กูรูแนะแบรนด์เร่งสปีดเสริมแกร่ง 'อีคอมเมิร์ซ'
ตลาดที่กำลังพุ่งไปข้างหน้าในปีก่อนกลับต้องหยุดชะงักลงแบบไม่มีใครคาดคิดว่ารอบปี 2563 ประเทศไทยและทั่วโลกจะต้องเผชิญวิกฤติและความท้าทายครั้งใหญ่ในการต่อสู้และนำพาธุรกิจฝ่าไวรัสร้าย “โควิด” ให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้ท่ามกลางผลกระทบรุนแรง
วิกฤติการโควิดทำให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างไม่ปกติ! กระทบกำลังซื้อและเศรษฐกิจถ้วนหน้า แม้สถานการณ์จะผ่าน “จุดต่ำสุด” แต่ระหว่างทางจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากแนวโน้มการระบาดรอบใหม่ ขุมทรัพย์ใหญ่ ตลาดนักท่องเที่ยวหายไป! ขณะที่เทรนด์เติบโตของเทคโนโลยีดิจิทัลถูกนำมาประยุกต์ใช้เพื่อเสริมสร้างรายได้ ยอดขาย ผ่านแพลตฟอร์ม “อีคอมเมิร์ซ” จะทวีความสำคัญยิ่งขึ้น ซึ่งวันนี้หากยังไม่เริ่ม อาจต้องนับถอยหลังเลยทีเดียว
วานนี้ (23 ก.ย.) กรุ๊ปเอ็ม (ประเทศไทย) กลุ่มบริษัทบริหารจัดการการลงทุนสื่อระดับโลกในเครือ ดับบลิวพีพี (WPP) จัดงานสัมมนาการตลาดดิจิทัล FOCAL 2020 ปีที่ 10 ภายใต้ความร่วมมือกับเอเยนซีในเครือได้แก่ มายด์แชร์ มีเดียคอม เวฟเมคเกอร์ เอ็มซิกส์ และมิ้นท์ รวมทั้งนักการตลาด นักกลยุทธ์ ฉายภาพและทิศทางการตลาดดิจิทัลใน 12 เดือนข้างหน้า
นิคลาส สตอลเบิร์ก ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กรุ๊ปเอ็ม (ประเทศไทย) กล่าวว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดปีนี้สร้างยากลำบากและทำให้ธุรกิจมีความซับซ้อนยิ่งขึ้น แต่เชื่อว่าแนวโน้มเศรษฐกิจจะไต่ระดับฟื้นตัวดีขึ้น โดยนักการตลาด ผู้ประกอบการธุรกิจต้องปรับกลยุทธ์รอบด้านให้สอดรับสถานการณ์
ศิวัตร เชาวรียวงษ์ ประธานกรรมการบริหาร กรุ๊ปเอ็ม (ประเทศไทย) กล่าวเสริมว่า วิกฤติโควิดส่งผลต่อพฤติกรรมผู้บริโภค โดยเฉพาะการตัดสินใจและการซื้อสินค้าเปลี่ยนแปลงไป แนวทางสำคัญของ กรุ๊ปเอ็ม ลูกค้า
และพันธมิตร มุ่งใช้ "ดาต้า" จากหลายแหล่งเพื่อวิเคราะห์และตัดสินใจปรับเปลี่ยนรูปแบบการสื่อสาร การตลาดให้สอดคล้องกับพฤติกรรมใหม่เพื่อสร้างยอดขายจากช่องทางใหม่ๆ
นับเป็นช่วงเวลาสำคัญสำหรับนักธุรกิจ และนักการตลาด หากสามารถพัฒนาเครื่องมือใหม่ๆ ทำการตลาดในยุคนิวนอร์มอลได้ดียิ่งขึ้นจะเป็นแรงขับสำคัญผลักดันประเทศไทยเดินหน้าไปพร้อมกัน
