เปิดใจ 5 สตาร์ทอัพเทคโนโลยีเชิงลึกด้าน5G
จับเข่าคุย! 5 ผู้บริหารสตาร์ทอัพ ที่ NIA ปลุกปั้นพัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้นเทคโนโลยีเชิงลึกด้าน 5G
ปัจจุบัน เราอยู่ในยุคนวัตกรรมขับเคลื่อนธุรกิจ พร้อมทั้งยังเป็นตัวเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคอีกด้วยทำให้ธุรกิจก็ต้องปรับตัวตามให้ทัน ดังนั้น การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้จึงเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์และช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้องค์กรธุรกิจได้ อีกทั้งยังช่วยให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว ง่ายต่อการบริหารจัดการ สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในวงกว้าง
เรียกได้ว่าเป็นอาวุธที่สำคัญในการทำธุรกิจในยุคนี้ ใครใช้เทคโนโลยีเป็น หรือเข้าถึงเทคโนโลยีได้มาก คนนั้นได้เปรียบแน่นอน เราจึงเห็นผู้ประกอบการหลายราย หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างเร่งส่งเสริม สนับสนุนให้ธุรกิจหันมาใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA คือหนึ่งในหน่วยงานที่ช่วยส่งเสริมผู้ประกอบการให้นำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำธุรกิจ โดยได้ผนึกกับพันธมิตรเดินหน้าเพิ่มองค์ความรู้ให้ผู้ประกอบการเกี่ยวกับเทคโนโลยีเชิงลึกอย่างต่อเนื่อง
ล่าสุดได้ร่วมกับ หัวเว่ย ประเทศไทย ผู้จัดหาโซลูชั่นเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ชั้นนำระดับโลกจัดการอบรมบ่มเพาะสตาร์ทอัพเทคโนโลยีเชิงลึก ด้าน 5G (Deep Tech Startup) ขึ้นเป็นปีที่ 2 ใน “โครงการพัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้นเทคโนโลยีเชิงลึกด้าน 5G”
ปริวรรต วงษ์สำราญ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม NIA กล่าวว่า ก่อนหน้านี้เคยร่วมกับทาง หัวเว่ยประเทศไทย พัฒนาด้าน IoT Cloud มาแล้ว แต่ขณะนี้ 5G เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่เข้ามาและสามารถพัฒนาไปสู่ธุรกิจใหม่ๆ ได้ เช่น ด้านการแพทย์ การท่องเที่ยว และเอนเตอร์เทนเมนท์ นับเป็นการเปิดโอกาสให้สตาร์ทอัพที่หน้าใหม่นำเทคโนโลยีเหล่านี้ไปใช้ทำผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ ให้แก่ลูกค้ามากขึ้น
วันนี้จะพาไปรู้จักกับ 5 ผู้บริหารที่เข้าร่วมในโครงการพัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้นเทคโนโลยีเชิงลึกด้าน 5G และเป็นองค์กรที่มีความพร้อมด้านการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี พร้อมนำความรู้ไปต่อยอดได้จริง เริ่มกันที่ผู้บริหารท่านแรก“ดร.สกล กงแก้ว” CEO บริษัท แอคทีฟ อินเทลลิเจนซ์ จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทเกิดจากการวมตัวของวิศวกรด้านฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ เพื่อพัฒนาเทคนิคด้าน IOT ที่ยกเอาทุกโหมดมานำเสนอผ่านหน้าจอเดียว ลูกค้าส่วนใหญ่คือองค์กร บริษัทที่ต้องการนำระบบ IOT ไปใช้ลดต้นทุนในการดำเนินงาน หรือนำไปประยุกต์กับผลิตภัณฑ์เดิมทำให้เกิดสินค้านวัตกรรมใหม่
