การพนันพุ่ง 6 แสนล้าน ชี้คนไทยกว่า 30 ล้านคนเกี่ยวข้อง

การพนันพุ่ง 6 แสนล้าน ชี้คนไทยกว่า 30 ล้านคนเกี่ยวข้อง

สถานการณ์พนันในไทย ชี้คนไทยกว่า 30 ล้านคนเกี่ยวข้อง โดย 7 แสนคนนักพนันหน้าใหม่ รวมเงินสะพัดพนันออฟไลน์-ออนไลน์กว่า 6 แสนล้าน เฉพาะ "บอล-หวย” 4.64 แสนล้าน หนี้พนันทะลักหมื่นล้าน นักวิชาการชงวาระแห่งชาติแก้ งานวิจัยชี้พนันพุ่งเหตุเชื่อมโยงปัญหาเศรษฐกิจ

ข่าวคนดังในสังคมที่มีปัญหาการพนันออกมาเป็นระยะๆ เป็นภาพสะท้อนถึงสถานการณ์การพนันในสังคมไทย ที่เป็นปัญหาระดับชาติ เมื่อมีแนวโน้มคนไทยเล่นพนันมากขึ้นทุกปี นอกจากการพนันออฟไลน์แล้ว การพนันออนไลน์ได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยมาจากหลายสาเหตุ

ที่สำคัญผลกระทบที่่ตามมาจากปัญหาพนันไม่เฉพาะตัวบุคคล แต่ลุกลามเป็นปัญหาสังคม และเศรษฐกิจ ที่หลายหน่วยงานที่พยายามช่วยกัน ต้องการให้รัฐบาลยกระดับการแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง

โครงการศึกษาสถานการณ์ พฤติกรรม และผลกระทบการพนันในประเทศไทย ประจำปี 2562 ที่ดำเนินการโดยความร่วมมือของศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ (SAB) ได้สำรวจ“ปีเว้นปี” ซึ่งครั้งนี้ได้ดำเนินการเป็นครั้งที่ 3 ต่อเนื่องจากปี 2560 และ 2558 เพื่อติดตามสถานการณ์ด้านการพนัน ผลกระทบที่เกิดขึ้น ในการนำข้อมูลที่ได้ประกอบการพิจารณา แสวงหาแนวทางการป้องกัน แก้ไขปัญหา เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการขยายผลทางวิชาการ

โครงการได้เก็บข้อมูลจากประชาชนทั่วไป ที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป ใน 77 จังหวัด ระหว่างเดือนเม.ย.ถึงเดือนก.ค.2562 รวม 44,050 ตัวอย่าง พบว่า คนไทย76.3% หรือประมาณ 40.69 ล้านคน เคยเล่นพนัน ประมาณครึ่งหนึ่งเริ่มเล่นพนันครั้งแรกเมื่ออายุไม่เกิน 20 ปี อายุต่ำสุดของการเริ่มเล่นพนันครั้งแรกอยู่ที่ 7 ปี คนเริ่มต้นเล่นการพนันตอนอายุมาก เริ่มต้นเล่นพนันครั้งแรกตอนอายุ 62 ปี และ 96.1% มีบุคคลแวดล้อมที่เล่นการพนัน

คนไทยเล่นพนัน30ล้านคน

ประมาณการคนที่เล่นการพนันในปี 2562 จำแนกตามภูมิภาค อีสาน 10.913 ล้านคน เพิ่มจากปี 2560 จำนวน 4,041 แสนคน ภาคกลาง 5.588 ล้านคน เพิ่มจากปี 2560 จำนวน 2.591 แสนคน ภาคเหนือ 5.204 ล้านคน เพิ่มจากปี 2560 จำนวน 1.635 แสนคน กรุงเทพฯและปริมณฑล 4.622 ล้านคน เพิ่มจากปี 2560 จำนวน 4.183 แสนคน ภาคใต้ 4.094 ล้านคน เพิ่มจากปี 2560 จำนวน 2.046 แสนคน รวม 30.421ล้านคน

“7แสนคน”นักพนันหน้าใหม่

ในส่วนของการเล่นพนันผ่านช่องทางออนไลน์ พบว่าคนไทย 7.4% หรือประมาณ 3.19 ล้านคน ระบุว่าเคยเล่นพนันผ่านช่องทางออนไลน์

ปี 2562 คนไทยเล่นการพนัน 57% หรือประมาณ 30.42 ล้านคน เมื่อเปรียบเทียบกับผลสำรวจในปี 2560 พบว่าเพิ่มขึ้นประมาณ 1.49 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้ที่เล่นพนันครั้งแรกในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา หรือเรียกว่า “นักพนันหน้าใหม่” 7 แสนกว่าคน

การพนันพุ่ง 6 แสนล้าน ชี้คนไทยกว่า 30 ล้านคนเกี่ยวข้อง

วงเงินพนัน3ช่วงวัย“1.26 แสนล.”

