ม็อบเปลี่ยนเป้า มุ่ง 'ลานพระรูปฯ' ตร.สกัด 14 จุดทั่วกรุง 20 กองพันคุมเขตพระราชฐาน
จับตาม็อบ เปลี่ยนเป้าหมาย มุ่ง “ลานพระบรมรูปทรงม้า” ตำรวจวางกำลังสกัด 14 จุดทั่วกรุง ทหารมหาดเล็ก 20 กองพัน คุมเขตพระราชฐาน - “ประยุทธ์” มอบ “ประวิตร” บัญชาการเหตุการณ์ “6 พรรคฝ่ายค้าน” แถลงการณ์จี้รัฐบาลดูแลผู้ชุมนุม นัดลงพื้นที่สังเกตการณ์
ความเคลื่อนไหวของรัฐบาลในการเตรียมแผนรับมือการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ในวันที่ 19 ก.ย.2563 ที่ยืนยันจะใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รมว.กลาโหม ระบุว่า ได้มอบหมายให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ติดตามดูแลในภาพรวม ส่วนเจ้าหน้าที่ตนได้เน้นย้ำว่า ให้ปฏิบัติด้วยความนุ่มนวล เพราะทุกคนล้วนเป็น เด็ก เยาวชน ลูกหลาน พร้อมขอร้องไปยังกลุ่มผู้ชุมนุมว่าให้ระมัดระวังในการทำสิ่งที่ไม่เหมาะสมในสถานที่ราชการ ซึ่งมีกติกากฎหมายอยู่แล้ว บางอย่างจึงไม่ควรปฏิบัติให้เกิดปัญหาระหว่างกัน
ขณะเดียวกันอาจมีบุคคลหลายฝ่าย ที่ต้องการให้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงขึ้น และนำไปสู่ความบานปลาย ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องทำไม่ให้เกิดขึ้น แต่ก็เกิดจากกลุ่มผู้ชุมนุมเอง แม้จะอ้างว่าเป็นการชุมนุมตามหลักรัฐธรรมนูญ แต่ในทางปฏิบัติต้องระมัดระวังในกฎหมายลูกด้วย ซึ่งตนไม่ได้ขู่ใคร แต่ประเทศชาติต้องอยู่ด้วยกฎหมาย หากทุกคนตั้งใจจะฝ่าฝืนกฎหมาย เชื่อว่าคนทั้งประเทศจะไม่ยินยอม
“ส่วนแนวทางการขับเคลื่อนของกลุ่มผู้ชุมนุม ผมทราบอยู่แล้วว่าจะมีการทำอะไรบ้าง เดินทางไปที่ไหนอย่างไร แต่ขอเตือนให้ระมัดระวังมากที่สุด อะไรที่ไม่สมควรก็อย่าทำ ผมพยายามอดทนอย่างยิ่งยวด เมื่อทุกคนบอกว่ารักชาติ รักประเทศ อยากช่วยกันแก้ไข เริ่มจากการแก้ไขตัวเองก่อน ว่าต้องทำความเข้าใจกันอย่างไร หากเริ่มต้นจากการขัดแย้งตลอดก็ไปกันไม่ได้ทั้งหมด ไม่ใช่ว่าจะสามารถเปลี่ยนทุกอย่างภายในวันนี้เลย” นายกฯ กล่าว
ต่อข้อถามว่าการชุมนุมที่อยู่ใกล้เขตพระราชฐานจะกำชับอะไรเป็นพิเศษหรือไม่ นายกฯ กล่าวสั้นๆว่า “กฎหมายก็คือกฎหมาย”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในเวลา 18.00 น.นายกฯ ได้ออกแถลงการณ์ทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจเป็นเวลา 10 นาที โดยทำความเข้าใจและเรียกร้องต่อประชาชนให้งดเข้าร่วมชุมนุม เนื่องจากเป็นสถานการณ์เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดโควิด-19 และยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศ
“ประวิตร”มั่นใจคุมม็อบไร้ปะทะ