ส่วนการเข้าร่วมโครงการกับ NIA เพื่ออัพเดทความรู้เรื่อง 5G ที่กำลังจะมาในเร็วๆ นี้ เพื่อนำความรู้มาพัฒนาธุรกิจในยุคดิจิทัล เพราะส่วนตัวแล้วเชื่อว่าโลกเปลี่ยนไปธุรกิจต้องเปลี่ยนตาม สิ่งหนึ่งที่ได้จากการเข้าร่วมโครงการ นอกจากความรู้แล้ว ยังได้มาพบเจอกับนักธุรกิจจำนวนมากที่มีแนวธุรกิจเดียวกัน เกิดการแลกเปลี่ยนต่อยอดในธุรกิจ
ด้าน “ธีระเดช กุศลธรรมรัตน์” COO and Co-Founder บริษัท เวริลี วิชั่น จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจระบบอ่านหมายเลขทะเบียนรถ และอ่านเลขตู้คอนเทนเนอร์อัตโนมัติโดยเทคโนโลยี AI บอกว่า ความรู้ทางด้าน 5G เป็นสิ่งจำเป็นมากๆกับบริษัทเพราะหากได้ 5G เข้ามาจะช่วยในเรื่องของการลดต้นทุนในการติดตั้งฮาร์ดแวร์ต่างๆ ที่อยู่หน้าไซต์งานจำนวนมาก สามารถบริหารจัดการได้ที่ส่วนกลางแบบรวดเร็ว ประหยัดต้นทุนได้ ทำให้เรียลไทม์ สะดวก รวดเร็ว ขึ้นด้วย ที่สำคัญ บริษัทเตรียมตัวขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศด้วยจึงเข้าร่วมโครงการกับ NIA เพื่อเสริมความรู้ก่อนขยายธุรกิจจริง
“สิ่งที่เราตัดสินใจเข้าร่วมโครงการเพราะอยากรู้ว่า 5G มีหลักการทำงานอย่างไร มีอะไรดีขึ้นกว่า 4G เราจะนำความรู้มาต่อยอดงานของบริษัท ผมเชื่อว่ามันเป็นประโยชน์อย่างมากกับธุรกิจเพราะทุกวันนี้โลกเปลี่ยนไป ดังนั้น ธุรกิจต้องพร้อม ทำการบ้านก่อนที่ 5G จะมาในเร็วๆ นี้ ผมเชื่อว่าใครพร้อม ใช้ประโยชน์เป็น จะทำให้แข่งขันได้” ธีระเดช กล่าว
“ศรายุทธ์ ศุภโชคภากร” Managing Director บริษัท บลูชาร์ป จำกัด กล่าวว่า บริษัทคือ tech company ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้าน software development ลูกค้าคือผู้ให้บริการมือถือ และอินเทอร์เน็ต และโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงกลุ่มพลังงาน ได้กล่าวเสริมว่า 5G จะช่วยให้สามารถบริหารจัดการกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมมากขึ้น มินิเตอร์ได้ง่ายขึ้น IOT แพลตฟอร์มสามารถดึงข้อมูลอื่นๆ จากหลายที่มารวมไว้ที่ส่วนกลางได้ สามารถวิเคราะห์พยากรณ์กระบวนการผลิตต่างๆ ล่วงหน้าได้ อย่างเช่นประเมินความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากกระบวนการผลิต ดังนั้น5G มีส่วนสำคัญมากๆ ที่จะช่วยให้ธุรกิจทำงานง่ายขึ้น จึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการกับ NIA
ส่วน “ดร.คุณานนต์ กิตติพุฒิ” Chief Operating Officer บริษัท เรบุส จำกัด ให้ข้อมูลว่า บริษัทคือผู้ให้บริการฮาร์ดแวร์ เทคสตาร์ทอัพ สาเหตุที่มาเข้าร่วมโครงการเพราะว่าต้องการหาแนวร่วมลงทุนเครื่องตรวจจับโควิด-19 แบบเรียลไทม์ รวมถึงการพัฒนาเลเซอร์ห้ามเลือด และเลเซอร์ให้ยาชา ต้องการความรู้โซลูชั่นใหม่ๆ เพิ่ม ด้วย และอยากนำความรู้เรื่อง 5G ไปพัฒนาธุรกิจให้เรียลไทม์ขึ้น
“ อนวัช โชคดีเป็นเลิศ” Product Owner จากบริษัทบิลค์ วันกรุ๊ป จำกัด กล่าวทิ้งท้ายว่า บริษัทให้บริการซอฟต์แวร์ในงานก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ รวมถึงบริการแบบ B2B ด้วย โดยใช้โปรแกรมที่เรียกว่า Pojjaman2 (พจมาน 2) ในการบริหารจัดการ ข้อดีของการมาเติมความรู้ 5G กับโครงการของ NIA คือ ช่วยหน้าง่ายในการอัพเดทความคืบหน้าได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องเดินไปตรวจงานที่หน้างานสารมารถใช้ 5G ในการตรวจงานผ่านวิดีโอคอลได้เลย รวมถึงใช้ในการเก็บข้อมูลออนไลน์ได้ บริหารต้นทุนได้ บัญชี การเงิน เป็นต้น