สศค.ชี้เดือนก.ค. ธุรกิจขอสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์สะสม 1.2 พันราย
สศค.ชี้เดือนก.ค.63 สถานการณ์การประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ เริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ภายในประเทศ
นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยว่า ในเดือนกรกฎาคม 2563 สถานการณ์การประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) เริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) ภายในประเทศที่ได้คลี่คลายลงตามลำดับ ทั้งนี้ ในเดือนกรกฎาคม 2563 มีจำนวนผู้สนใจยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์สะสมสุทธิ 1,224 ราย เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2563 จำนวน 10 ราย ประกอบด้วย ผู้ยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์ สะสมสุทธิจำนวน 1,055 ราย และผู้สนใจยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกพลัส สะสมสุทธิจำนวน 169 ราย และมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2559 จนถึง ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2563 มีนิติบุคคลยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อทั้งประเภทพิโกไฟแนนซ์และประเภทพิโกพลัสสะสมรวมจำนวนทั้งสิ้น 1,361 ราย ใน 76 จังหวัด (จังหวัดที่ยังไม่มีผู้ยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อทั้งสองประเภทยังคงเป็นจังหวัดเดิม คือ อ่างทอง)
โดยจังหวัดที่มีผู้ยื่นคำขออนุญาตสะสมมากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ นครราชสีมา (115 ราย) กรุงเทพมหานคร (109 ราย) และขอนแก่น (68 ราย) ตามลำดับ อย่างไรก็ดี ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวมีจำนวนนิติบุคคลที่แจ้งคืนคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์สะสมรวมทั้งสิ้น 137 ราย ใน 53 จังหวัด จึงคงเหลือจำนวนนิติบุคคลที่ยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ทั้ง 2 ประเภทสะสมสุทธิ 1,224 ราย ใน 75 จังหวัด และมีจำนวนผู้ที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ทั้ง 2 ประเภทสะสมสุทธิ 935 ราย ใน 74 จังหวัด (ขอคืนใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์จำนวน 27 ราย และขอเปลี่ยนใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์เป็นประเภทพิโกพลัสจำนวน 53 ราย) ทั้งนี้ มีจำนวนผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ทั้ง 2 ประเภท ที่แจ้งเปิดดำเนินการแล้วสะสมสุทธิ 825 ราย ใน 72 จังหวัด และมีรายละเอียด ดังนี้
1. สินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์ มีจำนวนผู้ยื่นคำขออนุญาตสะสมสุทธิทั้งสิ้น 1,055 ราย ใน 75 จังหวัด ซึ่งเพิ่มขึ้น 6 ราย จากเดือนมิถุนายน 2563 หรือเพิ่มขึ้น 106 ราย เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2562 โดย ณ เดือนกรกฎาคม 2563 จังหวัดที่มีผู้ยื่นคำขออนุญาตสะสมมากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (96 ราย) นครราชสีมา (94 ราย) และขอนแก่น (63 ราย) ตามลำดับ มีจำนวนผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์สะสมสุทธิทั้งสิ้น 844 ราย ใน 74 จังหวัด และมีจำนวนผู้เปิดดำเนินการแล้ว 753 ราย ใน 72 จังหวัด
2. สินเชื่อประเภทพิโกพลัส มีจำนวนผู้ยื่นคำขออนุญาตสะสมสุทธิทั้งสิ้น 169 ราย ใน 55 จังหวัด (ประกอบด้วย นิติบุคคลที่เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์เดิมและเปิดดำเนินการแล้วมายื่นขอเปลี่ยนใบคำขออนุญาตเพื่อประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกพลัสสะสมสุทธิจำนวน 89 ราย ใน 39 จังหวัด และเป็นนิติบุคคลที่ยื่นคำขออนุญาตใหม่สะสมสุทธิจำนวน 80 ราย ใน 29 จังหวัด) ซึ่งเพิ่มขึ้น 4 ราย จากเดือนมิถุนายน 2563 หรือเพิ่มขึ้น 97 ราย เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2562 โดย ณ เดือนกรกฎาคม 2563 จังหวัดที่มีผู้ยื่นคำขออนุญาตสะสมมากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ นครราชสีมา (21 ราย) กรุงเทพมหานคร (13 ราย) และอุดรธานี (11 ราย) โดยมีจำนวนผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกพลัสสะสมสุทธิทั้งสิ้น 91 ราย ใน 32 จังหวัด (เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2563 จำนวน 1 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่) และมีจำนวนผู้เปิดดำเนินการแล้ว 72 ราย ใน 29 จังหวัด (เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2563 จำนวน 1 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่)
3.ยอดสินเชื่ออนุมัติสะสม และยอดสินเชื่อคงค้างสะสม