ขณะเดียวกัน พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า การชุมนุมบริเวณทำเนียบรัฐบาลมีเจ้าหน้าที่ดูแลอยู่แล้ว ไม่ต้องห่วง ต้องดูแลไม่ให้มีการปะทะกัน ซึ่งมีระเบียบอยู่แล้วว่าการชุมนุมจะไม่ให้เข้าใกล้สถานที่สำคัญ ส่วนที่ผ่านมาทุกม็อบมักเกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่นั้น ตนมองว่าม็อบนี้อาจไม่เป็นเหมือนม็อบที่ผ่านๆมาก็ได้ ถึงอย่างไรต้องดูไม่ให้มีการปะทะกัน
ผู้สื่อข่าวถามว่า มั่นใจได้ใช่หรือไม่ว่าทำเนียบรัฐบาลนี้ จะไม่ปล่อยให้ผู้ชุมนุมเข้ามาแน่นอน พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า “จะมั่นใจหรือไม่มั่นใจก็แล้วแต่คุณ (สื่อ) จะคิดอย่างไรก็แล้วแต่ ผมต้องดูแลของผม ไม่ต้องเป็นห่วง ผมต้องดูแลความสงบ ให้เกิดขึ้นให้ได้”
กัน“ประยุทธ์”เข้าเซฟโซน
สำหรับการเตรียมแผนรับสถานการณ์ชุมนุม แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้หารือกับหน่วยงานความมั่นคงแล้ว มีความเห็นตรงกันว่า ต้องมอบหมายให้บุคคลอื่น สั่งการและควบคุมการชุมนุม เพราะหาก พล.อ.ประยุทธ์ สั่งการด้วยตัวเอง หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันจะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว และหากต้องรับผิดชอบในฐานะนายกฯ อาจส่งผลกระทบต่อรัฐบาล จึงมีการมอบหมายให้ พล.อ.ประวิตร สั่งการและควบคุมการชุมนุมแทน เพื่อกันพล.อ.ประยุทธ์ให้อยู่ในพื้นที่เซฟโซน
ม็อบเปลี่ยนเป้าเล็งยึดลานพระรูปฯ
ขณะที่แหล่งข่าวด้านความมั่นคงได้ข้อมูลว่า กลุ่มผู้ชุมนุมมีแนวโน้มสูงที่จะเปลี่ยนสถานที่เป้าหมาย ที่จะเคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาล ไปยังบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า รัชกาลที่ 5 จึงได้ปรับกำลังตำรวจ ที่เตรียมวางกำลังสกัดไว้ที่เชิงสะพานมัฆวานรังสรรค์ โดยจะแบ่งกำลังย่อยๆ ไว้ทุกเส้นทางที่ผู้ชุมนุมสามารถเดินทางไปยังลานพระบรมรูปทรงม้าได้ อาทิ แยกสี่เสาเทเวศร์ แยกวังแดง เป็นต้น
20กองพันดูแลเขตพระราชฐาน
ส่วนความเคลื่อนไหวของทหาร มีรายงานว่า ผู้บังคับบัญชามีคำสั่งให้มณฑลทหารบกทั่วประเทศ เตรียมสารวัตรทหาร สนับสนุนการปฏิบัติงานของตำรวจ ขณะเดียวกันได้เตรียมกำลังทหารเอาไว้ 20 กองพัน โดยจะรับผิดชอบในการดูแลเขตพระราชฐานทั้งหมด ทั้งภายในและภายนอก
ตร.กระจาย 14 จุดทั่วกรุง
ขณะเดียวกัน มีรายละเอียดของการจัดกำลังในการรักษาความสงบเรียบร้อยของตำรวจในวันที่ 19 ก.ย.ไปตามจุดต่างๆ ดังนี้ 1.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ รวม 3 กองร้อย แบ่งเป็น บก.1 ภ.จว.ตราด 1 และ ภ.จว.ชลบุรี 2.พระบรมมหาราชวัง 4 กองร้อย แบ่งเป็น บก.น.5 บก.น.6 และ บก.น.3 ภ.จว.มหาสารคาม อย่างละ 1 กองร้อย 3.อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย 3 กองร้อย ภ.จว.ชัยภูมิ ภ.จว.ปทุมธานี และ ภ.จว.สมุทรปราการ
