พท.แจงยุบเต็นท์สังเกตการณ์ 'ชุมนุม 19 กันยา' เชื่อพลังมวลชนกดดันส.ว.แก้กติกา
"เพื่อไทย" แจงยุบเต็นท์ยุติสังเกตการณ์ "ชุมนุม 19 กันยา" เชื่อพลังมวลชนกดดันส.ว.แก้กติกาได้
เมื่อวันที่ 20 ก.ย.63 นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะทำงานติดตามการ "ชุมนุม 19 กันยา" กลุ่มนักเรียน นักศึกษา และประชาชน คณะกรรมาธิการการปกครอง สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีการยุบเต็นท์คณะทำงาน ไม่ไปร่วมสังเกตการณ์การเดินขบวนของกลุ่มนักศึกษา ในวันที่ 20 ก.ย.ว่า เนื่องจากภารกิจของคณะทำงานเสร็จสิ้นแล้ว ตั้งแต่เมื่อคืนวันที่ 19 ก.ย.63 ที่ได้รวบรวมข้อมูลได้ครบถ้วนแล้ว ทั้งกรณีการคุกคามประชาชนที่พบว่า ไม่มีการคุกคามประชาชนในการ "ชุมนุม 19 กันยา" รวมถึงข้อเสนอเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญและการยุบสภาในการชุมนุมก็ได้รวบรวมข้อมูลไว้หมดแล้ว จึงเห็นว่า ไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเคลื่อนขบวนของกลุ่มนักศึกษาในช่วงเช้าวันที่ 20 ก.ย. ให้เป็นเรื่องของกลุ่มผู้ชุมนุมดำเนินการเอง จึงไม่มีส.ส.เพื่อไทยไปร่วมสังเกตการณ์วันดังกล่าว
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงรูปแบบการประชุมรัฐสภาวันที่ 23-24 ก.ย.เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ จำนวน 6 ญัตติว่า ขึ้นอยู่กับที่ประชุมรัฐสภาจะมีมติอย่างไรในการกำหนดวิธีการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ฉบับ ซึ่งในวันที่ 22ก.ย.จะมีการหารือวิปสามฝ่ายคือ ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และส.ว.กำหนดรูปแบบการพิจารณาอย่างเป็นทางการ เบื้องต้นจะเสนอให้พิจารณาอภิปรายแสดงความเห็นรวมกันได้ทุกญัตติ แต่ในการลงมติจะให้แยกพิจารณาลงมติเป็นรายมาตรา
โดยในวันที่ 23 ก.ย.จะให้อภิปรายญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2 ญัตติของพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคร่วมฝ่ายค้านที่เสนอแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา256 ตั้งส.ส.ร.มายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เมื่ออภิปรายครบแล้ว ก็ให้ลงมติจะรับหลักการวาระแรกหรือไม่ใช้วิธีการขานชื่อรายบุคคล จะให้สมาชิกรัฐสภาแต่ละคนตอบในครั้งเดียวเลยว่า จะรับญัตติของพรรคร่วมรัฐบาล และรับญัตติของพรรคร่วมฝ่ายค้านหรือไม่ เพื่อประหยัดเวลา ไม่ต้องขานชื่อลงมติ 2 ครั้ง เพราะการขานชื่อรายคนแต่ละครั้ง ใช้เวลา 3 ชั่วโมง เพราะมีสมาชิกรัฐสภาถึง 750 คน ส่วนการพิจารณาวันที่ 24 ก.ย.จะพิจารณาญัตติแก้รัฐธรรมนูญรายมาตราที่เหลืออีก 4ญัตติ รูปแบบเหมือนกับการอภิปรายวันที่ 23ก.ย.
นพ.ชลน่าน กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีเสียงส.ว.ที่ยังไม่ชัดเจนจะช่วยลงมติแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น เราคงไม่สามารถบังคับให้ส.ว. 84 เสียง มาร่วมลงมติได้ แต่เชื่อว่า จำนวนมวลชนที่มาร่วม "ชุมนุม 19 กันยา" จะเป็นตัวกดดันให้ส.ว.ลงมติเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามความต้องการของประชาชน ดูแล้วน่าจะได้เสียงส.ว.พอ 84 เสียง ในการลงมติรับหลักการวาระแรกได้ เพราะถือว่า เป็นการปลดทุกข์ช่วยส.ว. เพราะส.ว.เองก็คงไม่สบายใจในอำนาจมาตรา 272 ที่ต้องลงมติโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี แต่จำเป็นต้องทำตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด เป็นการยกภูเขาออกจากอกส.ว.