ลัทธิ (แก้) รัฐธรรมนูญ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ลัทธิ (แก้) รัฐธรรมนูญ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ย้อนเวลาส่องต้นกำเนิดการประกาศใช้และการแก้ "รัฐธรรมนูญ" ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับแรกของหลายประเทศเขียนขึ้นในช่วงใกล้ๆ กัน โอกาสพ้นการเป็นอาณานิคมในครึ่งหลังของศตวรรษ 20 แล้วรัฐธรรมนูญของไทยที่เวียนแก้ 22 ครั้งแล้วนั้นเป็นอย่างไร?

ปลดปล่อยตัวเองได้แล้ว ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหลาย!

จากรัฐธรรมนูญที่เดินตามแบบ “เจ้าอาณานิคม” สเปน อังกฤษ ฝรั่งเศส และสหรัฐ

อินโดนีเซียใช้เวลา 20 วันเขียนรัฐธรรมนูญฉบับแรก ปี 1945 เพื่อแก้ไขใน 2 ปีต่อมา และจากนั้นแก้ไขหลายครั้งจนถึงฉบับปัจจุบัน

เหตุที่ต้องรีบเขียนก็เพราะต้องรีบใช้ ชนชั้นผู้นำอยากประกาศเอกราชพ้นการเป็นอาณานิคมของฮอลันดาเร็วที่สุด

เช่นเดียวกับฟิลิปปินส์ รัฐธรรมนูญฉบับแรกเขียนเร็ว ปี 1935 ก็เพื่อใช้ในโอกาสเป็นเอกราชจากสหรัฐ

ติดตามด้วยเวียดนาม ลาว และกัมพูชา ซึ่งเป็นเอกราชจากจักรวรรดินิยมฝรั่งเศสเร็วช้าต่างกัน เวียดนามต่อสู้ยาวนานแสนเข็ญ เพราะฝรั่งเศสไม่ยอมปล่อยเป็นประการแรก และต่อมาเพราะมหาอำนาจสมคบกัน โดยเฉพาะสหรัฐที่ต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์

เวียดนาม โดยพรรคคอมมิวนิสต์ (เวียดมินห์) เขียนรัฐธรรมนูญฉบับแรกขึ้นปี 1945 ประกาศเอกราชและผ่านรับรองประกาศใช้ปี 1946 แต่กว่าพรรคคอมมิวนิสต์จะทำสงครามปราบฝรั่งเศสราบเป็นหน้ากลองที่เดียนเบียนฟูก็อีกเกือบ 10 ปีต่อมา ในปี 1954 ด้วยสนธิสัญญาเจนีวาที่มหาอำนาจสุมหัวแบ่งเวียดนามเป็น 2 ซีก จึงเกิดรัฐธรรมนูญปี 1956 ฉบับระบบประธานาธิบดีสำหรับเวียดนามใต้และรัฐธรรมนูญฉบับระบบสังคมนิยมของเวียดนามเหนือปี 1959 กว่าจะได้รัฐธรรมนูญสังคมนิยมฉบับเดียวกันปี 1976 ก็เมื่อรวมเหนือใต้เข้าด้วยกัน อานิสงส์หนึ่งหลังรวมประเทศคืออัตราเกิดพุ่งสูง วันนี้ประชากรเวียดนาม 96 ล้านคนเป็นหนุ่มสาววัยทำงานสัดส่วนมากกว่าไทยที่กำลังย่างเข้าสังคมชราภาพ

พรรคลาวอิสระประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรกปี 1945 แก้ไขครั้งสำคัญปี 1957 กัมพูชานั้นช้ากว่าเพื่อนเพราะฝรั่งเศสเข้าครองอีกหลังปี 1945 กว่าจะเป็นเอกราชมีรัฐธรรมนูญฉบับแรกปี 1947

สามประเทศนี้จักรวรรดินิยมฝรั่งเศสเรียกว่า “รัฐร่วมในสหภาพฝรั่งเศส” (Etats associes dans le cadre de l'Union francaise) โดยจัดให้รัฐธรรมนูญมีพระมหากษัตริย์ซึ่งปรับแก้ไปตามจังหวะพลังการต่อสู้เพื่อเอกราชของแต่ละประเทศ จนกระทั่งในลาวและเวียดนาม ระบอบกษัตริย์ได้จบสิ้นลงเด็ดขาด

ด้วยกัมพูชามีกษัตริย์สีหนุผู้มีสีสันมีอำนาจต่อรองสูงในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ กอรปกับฝรั่งเศสก็ได้ประสานประคองอำนาจร่วมตามแบบฉบับเคยทำมาตั้งแต่สมัยอาณานิคมเต็มรูปแบบ ระบอบกษัตริย์ในกัมพูชายืนหยัดผ่านหลายวิกฤติรัฐธรรมนูญมาถึงปัจจุบัน

ก็เหมือนๆ กัน รัฐธรรมนูญฉบับแรกในกลุ่มประเทศเคยเป็นอาณานิคมจักรวรรดินิยมอังกฤษ กล่าวคือรับลัทธิรัฐธรรมนูญของเจ้าอาณานิคมมาเป็นสรณะในโอกาสเป็นเอกราช  หากยกเว้นพม่าที่มีสหรัฐมาเป็นตัวแปรและปฏิเสธการอยู่ในเครือจักรภพอังกฤษ รัฐธรรมนูญฉบับแรกของพม่าปี 1948 จึงกำหนดรูปแบบรัฐเป็นระบบสาธารณรัฐ ส่วนสหภาพมลายา สิงคโปร์ และบรูไน ต้องรอคณะกรรมาธิการรีด (Commission Reid) อังกฤษตั้งขึ้นศึกษารูปแบบการปกครองหลังพ้นเป็นอาณานิคม (decolonization) โดยยังอยู่ในเครือจักรภพ กว่าจะได้ข้อสรุปก็อีกเกือบทศวรรษในปี 1957