แม้พบว่านักพนันส่วนใหญ่มีอายุอยู่ในช่วงวัยทำงาน แต่ก็น่ากังวลใจที่มี เด็กอายุ 15-18 ปี เล่นพนันประมาณ 7.33 แสนคนหรือคิดเป็น 20.9% ของกลุ่มเด็ก โดยมีวงเงินพนันหมุนเวียนรวมประมาณ10,200 ล้านบาท และเยาวชนอายุ 19-25 ปี เล่นการพนันประมาณ 3.05 ล้านคนหรือคิดเป็น 46.3% ของกลุ่มเยาวชน โดยมีวงเงินพนันหมุนเวียนรวมประมาณ58,878 ล้านบาท

ขณะที่กลุ่มผู้สูงวัยอายุ 60 ปีขึ้นไป เล่นการพนันประมาณ 3.35 ล้านคนหรือคิดเป็น 42.2% ของกลุ่มผู้สูงวัย โดยมีวงเงินพนันหมุนเวียนรวมประมาณ 57,131 ล้านบาท

“บอล-หวย”สะพัด 4.64แสนล.

การพนันยอดนิยม 5 อันดับแรก ยังคงเป็นเช่นเดียวกับผลสำรวจที่ผ่านมา ได้แก่ สลากกินแบ่งรัฐบาล หวยใต้ดิน ไพ่ พนันทายผลฟุตบอล และไฮโล โปปั่น น้ำเต้าปูปลา

แต่เมื่อดูจากวงเงินที่หมุนเวียนในตลาดพนันพบว่า พนันทายผลฟุตบอลมาเป็นอันดับ 1 มีวงเงินพนันหมุนเวียนมากถึง 160,542 ล้านบาท ตามมาด้วยหวยใต้ดิน 153,158 ล้านบาท และสลากกินแบ่งรัฐบาล 150,486 ล้านบาท รวมวงเงินหมุนเวียนกว่า 4.64 แสนล้านบาท

รวมเงินหมุนเวียนกว่า6แสนล.

สำหรับวงเงินพนันหมุนเวียนของกลุ่มที่เล่นพนันในบ่อนอยู่ที่ประมาณ 122,566 ล้านบาท ขณะที่การพนันออนไลน์พบว่ามีเพียง 1.55% หรือประมาณ 826,925 คน ที่ระบุว่าเล่นพนันออนไลน์ประมาณวงเงินพนันรวม 20,152 ล้านบาท ประเภทของการพนันออนไลน์ที่คนไทยเล่นมากที่สุดอันดับแรกคือ บาคาร่า ป๊อกเด้ง อยู่ที่ร้อยละ 45.2ถัดมาคือ เกมไพ่ชนิดอื่นๆ สล๊อตแมชชีนหรือตู้เกม พนันทายผลกีฬา หวยต่างๆ และอื่นๆ โดยมีการพนันสกิน หรืออีสปอร์ต ที่ร้อยละ 5.9 อยู่ด้วย ดังนั้นเมื่อรวมวงเงินพนันในทุกกลุ่มทั้งออฟไลน์และออนไลน์ในปี 2562 จะอยู่ที่ 606,904 ล้านบาท

นักพนันที่มีปัญหากว่า2แสนคน

นอกจากนี้จากผลการสำรวจยังพบว่า ในปี 2562 คนไทยมีพฤติกรรมเข้าข่ายว่าเป็นนักพนันที่มีปัญหา 210,090 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็กและเยาวชน อายุ 15-25 ปี 38,953 คน อยู่ในช่วงวัยทำงาน 146,212 คน และผู้สูงวัยอายุ 60 ปีขึ้นไป 24,925 คน

