'ผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสาร'อาชีพเนื้อหอมยุคโควิด

'ผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสาร'อาชีพเนื้อหอมยุคโควิด

'ผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสาร'อาชีพเนื้อหอมยุคโควิด ที่ทุกสังคมเปลี่ยนไปสู่ นิว นอร์มอล เทคโนโลยีจึงมีบทบาทสำคัญกับการดำเนินชีวิตของผู้คนมากขึ้น

การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในตลาดงานดิจิทัลของเอเชีย ท่ามกลางกระแสการทำงานผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น ล่าสุด บริษัทเอ็นอีซี ของญี่ปุ่น ตั้งเป้าว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเข้ามาอยู่ในองค์กรประมาณ 5,000 คน เช่นเดียวกับโอซีบีซี ของสิงคโปร์ที่ว่าจ้างพนักงานในสายงานนี้จำนวนกว่า 3,000 คน

ก่อนจะเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ปวดหัวกับปัญหาขาดแคลนแรงงานด้านเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสาร ส่วนหนึ่งเป็นเพราะได้ค่าจ้างแรงงานถูก แต่การระบาดของโควิด-19 บังคับให้ภาคธุรกิจจำเป็นต้องเร่งแก้ปัญหานี้

มีบริษัทมากขึ้นที่จะเผชิญหน้ากับการขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีล้ำสมัยหลังเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 แต่ยังมีด้านบวกที่การเปลี่ยนผ่านดิจิทัลที่เป็นผลพวงจากการระบาดของโควิด-19 กำลังเป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ "โยสุเกะ ยาสุอิ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากสถาบันวิจัยญี่ปุ่น กล่าว

อย่างกรณีของเอ็นอีซี ที่ประกาศเมื่อเดือนก.ค.เพิ่มจำนวนพนักงานที่มีทักษะด้านเทคโนโลยีก้าวหน้าจำนวน 5,000 คนจากปัจจุบันที่มีอยู่ประมาณ 3,000 คน เนื่องจากมีลูกค้าของบริษัทมากขึ้นที่ต้องการคำปรึกษาเชิงกลยุทธด้านเทคโนโลยีดิจิทัลช่วงที่โรคโควิด-19กำลังแพร่ระบาด

“เราได้รับการสอบถามเกี่ยวกับการให้คำปรึกษาด้านการเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบดิจิทัลมาตลอด นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19”อะยาโกะ ทากากิ ตัวแทนบริษัทเอ็นอีซี ซึ่งกำกับดูแลด้านลูกค้าสัมพันธ์ กล่าว

เมื่อเดือนม.ย.เอ็นอีซี เริ่มเสนอคอร์สอบรมที่มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มทักษะด้านดิจิทัลให้แก่พนักงาน ผ่านความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเคอิโอะในกรุงโตเกียว และมีพนักงานของบริษัทประมาณ 100 คนเข้าร่วมอบรมในแต่ละปี

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่บริษัทญี่ปุ่นจะหันมาเน้นการฝึกอบรมพนักงานด้านเทคโนโลยีเฉพาะด้าน อาทิ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์(เอไอ)และความปลอดภัยด้านดิจิทัล คอร์สการอบรมใหม่จะช่วยเพิ่มทักษะด้านการออกแบบสำหรับภาคอุตสาหกรรมดิจิทัล แม้ว่าบรรดาตัวแทนฝ่ายขายจะเคยชินเกี่ยวกับการออกแบบในอุตสาหกรรมดิจิทัลและสามารถอธิบายให้ลูกค้าเข้าใจระบบการทำงานอย่างดีแล้วก็ตาม

“เคนจิ ฮิราตะ“ พนักงานเอ็นอีซี ซึ่งมีส่วนร่วมกับโครงการนี้ กล่าวว่า ”ความรู้ ความเข้าใจด้านเอไอและเทคโนโลยีล้ำสมัยของผมยังไม่เพียงพอที่จะเสนอทางออกทางธุรกิจแก่ลูกค้าของเรา โครงการนี้ช่วยให้ผมเข้าใจระบบการออกแบบและนำเทคโนโลยีนี้ไปปรับใช้กับธุรกิจของลูกค้า เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาด”