3.1 ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 ภาพรวมการปล่อยสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์มีทิศทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมียอดสินเชื่ออนุมัติใหม่จำนวน 279.98 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2563 ที่มียอดสินเชื่ออนุมัติใหม่จำนวน 208.45 ล้านบาท ซึ่งแนวโน้มและทิศทางที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวมีปัจจัยหลักมาจากการคลี่คลายลงของสถานการณ์ COVID – 19 การผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐ และการที่กลุ่มเกษตรกรเริ่มทำการเพาะปลูกในช่วงฤดูฝน จึงมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินเพื่อจัดหาเมล็ดพันธุ์พืชและปัจจัยการผลิตต่าง ๆ อย่างไรก็ดี เมื่อเปรียบเทียบกับยอดสินเชื่ออนุมัติใหม่ของเดือนมิถุนายน 2562 (จำนวน 344.93 ล้านบาท) พบว่ามีทิศทางที่ลดลง ซึ่งสอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจภาพรวมที่ยังคงไม่ฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก
ทั้งนี้ ยอดสินเชื่ออนุมัติสะสม ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 มีจำนวน 294,481 บัญชี รวมเป็นจำนวนเงิน 7,407.08 ล้านบาท หรือคิดเป็นวงเงินสินเชื่ออนุมัติเฉลี่ยจำนวน 25,153 บาท ต่อบัญชี ซึ่งประกอบด้วย สินเชื่อแบบมีหลักประกันจำนวน 137,971 บัญชี เป็นจำนวนเงิน 3,894.16 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 52.57 ของจำนวนยอดสินเชื่ออนุมัติสะสม และสินเชื่อแบบไม่มีหลักประกันจำนวน 156,510 บัญชี เป็นจำนวนเงิน 3,512.92 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 47.43 ของจำนวนยอดสินเชื่ออนุมัติสะสม
3.2 ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 มียอดสินเชื่อคงค้างสะสมรวมจำนวนทั้งสิ้น 134,746 บัญชี คิดเป็นจำนวนเงิน 3,006.53 ล้านบาท โดยมีสินเชื่อค้างชำระ 1 - 3 เดือน สะสมรวมทั้งสิ้น 16,454 บัญชี หรือคิดเป็นจำนวนเงินสะสมรวม 396.05 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 13.17 ของยอดสินเชื่อคงค้างสะสม และมีสินเชื่อค้างชำระที่เกินกว่า 3 เดือน (NPL) สะสมรวมจำนวน 22,110 บัญชี หรือคิดเป็นจำนวนเงินสะสมรวม 474.43 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 15.78 ของยอดสินเชื่อคงค้างสะสม ซึ่งมีแนวโน้มลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับยอด NPL ของเดือนพฤษภาคม 2563 โดยมีปัจจัยหลักมาจากผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์มีการติดตามและเฝ้าระวังหนี้ค้างชำระของลูกหนี้อย่างใกล้ชิด ประกอบกับประชาชนเริ่มกลับมาประกอบอาชีพได้มากขึ้น ทำให้สามารถกลับมาชำระหนี้ได้เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี เมื่อเปรียบเทียบกับยอด NPL ของเดือนมิถุนายน 2562 (ร้อยละ 10.49) พบว่า มีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นซึ่งเป็นผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID – 19
การดำเนินการอย่างจริงจังกับเจ้าหนี้นอกระบบที่กระทำผิดกฎหมาย ในเดือนพฤษภาคม 2563 สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปน.ตร.) เพื่อปราบปรามและดำเนินคดีในเชิงรุกกับเจ้าหนี้นอกระบบที่มีพฤติการณ์ให้ประชาชนกู้ยืมเงินโดยผิดกฎหมาย เรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด การทวงถามหนี้โดยผิดกฎหมาย และการกู้ยืมเงินที่มีลักษณะฉ้อโกง โดย ณ เดือนกรกฎาคม 2563 สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ดำเนินการจับกุมผู้ปล่อยเงินกู้นอกระบบที่กระทำผิดกฎหมายเพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2563 จำนวน 1,011 ราย ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับยอดการจับกุมเฉลี่ยในช่วงเดือนตุลาคม 2559 - ตุลาคม 2562 ที่มีจำนวน 221 ราย ทั้งนี้ นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 จนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม 2563 ผลการดำเนินการจับกุมผู้ปล่อยเงินกู้นอกระบบที่กระทำผิดกฎหมายมีจำนวนสะสม 7,013 ราย
นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังคงดำเนินการร่วมกับหน่วยงานภาคีแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่องใน 5 มิติ ได้แก่ (1) ดำเนินการอย่างจริงจังกับเจ้าหนี้นอกระบบที่ผิดกฎหมาย (2) เพิ่มช่องทางการเข้าถึงสินเชื่อในระบบ (3) ลดภาระหนี้นอกระบบโดยการไกล่เกลี่ย (4) เพิ่มศักยภาพลูกหนี้นอกระบบ และ (5) สนับสนุนการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบโดยองค์กรการเงินชุมชน ซึ่งประชาชนสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารและรายชื่อผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ที่เปิดดำเนินการได้ทางเว็บไซต์ www.1359.go.th และสามารถร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับเงินกู้นอกระบบที่ผิดกฎหมายได้โดยตรงที่
• สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สายด่วน 1599
• ศปน.ตร. โทร. 0 2255 1898
• ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์การกู้ยืมเงินโดยสัญญาที่ไม่เป็นธรรมของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สายด่วน 1155
• ศูนย์ดำรงธรรม สายด่วน 1567
• ศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สายด่วน 1359
• ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กระทรวงยุติธรรม (ศนธ.ยธ.) โทร. 0 2575 3344