ผลกระทบชีวิต-หนี้กว่าหมื่นล้าน

ด้านผลกระทบพบว่า 9.8% ของผู้ที่เล่นพนันในปี 2562 หรือประมาณ 2.9 ล้านคน ระบุว่าได้รับผลกระทบเชิงลบจากการพนัน ได้แก่ ขาดเงินใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน มีปัญหาความเครียด เป็นหนี้ มีปากเสียงทะเลาะกับคนในครอบครัว สุขภาพเสื่อมโทรม เสียเวลาทำงาน หรือการเรียน และอื่นๆ โดยประมาณ คนไทยที่เล่นพนันในปี 2562 จำนวน 1.068 ล้านคน มีหนี้สินที่เกิดจากการพนันรวมกันประมาณ 11,468 ล้านบาท หรือเฉลี่ยคนละ 10,738 บาท สูงสุด 200,000 บาท

2-3 ปีพนันออนไลน์พุ่ง

รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปัญหาการพนันให้สัมภาษณ์กรุงเทพธุรกิจ ถึงสถานการณ์การพนันในสังคมไทยว่า คนไทยเล่นพนันออนไลน์มากขึ้นต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยมาจากหลายสาเหตุ ซึ่งก่อนเกิดโควิดบริเวณชายแดนไทยที่มีบ่อนคาสิโนต่างๆ ได้ปรับบ่อนคาสิโนส่วนหนึ่งให้เป็นพนันออนไลน์ บางแห่งที่เคยพบแบ่งเป็นพนันออฟไลน์ครึ่งหนึ่ง และอีกครึ่งหนึ่งเป็นพนันออนไลน์ไปเลย จะสะท้อนให้เห็นว่าสถานการณ์พนันออนไลน์มีเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะความง่ายในการเปิดเว็บไซต์พนัน

“หน่วยงานที่จับกุมพนันออนไลน์ได้ยังเป็นส่วนน้อย จึงต้องจริงจัง ที่จริงแล้วกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ผิดกฎหมายแต่ปรากฏอยู่ในพนันออนไลน์มีจำนวนมาก ไม่ใช่มีแค่พนันออนไลน์อย่างเดียว แต่ยังมีค้าอาวุธ ยาเสพติด ดังนั้นควรจะดำเนินการเป็นกลุ่มเพื่อแก้ปัญหาตรงนี้ ไม่ใช่เลือกเป็นเพียงบางเรื่อง”

รศ.ดร.นวลน้อย อธิบายว่า การจับกุมพนันออนไลน์เป็นเรื่องยาก ประเทศต่างๆ ก็พบปัญหาแบบนี้เช่นเดียวกัน โดยประเทศส่วนใหญ่ที่เขาให้มีการพนันถูกกฎหมาย ในช่วงแรกๆ ไม่ยอมให้มีพนันออนไลน์ แต่สุดท้ายสู้ไม่ไหว ก็ยอมให้เปิดเลย เพราะรัฐนั้นๆ มีความมุ่งหมายเรื่องภาษี แต่ปรากฏว่ากลุ่มพนันออนไลน์ก็หนีไปโดยไปเปิดในประเทศที่ไม่มีภาษี

พนันออนไลน์ส่วนแบ่งตลาด10%

โดยเม็ดเงินในตลาดออนไลน์โดยอ้างอิงจากการศึกษาจากต่างประเทศในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมานั้นพบว่า “พนันออนไลน์” มีมูลค่าประมาณ 10% ของ “พนันออฟไลน์” ทั่วโลก ถึงจะเป็นส่วนน้อยแต่กลับมีการเติบโตอย่างชัดเจน เพราะพนันประเภทอื่นมีตลาดโตเต็มที่มานานแล้ว ทำให้พนันออนไลน์มาแย่งส่วนแบ่ง เราพบว่าล่าสุดในไทยพบว่ามีประมาณกว่า 10% เช่นกัน โดยมีตัวเลขในระบบมีหลายพันล้านบาท

แต่หากนำการพนันแต่ละประเภทมาศึกษา เช่น การพนันทายผลการแข่งขัน จะมีเด็กและเยาวชนเล่นอยู่ในสัดส่วน 1 ใน 4 ของทั้งหมด โดยมีเด็กเยาวชนกลุ่มนี้จะมีสัดส่วน 30 % ที่เล่นพนันออนไลน์