นอกจากนี้ เพื่อดึงดูดแรงงานที่มีความสามารถด้านเทคโนโลยีและการวิจัยเข้ามาอยู่ร่วมกับองค์กรให้ได้มากที่สุด เอ็นอีซีจะเสนอโครงสร้างการว่าจ้างผู้มีคุณสมบัติใหม่ที่บริษัทหวังว่าจะช่วยสะท้อนมูลค่าทักษะของพวกเขาในตลาดแรงงาน และระบบการจ่ายชดเชยรูปแบบใหม่นี้จะใช้กับพนักงานที่ได้รับการว่าจ้างเริ่มในเดือนเม.ย.ปีหน้า

อย่างไรก็ตาม ทากากิ บอกว่า การทาบทามแรงงานที่มีทักษะด้านเทคโนโลยีจากมหาวิทยาลัยต่างๆและบริษัทอื่นๆยังไม่เพียงพอ และบริษัทเชื่อว่า การฝึกอบรมพนักงานขายและวิศวกรภายในองค์กรเป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายกว่าการกว้านหาพนักงานที่มีคุณสมบัติด้านนี้จากภายนอก

ขณะที่ฟูจิตสึ คู่แข่งหลักของเอ็นอีซี เริ่มเสนอโครงการอบรมทางออนไลน์ฟรีประมาณ 9,000 คนในปีงบการเงินนี้แก่พนักงานของบริษัทในญี่ปุ่น เพื่อปรับปรุงขีดความสามารถด้านเอไอและการจัดทำโปรแกรมต่างๆของบริษัท อีกทั้งบริษัทยังวางแผนเพิ่มการใช้จ่ายด้านการฝึกอบรมเป็นสองเท่าเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

เทรนด์นี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่บริษัทเทคโนโลยีแบบดั้งเดิมเท่านั้น ในอุตสาหกรรมเหล็ก ที่ความต้องการปรับตัวลงอย่างมากเพราะการระบาดของโรคโควิด-19 บังคับให้ผู้ผลิตเหล็กมองหาทางเลือกใหม่ๆ ซึ่งเจเอฟอี ผู้ผลิตเหล็กชื่อดังสัญชาติญี่ปุ่น ตั้งเป้าฝึกอบรมนักวิทยาศาสตร์ด้านข้อมูลประมาณ 350 คน ภายในปลายปีงบการเงิน 2563 เพื่อลดปัญหาความผิดพลาดในสายการผลิต

ในปี 2564 มิตซุย สุมิโตโมะ อินชัวแรนซ์ จะเริ่มขายข้อมูลเกี่ยวกับอุบัติเหตุทางรถยนต์และหายนะภัยทางธรรมชาติแก่รัฐบาลในท้องถิ่น โดยขณะนี้บริษัทกำลังเริ่มฝึกอบรมตัวแทนฝ่ายขายเพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจในการขายข้อมูล และในการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยโตโย และมหาวิทยาลัยเกียวโต บริษัทประกันชื่อดังของญี่ปุ่นรายนี้ ได้พัฒนาคอร์สฝึกอบรมโดยไม่คิดค่าอบรมนาน3-10 วัน เพื่อช่วยให้พนักงานได้เรียนรู้เกี่ยวกับการใช้โดรนเก็บรวบรวมข้อมูลและเทอร์มินอลอุปกรณ์สวมใส่

พนักงานประมาณ 600 คนจะเข้ารับการอบรมภายในปลายเดือนมี.ค.ปี 2564 ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว มิตซุย สุมิโตโมะ มีแผนให้พนักงานฝ่ายขาย 5,500 คนเตรียมเข้าลงทะเบียนในโครงการนี้และจะเพิ่มงบฯด้านการฝึกอบรมประมาณ 50% ในปีงบการเงินปี 2564 ขณะที่บริษัทฮิตาชิก็เริ่มฝึกอบรมด้านดิจิทัลให้แก่พนักงาน 160,000 คนในเดือนเม.ย.

กระทรวงเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ระบุว่า ในปี 2561 เกือบ 90% ของบริษัทญี่ปุ่นเจอปัญหาขาดแคลนแรงงานด้านเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นเพื่อสนับสนุนข้อมูลข่าวสารด้านดิจิทัล ขณะที่การพัฒนาเทคโนโลยีด้านดิจิทัลยังคงเดินหน้าต่อไป แต่การระบาดของโรคโควิด-19 เป็นปัจจัยปรับรูปแบบการหาทุนของบริษัทต่างๆ ประกอบกับตลาดแรงงานอยู่ในภาวะตึงตัวจึงทำให้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีรุนแรงยิ่งขึ้น