำนาญ และอีก 40,000 ล้านบาท คืองบเกี่ยวกับโควิด-19 ซึ่งที่บอกไว้ว่าจะลดรายจ่ายประจำกลับมาเพิ่มรายจ่ายประจำอีกแสนล้าน การโอนงบกลางก่อนหน้านี้ 88,000 ล้านบาท เหมือนเป็นการไปพรากเงินมาจากเด็ก คนชรา ฯลฯ ซึ่งตอนนี้ก็ยังอยู่ และยังมีงบฉุกเฉินอีก 99,000 ล้านบาท ถือเป็นเงินจำนวนมาก
แต่รายการขอใช้ "งบกลาง" บางรายการไม่มีหน่วยรับงบประมาณ ซึ่งตนคิดว่าการใช้งบกลางต้องมีแผนและใช้ในเวลาฉุกเฉิน และรายจ่ายที่ไม่มีหน่วยรับงบประมาณกลับเป็นค่าใช้จ่ายด้านการบริหารจัดการภาครัฐที่สูงถึง 9,752 ล้านบาท ซึ่งตรวจสอบไม่ได้ แม้ขณะที่กรรมาธิการขอรายละเอียดไปนานแล้วแต่ปีนี้ก็ยังไม่ส่งให้
ด้านนายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายขอตัด "งบกลาง" 5% เนื่องจากหลายรายการไม่ปรากฎหน่วยรับงบประมาณ บางรายการกำหนดวัตถุประสงค์ไว้แล้ว แต่กำหนดเป้าหมายในการใช้จ่ายไม่ได้ และมีหลายแผนงานที่มีเกณฑ์การใช้จ่ายแตกต่างกันไป เหมือนเป็นการตีเช็คเปล่าให้นายกรัฐมนตรีว่าจะวางงบประมาณไปที่ตรงจุดไหนหรือส่วนใด อาจเกิดจุดประสงค์ซ่อนเร่นพูดคุยกันข้างหลังได้
ขณะเดียวกันไม่มีการตรวจเช็คความเหมาะสมของการใช้งบประมาณ และย้อนไปเมื่อปีก่อนมีการใช้งบกลางเพื่ออุดหนุนโครงการเด็กแรกเกิด เพราะรัฐบาลไม่ทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้แต่แรก ต้องใช้งบกลาง กลายเป็นการสงเคราะห์ไม่ใช่สวัสดิการถ้วนหน้า และไม่สอดคล้องกับจุดประสงค์การใช้งบกลาง ขณะที่ภัยแล้งที่เกิดขึ้นมานานแล้วกลับเพิ่มอนุมัติงบประมาณ หรืออย่างเบี้ยผู้สูงอายุที่ล่าช้าเกินกำหนดเข้าข่ายที่ต้องใช้งบกลางแต่ยังไม่มีการอนุมัติ ตนจึงถามว่าสรุปแล้วใครมีหน้าที่ตัดสินใจว่ารายการไหนเหมาะสมต้องใช้ "งบกลาง"
ขณะที่ นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ ส.ส.ชัยภูมิ พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า อย่าเอา "งบกลาง" ไปใช้จ่ายค่าปรับคดีเหมืองทองอัคราเด็ดขาด เพราะการสั่งปิด "เหมืองทองอัครา" เป็นคำสั่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในสมัยที่เป็นหัวหน้า คสช. โดยอาศัยสคำสั่งหัวหน้า คสช. ในการสั่งปิด ในเมื่อตำแหน่งหัวหน้า คสช. ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐแล้วไปทำผิดกฎหมาย แต่จะเอานำเงินของรัฐไปจ่ายเป็นค่าปรับถือเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง