'หมอชลน่าน' ยืนยันร่าง 'แก้ไขรัฐธรรมนูญ' ไม่ต้องผ่านมาตรา 77
"หมอชลน่าน" ยืนยันร่าง "แก้ไขรัฐธรรมนูญ" ไม่ต้องผ่านมาตรา 77 ยอมรับการชุมนุมเกิดขึ้นมีผลต่อการแก้ รธน. เรียกร้อง ส.ว.อย่าเมินประเด็นดังกล่าว
เมื่อวันที่ 17 ก.ย.63 นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย แถลงถึงการเสนอญัตติ "แก้ไขรัฐธรรมนูญ" ต่อรัฐสภาว่า ขณะนี้มีการเสนอญัตติทั้งสิ้น 8 ฉบับ แต่มีปัญหา 2 ฉบับที่ไม่สามารถบรรรจุเป็นวาระได้ คือร่างฉบับของพรรคก้าวไกลที่ลงชื่อร่วมกับรัฐบาลแต่มีการถอนชื่อ ทำให้มีชื่อเสนอญัตติไม่ครบถ้วน และร่างของพรรคเพื่อไทยในประเด็นแก้ไขระบบการเลือกตั้งที่เกินข้อบังคับ เพราะเนื้อหาอื่นสอดแทรกที่นอกเหนือจากการเลือกตั้ง เช่นการยกเลิกบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรีด้วย จึงต้องเสนอญัตติแก้ไขประเด็นเลือกตั้งเข้าทาใหม่ ทำให้ขณะนี้เหลือเพียง 6 ญัตติ ประกอบด้วย
- ญัตติของพรรคร่วมรัฐบาล ในการแก้ไข มาตรา 256
- ญัตติของพรรคฝ่ายค้านในการแก้ไขมาตรา 256
- ญัตติของพรรคร่วมฝ่ายค้านอีก 4 ญัตติ ที่เพิ่งเสนอเข้ามาใหม่ ซึ่งมีความสำคัญที่เป็นการแก้ไขอำนาจ ส.ว. แก้ไขระบบเลือกตั้ง แก้ไขการนิรโทษกรรม คสช.
นายแพทย์ชลน่าน ยืนยันว่า กรณีที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.พรรคพลังประชารัฐเสนอญัตติให้มีการตรวจสอบการลงชื่อญัตติ "แก้ไขรัฐธรรมนูญ" ทั้งหมด ว่าซ้ำซ้อนหรือไม่นั้น ไม่เป็นปัญหาเพราะญัตติที่มีการเสนอมาทั้ง 6 ฉบับ ไม่ได้มีหลักการซ้ำกัน ส.ส.จึงสามารถลงชื่อซ้ำในแต่ละฉบับได้
ส่วนที่พรรครวมพลังประชาชาติไทย ออกมาคัดค้านการ "แก้ไขรัฐธรรมนูญ" เนื่องจากยังไม่ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นประชาชนในมาตรา 77 นั้น ยืนยันว่า ตามมาตรา 77 ไม่ได้ครอบคลุมถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญใช้กระบวนการตามมาตรา 286 เท่านั้น
นายแพทย์ชลน่าน ยอมรับว่า การชุมนุมที่เกิดขึ้นมีผลโดยตรงต่อการ "แก้ไขรัฐธรรมนูญ" เนื่องจากก่อนหน้านี้มีแรงต้าน เมื่อฝ้ายค้านลงพื้นที่เคยถูกจับและดำเนินคดี แต่เมื่อมีการชุมนุมของนักศึกษาและประชาชนพบว่า ท่าทีเปลี่ยนไป รวมถึงรัฐบาลก็ยอมรับในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงถือว่าการชุมนุมขณะนี้มีผลโดยตรงต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้ เรียกร้องให้ 250 ส.ว. มาร่วมกันหาทางออก ซึ่งโดยส่วนตัวเห็นว่า ส.ว. ทั้ง 250 คน เป็นบุคคลชั้นครีมของประเทศ (ครีมที่อยู่ด้านบนของเค้ก) เคยรับราชการ และเคยทำงานในเอกชนที่ล้วนแล้วแต่มีผลงาน แต่ต้องมาถูกครอบด้วยระบบและแนวคิดที่ไม่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย เช่นหน้าที่โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี หรือ ติดตามการปฏิรูปประเทศ ดังนั้นจึงอยากวิงวอนให้ 250 ส.ว. มาร่วมกันหาทางออก และเห็นว่า การแก้รัฐธรรมนูญในครั้งนี้ เป็นอีกมุมของการปลดทุกข์ให้กับ ส.ว.