รมว.พม. แนะ พมจ.ทั่วประเทศ ดึง One Team จังหวัด แก้ปัญหาระดับพื้นที่
รมว.พม. แนะ พมจ.ทั่วประเทศ ดึง One Team จังหวัด ร่วมแก้ปัญหาสังคมภายใต้ภาวะปกติใหม่ Up Skill, Re Skill & New Skill เสริมสร้างความสัมพันธ์ของผู้บริหารหน่วยงานระดับจังหวัด เสริมศักยภาพ ความรู้ ทักษะการทำงานทางสังคม
วันนี้ (24 ก.ย. 63) เวลา 11.00 น. ที่ห้องแม่น้ำแกรนด์ โรงแรมแม่น้ำ รามาดา กรุงเทพมหานคร นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานเปิดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพ พมจ. : Up Skill, Re Skill & New Skill เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ของผู้บริหารหน่วยงานระดับจังหวัด และเสริมสร้างศักยภาพของความรู้ และทักษะในการทำงานทางสังคม
เพื่อการแก้ปัญหาในระดับพื้นที่ ตลอดจนสร้างความรับรู้ ความเข้าใจ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการปฏิบัติงานในหน้าที่พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด พร้อมทั้งบรรยายพิเศษ หัวข้อ “ความท้าทายในการทำงานภายใต้ภาวะปกติใหม่ของ พม. 2564” โดยมีผู้บริหาร พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) 76 จังหวัด และผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการ 1 – 11 จากทั่วประเทศ เข้ารับการอบรม
นายจุติ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทย มีประเด็นความท้าทายการพัฒนาในหลายมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติทางสังคม อาทิ การแก้ไขปัญหาด้านความยากจนและความเหลื่อมล้ำ การพัฒนาคุณภาพการให้บริการ และการขยายโอกาสในการเข้าถึงสวัสดิการสังคมของรัฐ เป็นต้น นอกจากนี้ สถานการณ์สังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่มีสัดส่วนประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ได้ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชากรไทยทุกช่วงวัย และ ทุกกลุ่มเป้าหมาย
สำหรับกระทรวง พม. ในฐานะหน่วยงานภาครัฐด้านสังคมที่มีบทบาทสำคัญในการจัดระบบสวัสดิการสังคม ที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศ และสร้างเสริมเครือข่ายให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคม เพื่อให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมายตั้งแต่เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส มีหลักประกันและมีความมั่นคงในชีวิตอย่างยั่งยืน โดยมีกลไกในการขับเคลื่อนงานในระดับจังหวัดผ่านสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พมจ.) ทั่วประเทศ และสำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการ (สสว.) 11 แห่ง
ทั้งนี้ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการเตรียมความพร้อมสำหรับการปฏิบัติงานในระดับพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพ พมจ. : Up Skill, Re Skill & New Skill
นายจุติ กล่าวต่อไปว่า ตนขอขอบคุณ พมจ. ทุกคนที่ได้ทำหน้าที่เต็มที่อย่างดีมากในการช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ ยกตัวอย่างเช่น พมจ. สงขลา เข้าไปช่วยเหลือเด็กที่ถูกละเมิดทางเพศและจัดการทุกอย่างเสร็จเรียบร้อยก่อนที่จะเป็นข่าว ซึ่งเราใช้ระบบดูแลกันในพื้นที่ ด้วย One Team ที่เป็นทีมหน่วยงานภาคีเครือข่ายในจังหวัดช่วยกันทำทุกอย่าง แต่ไม่สามารถลงข้อมูลรายละเอียดในสื่อได้ทั้งหมด ทั้งนี้ อยากให้ พมจ. มานั่งประชุมกับหน่วยงานสังกัดกระทรวง พม. ในจังหวัด แล้วรวบรวมผลงานและความก้าวหน้าของแต่ละหน่วยงาน จากนั้นส่งแผนงานมายังกระทรวง พม. ในส่วนกลาง โดยตนอาจจะเพิ่มเติมความคิดเห็นลงไป เพื่อนำไปเป็นแผนงานในการดำเนินงานต่อไป
สำหรับระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของกระทรวง พม. เราต้องเดินไปข้างหน้าและต้องเป็นผู้นำซึ่งตนพยายามขับเคลื่อนงานดังกล่าว โดยขอให้บูรณาการเชื่อมโยงกันระหว่างทุกกรม และในส่วนของ พมจ. ขอให้นำข้อมูลกลุ่มเป้าหมายเข้าสู่ระบบดิจิตอลให้เรียบร้อย เมื่อเวลามีปัญหา เราจะสามารถแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด อีกทั้งเราต้องเปลี่ยนการช่วยเหลือ การสงเคราะห์ให้เป็นสวัสดิการที่ยั่งยืน นำไปสู่การเป็นรัฐสวัสดิการ และตนอยากให้มีการลงพื้นที่กันอย่างจริงจัง ทั้ง พมจ. และ กระทรวง พม. ในส่วนกลาง เพื่อช่วยกันทำงานในการแก้ปัญหาร่วมกันอย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
"นอกจากนี้ สิ่งที่ตนได้เรียนรู้จากการลงพื้นที่ คือ ประชาชนไม่ได้ต้องการถุงยังชีพ แต่ต้องการคนที่รับฟังปัญหา และเมื่อไปลงพื้นที่แล้ว เราต้องแก้ปัญหาให้ได้ เพื่อการดูแลกลุ่มเป้าหมายอย่างทั่วถึง" นายจุติ กล่าว