4.แยก จปร. 3 กองร้อย จาก บก.น.1 ภ.จว.ชลบุรี และ ภ.จว.ตราด 5.แยกสะพานมัฆวาน 3 กองร้อย จาก กก.ตชด.11 กก.ตชด.12 ภ.จว.สระแก้ว 6.แยกสะพานวิศสุกรรมนฤมาณ ภ.จว.นครปฐม 1 กองร้อย 7.แยกสะพานเทเวศนฤมิตร ภ.จว.สุพรรณบุรี 1 กองร้อย 8.แยกสวนมิสกวัน ภ.จว.กำแพงเพชร 1 กองร้อย
9.แยกอู่ทองนอก ภ.จว.ลพบุรี 1 กองร้อย 10.สถานีดับเพลิงวชิระ ภ.จว.สิงหบุรี 1 กองร้อย 11.แยกเทวกรรม ภ.จว.กาญจบุรี 1 กองร้อย 12.แยกพาณิชยกรรม 2 กองร้อย จาก กก.ตชด.13 ภ.จว.ชัยนาท 13.แยกเสาวนี ภ.จว.เพชรบุรี 1 กองร้อย 14.แยกอุภัยเจษฎุทิศ ภ.จว.ประจวบคีรีขันธ์ 1 กองร้อย
ทำเนียบฯสั่งเก็บเอกสาร-ย้ายของ
ทางด้านทำเนียบรัฐบาล วานนี้ (17 ก.ย.) นายประทีป กีรติเรขา รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง เรียกประชุมหัวหน้าทุกหน่วยงานภายในทำเนียบรัฐบาล เพื่อซักซ้อมเตรียมพร้อมรักษาความปลอดภัย
ต่อมา น.พ.ต.อ.วัชรวีร์ ธรรมเสมา ผู้กำกับการ 4 กองบังคับการตำรวจสันติบาล 3 เปิดเผยว่า เบื้องต้นจะเคลื่อนย้ายสิ่งของสำคัญ เครื่องใช้ที่จำเป็น โดยเฉพาะเอกสารทางราชการที่สำคัญไปเก็บรักษาที่อื่นเป็นการช่วงคราวก่อน โดยทยอยเริ่มเก็บตั้งแต่วันที่ 17 ก.ย. รวมถึงเคลื่อนย้ายรถที่จอดค้างคืนภายในทำเนียบรัฐบาล ออกนอกทำเนียบรัฐบาล เพื่อรองรับสถานการณ์
ส่วนกำลังรักษาความปลอดภัยเบื้องต้นใช้ 3 กองร้อย แบ่งพื้นที่ภายในเป็นหน้าที่ตำรวจสันติบาล ทำเนียบรัฐบาล ส่วนพื้นที่รอบนอกเป็นหน้าที่ตำรวจ บช.น.โดยเจ้าหน้าที่จะเริ่มเข้ามาประจำพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 17 ก.ย. โดยใช้ตึก 20 ทำเนียบรัฐบาล เป็นศูนย์บัญชาการ
“6พรรคฝ่ายค้าน”จี้รัฐดูแลม็อบ
ส่วนความเคลื่อนไหวของพรรคการเมือง หัวหน้าพรรคร่วมฝ่ายค้านทั้ง 6 พรรค ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคเสรีรวมไทย พรรคเพื่อชาติ พรรคประชาชาติ พรรคพลังปวงชนไทย ได้ออกแถลงการณ์พรรคร่วมฝ่ายค้าน เรื่อง สิทธิเสรีภาพการแสดงออกของประชาชน และการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อหาทางออกให้กับประเทศ
โดยนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร อ่านแถลงการณ์สรุปว่า 1.พรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นว่าการแสดงออกและการเรียกร้องของนักเรียน นิสิตนักศึกษา และประชาชนภายใต้กรอบกฎหมายเป็นสิทธิเสรีภาพสามารถกระทำได้ รัฐบาลต้องคุ้มครองอำนวยความสะดวก
2.ข้อเสนอสำคัญของการชุมนุมคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญปัจจุบันเป็นผลจากการสืบทอดอำนาจและความต้องการรักษาอำนาจของ คสช. พรรคร่วมฝ่ายค้านจึงขอเรียกร้องให้ทุกฝ่าย ทั้ง ส.ส. ส.ว. ผลักดันร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เพื่อให้มี ส.ส.ร. ที่มาจากประชาชนนำไปสู่รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนปลดล็อกประเทศจากทางตัน
