'ไพบูลย์' จ่อยื่นศาล รธน. ตีความลายมือชื่อแก้ รธน.ซ้ำ
การประชุมร่วมรัฐสภา พิจารณาแก้ รธน. "ไพบูลย์" จ่อยื่นศาล รธน. ตีความลายมือชื่อ ส.ส. ที่ซ้ำกัน ระบุเข้าข่ายปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
เมื่อวันที่ 23 ก.ย. 63 ที่ประชุมร่วมรัฐสภา เริ่มเข้าสู่การพิจารณาเรื่องด่วน คือ ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ. .... ซึ่งมี ส.ส.ร่วมกันเข้าชื่อทั้งสิ้น 6 เรื่อง ทั้งนี้ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ฐานะประธานที่ประชุมได้แจ้งจำนวนสมาชิกรัฐสภา ที่มีอยู่ คือ จำนวน 737 คน แบ่งเป็น จำนวนส.ส. 487 คน และ ส.ว. 250 คน
ทั้งนี้ ก่อนการเข้าสู่พิจารณา นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ หารือกับที่ประชุมต่อประเด็นญัตติที่เสนอให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยความชอบของการเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่พบปัญหาการลงลายมือชื่อ คือ เข้าข่ายการลงลายมือชื่อแทนกัน ซึ่งทราบว่า นายสมชาย แสวงการ ส.ว.จะตรวจสอบเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ญัตติที่เสนอซึ่งต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภาไม่ได้รับการบรรจุในระเบียบวาระ เพราะ นายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร วินิจฉัยว่าไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามกฎหมาย อาจเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่มิชอบ แต่เพื่อเพื่อรักษาหลักการของรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ขอให้ทบทวนการไม่บรรจุในญัตติที่ตนเสนอ
นายชวน ชี้แจงว่า ญัตติตกไป เพราะฝ่ายเลขาธิการสภาฯ พิจารณากรณีเป็นพิเศษ โดยเรียกประชุมฝ่ายกฎหมายทั้งหมดของสภาและทำความเห็นเสนอคือ กฎหมายเสนอ 4 ฉบับ ลงชื่อซ้ำ ข้อมูล กฎหมายทั้ง 4 ฉบับนั้นเป็นคนละเรื่องและคนละหลักการ ดังนั้นการลงชื่อซ้ำนั้นไม่มีกฎหมายใดห้ามไว้ ทั้งนี้การสืบค้นพบว่ามีการเสนอกฎหมายและมีผู้ลงลายมือชื่อซ้ำและไม่เคยมีปัญหาต่อการตีความ ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 10 บังคับไว้ด้วยว่า การประชุมรัฐสภาให้เป็นไปตามมาตรา 156 คือ การประชุมรัฐสภาจะมีสิทธิพิจารณา16 เรื่องที่ประชุมร่วมกันได้ ดังนั้นญัตติที่ นายไพบูลย์เสนอนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ
“ผมไม่ได้มองว่าถ่วงเวลา หรือเจตนาถ่วงให้รัฐธรรมนูญ หากเลือกบรรจุ สวนกับฝ่ายกฎหมายของสภา เข้าใจว่าแนวปฏิบัติไม่มีปัญหาว่าคนเดียวลงชื่อหลายฉบับว่ามีปัญหาข้อกฎหมายหรือไม่ หากบรรจุเรื่องนี้จะขัดรัฐธรรมนูญ ดังนั้นจึงเสี่ยงที่จะสวนความเห็นฝ่ายปฏิบัติ และเมื่อไตร่ตรองแล้ว จึงไม่ได้รับญัตติ และขอให้จบเรื่องนี้ และผ่านไปเพราะกังวลว่าจะทำให้เสียเวลาการประชุมในวันสุดท้าย” นายชวน กล่าว
นายไพบูลย์ โต้แย้งด้วยว่า การวินิจฉัยเรื่องลงลายมือชื่อซ้ำกับญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ฝ่ายกฎหมายของสภาฯ จะวินิจฉัยได้ แต่เป็นเรื่องของศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้น 157 การประชุมรัฐสภา ให้เป็นไปตามข้อบังคับการประชุมข้อ 31 ที่ระบุว่าเสนอญัตติให้รัฐสภาส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ตนจะยื่นศาลรัฐธรรมนูญต่อไป
จากนั้น นายชวน ย้ำในตอนท้ายว่า "ขอให้มั่นใจว่าไม่มีการเลือกปฏิบัติ ฝ่ายเลขาธิการสภาฯ ไม่มีเจตนากลั่นแกล้ง อย่างไรก็ตามญัตติที่เสนอก่อนหน้า และญัตติที่เสนอด้วยวาจาไม่ถือว่าเป็นญัตติที่รัฐสภาพิจารณา จึงไม่สามารถพิจารณาได้ และเข้าสู่การพิจารณาตามวาระ"