เสนอรัฐใช้แนวทางรณรงค์ -เท่าทัน

รศ.ดร.นวลน้อย ยังระบุข้อเสนอไปถึงหน่วยงานภาครัฐ ในการแก้ปัญหาพนันออนไลน์ว่า อยากให้หน่วยงานพยายามปราบปรามต่อไป รณรงค์ให้เท่าทันโดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชนให้เข้าใจอย่างตรงไปตรงมาว่า เล่นพนันแล้วได้อะไร เพราะสุดท้ายมีคนที่รวยจากพนันน้อยมาก ถ้าเทียบกับคนที่จนจากการพนัน แต่หากมองบริบทที่กว้างขึ้นเราก็มีปัญหาพนันอยู่หลายชนิด บางอย่างอาจทำให้ถูกกฎหมายจากสังคมที่เติบโต โดยมีคณะกรรมการที่กำกับและดูแลผลกระทบเป็นเรื่องราว เพื่อพิจารณาว่าบางอย่างอาจถึงเวลาให้ถูกกฎหมายได้แล้วหรือไม่ เพื่อไม่ให้การพนันในสังคมไทยมากเกินไป หรือถ้าเป็นถูกกฎหมายก็เป็นแบบที่ไม่สร้างผลกระทบที่ไปได้เช่นกัน

“เสพติดพนัน”ปัญหาใหญ่กว่าที่คิด

ขณะที่งานวิจัยอีกชิ้นของศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน จุฬาฯ ล่าสุดในปี 2562 สรุปองค์ความรู้เรื่องจิตวิทยาของการพนันแบบเป็นปัญหา (Problem Gambling) ของ รศ.วิทยากร เชียงกูล คณบดีกิตติคุณ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต สะท้อนความใหญ่โตของปัญหาการเสพติดพนัน และแนวทางแก้ไข

รศ.วิทยากร มองว่า ปัญหาใหญ่โตของการพนัน เพราะเชื่อมโยงกับหลายปัญหา ไม่เฉพาะแค่ตัวบุคคลแต่โยงถึงสังคม และรัฐบาลต้องมารับภาระ

เปิดเสรีฯภาษีได้ไม่เท่าผลกระทบ

โดยประเทศทุนนิยมเสรีให้คนเล่นการพนันถูกต้องตามกฎหมายได้ และรัฐบาลได้ภาษีจากการกิจกรรมนี้ แต่มีการศึกษาเช่นกันว่า รายได้ไม่คุ้มค่าด้านเศรษฐกิจ เพราะได้น้อยว่าที่ต้องใช้จ่ายในการป้องกัน และบำบัดคนติดพนัน ต้นทุนทางสังคมเสียหายมากกว่า งานวิจัยยังระบุว่า ทุก 1 คนที่เสพติดพนัน จะกระทบต่อคน 10-17 คน

ผลสรุปของงานวิจัย มีข้อเสนอว่า สิ่งที่ควรให้ความสำคัญมากคือ การป้องกัน และการรักษาบำบัด ซึ่งในต่างประเทศมีบริการให้คำปรึกษาทางออนไลน์ และโทรศัพท์ ซึ่งได้ผลระดับหนึ่ง เพราะคนติดพนันมักไม่กล้าไปพบด้วยตนเอง ทางผู้ให้บริการมีการติดตามผลโดยขอเบอร์โทรและอีเมล์

ปฏิรูปศก.-สังคม-การเมือง แก้พนัน

รศ.วิทยากร เสนอแนวทางว่า ในระดับประเทศ ควรตั้งสถาบันทำงานเป็นองค์กรมหาชน โดยกระทรวงสาธารณสุข ควรส่งแพทย์ นักจิตวิทยา เจ้าหน้าที่ ไปศึกษาเรื่องนี้ในต่างประเทศ หรือเชิญผู้เชี่ยวชาญมาอบรมในไทย เพื่อให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องเข้าใจเรื่องจิตวิทยาการพนัน เพื่อวิจัยเผยแพร่ความรู้ทางป้องกัน และเยียวยาปัญหาการเสพติดการพนัน ที่สามารถให้บริการได้อย่างทั่วถึง

“การที่คนจนเล่นหวยมากขึ้น เพราะไม่มีความหวังอื่น ในประเทศแบบรัฐสวัสดิการมีคนติดการพนันเช่นกัน แต่เป็นสัดส่วนที่น้อย หากเทียบกับประเทศกึ่งพัฒนาหรือกำลังพัฒนา แสดงว่ามีความเชื่อมโยงของปัญหากับการปฏิรูปเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง” รศ.วิทยากร ระบุ