3.พรรคร่วมฝ่ายค้านขอเรียกร้องให้ส.ว. ร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับอำนาจ ส.ว. โดยเฉพาะอำนาจในการเลือกนายกฯตามมาตรา 272 ต้องถูกยกเลิก เราเรียกร้องให้ ส.ว. เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ ร่วมมือกับทุกภาคส่วนในสังคมหาทางออกให้ประเทศ เพื่อทำให้รัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยให้มากที่สุด เพื่อยุติความขัดแย้งที่นับวันจะขยายตัวไม่มีที่สิ้นสุด
ลงพื้นที่สังเกตการณ์ชุมนุม
ทั้งนี้ ส.ส. ฝ่ายค้านจะไปสังเกตการณ์การชุมนุม ในฐานะคณะทำงานของคณะกรรมาธิการการปกครอง เชื่อว่าการชุมนุมครั้งนี้ของนักศึกษาจะปราศจากอาวุธ แต่เป็นห่วงว่าผู้มีอำนาจอาจทำให้เกิดปัญหาเอง ส่วนการแสดงความเห็นเกี่ยวกับสถาบันนั้น เห็นว่าสามารถทำได้ และที่ผ่านมานักศึกษาก็ได้พูดกันไปแล้ว
มธ.แจ้งบุคลากรออกจากพื้นที่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (17 ก.ย.) มีการเผยแพร่เอกสารบันทึกข้อความ ขอความร่วมมือบุคลากรในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ดำเนินการด้านจราจรและสถานที่ ในพื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ลงชื่อโดยนางณัฐธยาน์ มิตรมูลพิทักษ์ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการกองบริหารศูนย์ท่าพระจันทร์
เนื้อหาระบุว่า กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมยืนยันว่าจะใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เป็นสถานที่ชุมนุม “19 กันยา ทวงอำนาจ คืนราษฎร” ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ย. 2563 เวลา 14.00 น.เป็นต้นไปนั้น เพื่อให้การรักษาความปลอดภัยในการดูแลป้องกันด้านอาคารและสถานที่ ระบบสาธารณูปโภคต่างๆ รวมถึงทรัพย์สินอื่นๆ ของมหาวิทยาลัยเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ปลอดภัย และการปฏิบัติงานของบุคลากรมีความสอดคล้องกับสถานการณ์ดังกล่าว
ทั้งนี้ทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงขอความร่วมมือจากทุกหน่วยงานดำเนินการ ในวันที่ 18 กันยายน 2563 ดังนี้ 1.ขอให้บุคลากรทุกหน่วยงานออกนอกพื้นที่ของมหาวิทยาลัย ก่อนเวลา 20.00 น.เป็นต้นไป 2.ไม่อนุญาตให้นำรถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์ส่วนตัว มาจอดค้างคืนในพื้นที่มหาวิทยาลัย
3.หากมีเหตุฉุกเฉินด้านรักษาความปลอดภัย สามารถติดต่อได้ที่เบอร์ 123, 3000 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ในพื้นที่ มธ.ท่าพระจันทร์