"นักการตลาด ต้องให้ความสำคัญของการใช้ดาต้าเพื่อวางแผนกลยุทธ์ให้เฉียบคมมากขึ้น ทั้งการวางแผนงานธุรกิจผ่านสื่อดิจิทัล การใช้เทคโนโลยี การลงทุนด้านสื่อที่คุ้มค่า เพื่อ่ช่วยสร้างยอดขายที่มีประสิทธิภาพ เช่น การใช้อีคอมเมิร์ซ การสร้างคอนเทนท์ และงานครีเอทีฟ"
ขณะที่ บทบาทของเอเยนซี จะต้องขยายมิติการทำงานช่วยลูกค้าพัฒนาธุรกิจและ “ขายของ” มากขึ้น จากที่ผ่านมาอาจคุยภาษามีเดีย เน้นวางแผนสื่อเป็นหลัก! ต้องเพิ่มโฟกัสยอดขาย คำสั่งซื้อ รวมทั้งเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป การเชื่อมโยงต่างๆ ผลักดันให้การซื้อการขายคล่องตัว ใช้งบอย่างมีประสิทธิภาพ เรียกว่าทั้งเอเยนซีและลูกค้าต้องหาสูตรให้เจอในการเพิ่มยอดขายต้องใส่อะไรเข้าไปบ้าง การสร้างความยืดหยุ่นของการทำราคา แพ็กเก็จ หน้าร้าน โปรโมชั่น นอกเหนือจากข้อความสื่อสาร หรือโฆษณา ช่องทางสื่อในการโฆษณา
รวมถึงการสร้างพันธมิตรใหม่ๆ มีการเชื่อมโยงโฆษณาและยอดขายที่ต้องต้องออกแบบโปรโมชั่นใส่ “โค้ด” ให้ติดตามผลได้ จะเห็นได้จากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ซึ่งโค้ดเหล่านี้ลูกค้าได้ส่วนลด ขณะที่นักการตลาดได้ดาต้า!
ศิวัตร ยกตัวอย่าง ลูกค้ารายหนึ่งมีช่องทางขายผ่านรีเทล แต่เมื่อห้างปิดยอดขายรีเทลหาย! โชคดี ลูกค้าทำตลาดผ่าน “อีคอมเมิร์ซ” อยู่แล้ว ก่อนโควิดมียอดขายไม่มาก แต่เมื่อห้างปิด อีคอมเมิร์ซเป็นความหวังเดียว นำมาสู่การแปรงบหันมาบุกอีคอมเมิร์ซเต็มตัว ดันยอดขายพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ เมื่อยอดขายมา สามารถนำพาไปสู่การวางแผนผลิตเพิ่มในวอลุ่มที่ใหญ่ขึ้นต้นทุนต่อหน่วยลดลง ส่งผลต่อโครงสร้างต้นทุนที่เปลี่ยนไป กำไรดีขึ้น ธุรกิจสามารถปรับเป้าหมายยอดขายและกำไรใหม่
แน่นอนว่า ยอดขายที่เพิ่มขึ้นและแนวทางการต่อยอดต้องย้อนกลับไปดูว่าการเพิ่มขึ้นมาจากสื่อที่ใช้ไปจริงหรือไม่ มาเองหรือมาจากโฆษณา ลงโษณาเท่านี้ได้ผลเท่าไร? จะลงมากขึ้นไหมเพื่อยอดขายเพิ่มขึ้น หรือกรณี สินค้าขายได้น้อยลง ควรประหยัดงบโฆษณาเพื่อคงกำไร หรือลงเพิ่มขึ้นเพื่อรักษายอดขาย
คำถาม-คำตอบเชิงกลยุทธ์เหล่านี้ มาจาก “ฐานข้อมูล” หรือ บิ๊กดาต้า ที่เป็นกุญแจสำคัญทำให้ได้คำตอบและตัดสินใจได้ง่ายขึ้น!
