'3 การไฟฟ้า' ลุยขยายปั๊ม EV ปูทางอุตฯยานยนต์ไฟฟ้า

'3 การไฟฟ้า' ลุยขยายปั๊ม EV ปูทางอุตฯยานยนต์ไฟฟ้า

3 การไฟฟ้า "กฟผ.-กฟภ.-กฟน." ผนึกกำลังจัดทำแผนส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าสนองนโยบายรัฐและเทรนด์ของผู้บริโภคที่ตอบรับยานยนต์แห่งอนาคต เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ขยายปั๊มชาร์จไฟฟ้า รองรับการเติบโต

ประเทศไทยกำหนดโรดแมพ การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า หรือแผน 30@30 อีก 10 ปีข้างหน้า หรือ ภายในปี 2573 จะมีการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า(อีวี) อยู่ที่ 7.5 แสนคันนับเป็นเป้าหมายที่ท้าทาย จากปัจจุบัน ปี 2563 มีผู้ผลิตรถอีวี ประมาณ 1.2 แสนคัน ตามข้อมูลโครงการที่ยื่นขอรับสิทธิประโยชน์สนับสนุนการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ช่วงปี 2561-63

การผลักดันให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว จำเป็นที่หน่วยงานภาครัฐ จะต้องนำร่องเตรียมพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ โดยเฉพาะการลงทุนติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station) ที่จะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้รถอีวี ว่าจะมีไฟฟ้าชาร์จเพียงพอกับการใช้งานในระยะทางใกล้และไกล

ปัจจุบัน3 การไฟฟ้า คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(PEA) หรือ กฟภ. และการไฟฟ้านครหลวง(MEA) หรือ กฟน.พร้อมสนับสนุนนโยบายส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า(อีวี)ของภาครัฐ อย่างเต็มที่ โดยนำร่องติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station) เพื่อทดสอบนวัตกรรมและประสิทธิภาพของเทคโนโลยีต่างๆ ก่อนนำไปสู่แผนขยายการลงทุนอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

160042044655

พัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ กฟผ.อยู่ระหว่างสำรวจพื้นที่สถานีไฟฟ้าแรงสูงทั่วประเทศทั้งของ กฟผ. และกฟภ. เพื่อเตรียมพร้อมติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station) ประเภทหัวจ่ายเร่งด่วน (Quick Charge) รองรับการใช้งานของรถอีวีที่วิ่งในต่างจังหวัด ซึ่งจะต้องพิจารณาความพร้อมในหลายๆด้าน ทั้งการกำหนดจุดพักรถ ประเภทของรถยนต์ไฟฟ้าที่จะมาใช้บริการ จำนวนรถ และพันธมิตรที่เกี่ยวข้อง คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในปี 2564

โดยกฟผ.จะเป็นผู้ลงทุนสถานีฯเอง แต่จะใช้เทคโนโลยีของประเทศใดนั้น ก็จะต้องดูประสิทธิภาพและความเหมาะสมด้วย คาดว่าจะใช้งบประมาณไม่มากนัก เพราะการลงทุนติดตั้งที่สถานีไฟฟ้าแรงสูง มีความพร้อมอยู่แล้วไม่จำเป็นต้องเดินสายไฟ หรือ ติดตั้งหม้อแปลงเพิ่ม เบื้องต้นจะคิดค่าบริการชาร์จไฟฟ้าในอัตราที่ไม่แพง เพื่อจูงใจให้เกิดการใช้รถอีวี

“แผนลงทุนสถานีชาร์จไฟฟ้าฯ จะมีความชัดเจน ทั้งงบประมาณ จุดติดตั้ง และพันธมิตรร่วมลงทุน หลังจากที่ กฟผ.และหน่วยงานต่างๆร่วมกันสำรวจข้อมูลแล้วเสร็จในเร็วๆนี้”

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา กฟผ.ได้ทดลองติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า ไปแล้วกว่า 10 แห่ง ในลักษณะงานวิจัย ให้ใช้บริการฟรี ซึ่งก็ยังมีรถมาใช้บริการน้อย แต่ในระยะอันใกล้จะส่งเสริมมากขึ้นตามนโยบายรัฐ