ปัจจุบัน สถานการณ์ตลาดพบว่าเม็ดเงินโฆษณาในสื่อดิจิทัลไม่ต่างจากภาพใหญ่ นั่นคือ รถยนต์ ธนาคาร อสังหาริมทรัพย์ ล้วนประหยัดงบ! แต่หลายแคธิกอรี อย่างสกินแคร์ สินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG) ย้ายงบจากสื่ออื่นมาสู่ดิจิทัล และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต! ตามเทรนด์คนไทยคุ้นชินกับการใช้สื่อดิจิทัล นอกจากโซเชียลมีเดียในชีวิตประจำวัน แต่เกิดการใช้และเติบโตระดับชุมชน หรือหน่วยย่อยทางเศรษฐกิจของแต่ละจังหวัดมากขึ้น
ธนาวัฒน์ มาลาบุปผา นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด ฉายภาพต่อว่า ผู้บริโภคมีความคุ้นชินในการใช้เทคโนโลยีออนไลน์ขณะที่แบรนด์หรือธุรกิจก้าวสู่แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซมากขึ้นและมีการแข่งขันรุนแรงต่อเนื่องโดยเฉพาะหลังยุคโควิดจะขับเคลื่อนธุรกิจอีคอมเมิร์ซเติบโตไปพร้อมกับสร้างความยั่งยืนอย่างไรเป็นโจทย์ใหญ่
ปัจจุบัน ภาพรวมอีคอมเมิร์ซโลก ขยายสัดส่วนมากขึ้นเทียบค้าปลีก (ออฟไลน์) โดยตลาดใหญ่สุุดคือ “จีน” มีสัดส่วน 24% ยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐ มีสัดส่วนราว 11% ขณะที่ “ไทย” มูลค่าอีคอมเมิร์ซเทียบสัดส่วนค้าปลีกมีเพียง 2% เท่านั้น จะเห็นว่าตลาดมีศักยภาพและโอกาสเติบโตไปอีกไม่กี่ปีข้างหน้าคาดว่าเพิ่มขึ้น 10 เท่าตัว
อีคอมเมิร์ซไทย ปีที่ผ่านมา มีมูลค่า 163,000 ล้านบาท ปี 2563 คาดเติบโต 35% แตะ 220,000 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้พฤติกรรมการช้อปปิงออนไลน์ของคนไทย มาจาก 3 ช่องทางหลัก มาร์เก็ตเพลส สัดส่วน 47% โซเชียลคอมเมิร์ซ 38% และ ออนไลน์รีเทลเลอร์ หรือ แบรนด์ดอทคอม 15%
"โควิดเป็นตัวเร่งให้คนไม่เคยซื้อของออนไลน์มาทดลองซื้อ มีผลวิจัยระบุว่าคนทดลองแล้วติดใจ ซึ่ง 80% แม้ห้างจะเปิดหรือทุกอย่างกลับมาปกติ แต่จะยังช้อปอีคอมเมิร์ซต่อไป สอดคล้องกับแอพพิลเคชั่นยอดฮิต คือ บรรดาช้อปออนไลน์ ที่ติดท็อปเทรนด์"
อย่างไรก็ตาม เวลานี้ไทยถูกอิทธิพลของแพลตฟอร์มจากต่างประเทศเข้ามามีบทบาทมาก โดยเฉพาะจีน ทั้ง อาลีบาบา เทนเซนต์ ลาซาด้า เจดีเซ็นทรัล เทรนด์จากนี้เชื่อว่า แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจะเกิด “คอนเวอร์เจนซ์ แพลตฟอร์ม” หรือมุ่งเข้ามาหากันมากขึ้น เพื่อสร้างความครบถ้วนในกระบวนการให้บริการครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำจรดปลายน้ำของอีโคซิสเต็มส์อีคอมเมิร์ซ
จะเห็นว่า แพลตฟอร์มที่มีอิทธิผลคือแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ทั้งสิ้น แต่การจะเติบโตได้ก็ต้องขยับตัวเองในการส่งมอบคุณค่าให้ผู้บริโภคมากขึ้นกว่าเดิม ยกตัวอย่าง กูเกิลจากเป็นเสิร์ชเอ็นจิ้น เวลานี้กูเกิลมี “ทุกขา” จนถึงโลจิสติกส์ แม้แต่ธนาคารก็เข้ามายังแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซและก้าวสู่ “เทคคอมปะนี” ใช้เทคโนโลยีขับเคลื่อนธุรกิจแทนการทำหน้าที่ธุรกรรมทางการเงินเพียงอย่างเดียว
เกมของแพลตฟอร์มอีคอมเมิรซ์ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า จะมีการขยายออกทั้งฝั่งซ้ายขวา เป็นเทรนด์ส่งต่อในปี 2564 จะเห็นโมเดลหรือแพลตฟอร์มธุรกิจแบบนี้มากขึ้น
ประโยชน์ของ “อีคอมเมิร์ซ” ไม่เพียงทำหน้าที่เพิ่มช่องทางการขาย สร้างรายได้ใหม่ให้กับธุรกิจ แต่สามารถต่อยอด สร้างโอกาสเพิ่มจาก "บิ๊กดาต้า" เป็นบันไดก้าวสู่โมเดลธุรกิจใหม่จาก "ออนไลน์" ไป "ออฟไลน์" หรือ "ออฟไลน์" สู่ "ออนไลน์" แม้กระทั่ง "ออนไลน์" ขยายสู่รูปแบบดิจิทัลออนไลน์อื่นๆ