นอกจากนี้ กฟผ.ยังมีความร่วมมือกับบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) หรือ PTT ในการส่งเสริมการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station) ภายในสถานีบริการน้ำมัน พีทีที สเตชั่น คาดว่าจะ นำร่องในถนนสายหลักเส้นทางภาคตะวันออก ที่เป็นฐานการลงทุนของกลุ่ม ปตท.ก่อน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียดแผนการลงทุนต่างๆร่วมกัน คาดว่า น่าจะเริ่มเห็นการลงทุนได้ในปี 2564 เช่นกัน

160042045898

เสกสรร เสริมพงศ์ รองผู้ว่าการวางแผนและพัฒนาระบบไฟฟ้า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(PEA) กล่าวว่า PEA ได้ติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า แล้ว 11 แห่ง รอบพื้นที่กรุงเทพฯ และพัทยา ซึ่งเปิดให้ใช้บริการฟรีมา 2 ปีแล้ว และในปีนี้ มีแผนจะติดตั้งอีก 62 แห่ง ภายใต้ความร่วมมือกับบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) ครอบคลุม 42 จังหวัด ซึ่งจะเห็นการติดตั้งถนนสายหลักในทุกระยะทาง 100 กิโลเมตรในสถานีบริการน้ำมันบางจากฯ คาดว่าจะติดตั้งเสร็จตามแผนได้ในไตรมาส 2 ปี 2564 และช่วงปี 2564-65 มีแผนจะติดตั้ง 64 แห่ง ครอบคุลม 75 จังหวัด ซึ่งจะเห็นการติดตั้งในทุกพื้นที่ระยะทาง 100 กิโลเมตรในถนนสายรองแล้วเสร็จในปี 2565 ซึ่งจะมีสถานีอัดประจุไฟฟ้าทั้งหมด 137 แห่ง ใช้เงินลงทุน 2.5 ล้านบาทต่อสถานี หรือ 2 หัวจ่าย ซึ่งเป็นงบประมาณของ PEA

“ก็คาดว่าระยะสั้นรถอีวี คงจะยังเข้ามาไม่มาก เราก็มองดูว่า ภาครัฐควรจะส่งเสริมให้รถอีวีมันเกิด ก็ไม่ต้องรอว่าจะให้รถอีวีเกิดก่อนหรือปั๊มชาร์จเกิดก่อนก็เหมือนไก่กับไข่ เราก็คิดว่า กฟภ.เป็นหน่วยงานของรัฐก็น่าจะเข้ามากระตุ้นให้รถอีวีเกิดด้วยการลงทุนติดตั้งปั๊มชาร์จ”

พรศักดิ์ อุดมทรัพยากุล ผู้ช่วยผู้ว่าการวางแผนและพัฒนาองค์กร การไฟฟ้านครหลวง(MEA)กล่าวว่า MEA กล่าวว่า MEA ได้ทดลองติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า ภายในสำนักงาน MEA แล้ว 15 เครื่อง และภายในปี 2565 จะติดตั้งอีก 118 เครื่อง ครอบคลุม 18 สำนักงานเขต MEA รวมถึงภายนอกสำนักงาน MEA ก็มีการติดตั้งที่ศูนย์ราชการฯ และ

เซเว่นอีเลฟเว่น เพื่อร่วมกระตุ้นการใช้รถอีวี

“การกำหนดอัตราค่าบริการไฟฟ้าที่จำหน่ายให้กับปั๊มชาร์จที่ 2.63 บาทต่อหน่วย จะเอื้อให้เกิดการใช้รถอีวี ในอนาคตเพิ่มขึ้น”

ขณะเดียวกัน ได้ทดลองใช้รถอีวี ภายในสำนักงาน MEA แล้ว 15 คัน และจะเพิ่มอีก 49 คัน รวมเป็น 60 คันในปลายปีนี้ นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาแอพพลิเคชั่น MEA EV Mobile Application เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้รถอีวี ในการหาข้อมูลสถานีฯ และนำทางไปยังสถานีฯ ซึ่งปัจจุบันมีผู้ดาวน์โหลดแล้วประมาณ 5,000 ราย