สหพันธรัฐมลายา เขียนรัฐธรรมนูญฉบับแรกเร็วๆ เพื่อเป็นเอกราชในปีนั้น เอาตามแบบรัฐธรรมนูญอังกฤษที่ไม่ต้องเขียนลายลักษณ์มาก โดยอังกฤษช่วยจัดให้ระบอบกษัตริย์แต่ละมลรัฐหมุนเวียนตามวาระ การประชุมที่กรุงลอนดอนปี 1959 ได้เขียนร่างข้อตกลงอีกฉบับหนึ่งเรื่องสิงคโปร์ แต่แล้วในปี 1963 สิงคโปร์เปลี่ยนใจกลับเข้าร่วมสหพันธรัฐมลายา เพียงเพื่อในอีก 2 ปีต่อมาแยกตัวเป็นประเทศเอกราช มีรัฐธรรมนูญฉบับแรกปี 1965

เอาเป็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับแรกของทุกประเทศดังกล่าวเขียนขึ้นในเงื่อนไขเดียวกันช่วงใกล้ๆ กัน คือในโอกาสพ้นการเป็นอาณานิคมในครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20

นอกจากนั้น ทั้งเขียนเร็วหรือไม่เร็วนัก ทุกฉบับเขียนตามแบบรัฐธรรมนูญของประเทศที่เป็นเจ้าอาณานิคมของตนมาก่อน แล้วแก้ไขมาเรื่อยๆ

ไล่เรียงตั้งแต่อินโดนีเซียที่เดินตามกฎหมายรัฐธรรมนูญของฮอลแลนด์ ถึงขนาดเอาตามรูปแบบสหพันธรัฐเพียงแต่ไม่ทันได้ใช้จริง หันมารับอิทธิพลสหรัฐ จึงสมาทานระบบอเมริกันหลายอย่าง แก้ไขกันมาเรื่อยๆ เช่น บรรจุกฎหมายทางศาสนา (shariah) ตลอดจนขนบดั้งเดิมอาดัต (adat)

รัฐธรรมนูญฉบับแรกของฟิลิปปินส์นั้นหรือรับแม่แบบจากสหรัฐ ที่ก็มีมรดกกฎหมายสเปนซึ่งก็คือเจ้าอาณานิคมเจ้าแรกของฟิลิปปินส์ด้วย รวมทั้งอิทธิพลกฎหมายของอังกฤษ

กล่าวได้ว่าในกลุ่มประเทศเคยเป็นอาณานิคมจักรวรรดินิยมฝรั่งเศสและอังกฤษ รัฐธรรมนูญฉบับแรกที่เขียนและแก้ไขใช้มาถึงปัจจุบันต่างลอกรับแบบฉบับกฎหมายรัฐธรรมนูญสองตระกูลใหญ่ คือตระกูลโรมัน-เยอรมานิก (Romano-Germanic) ได้แก่ ฮอลแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี สเปน เป็นต้น และตระกูลคอมมอนลอว์ (Common Law) ของอังกฤษ โดยมีรัฐธรรมนูญอเมริกันระบบลูกผสมทั้งแบบคอมมอนลอว์และโรมัน-เยอรมานิกเข้ามามีอิทธิพลด้วย

แล้วรัฐธรรมนูญของไทยเล่า?

จากมุมมองข้างต้น ด้วยรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทยก็เขียนขึ้นในกรอบกฎหมายรัฐธรรมนูญสองตระกูลใหญ่ คือทั้งแบบโรมัน-เยอรมานิกและคอมมอนลอว์ ไทยจึงถูกรวมเป็นกลุ่มประเทศถูก “ดับเบิลอาณานิคม” (แปลจาก “Pays doublement colonises, le choix de systems mixtes” ผู้สนใจดู L'Asie du Sud-Est 2020, IRASEC, หน้า 35) แบบเดียวกับอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์

มองจากมุมนี้ก็เลยรู้สึกขึ้นมาทันที

ไม่ว่าเราจะเวียนแก้รัฐธรรมนูญแล้ว 22 ครั้ง เวียนเขียนรัฐธรรมนูญมาแล้ว 20 ฉบับ ชนิดมีหรือไม่มี ส.ส.ร. ซึ่งดีตรงใช้งบน้อยกว่ามี มันก็วนอยู่ในอ่างเดียวกันนั่นแหละ 88 ปีมาแล้ว

จะไม่ลองยกหัวออกจากอ่างนี้ดูสักครั้งหรือ เราคนไทยที่เชื่อมาตลอดว่าไม่เคยเป็น “อาณานิคม” ของใคร?

ลองหันมองตัวเองดีๆ ว่าเราเป็นใครมาจากไหน พินิจขนบธรรมเนียมสัมพันธ์ระหว่างคนและกฎหมายการปกครองดั้งเดิมก่อนมีรัฐสยามรัฐไทย ดูความเป็นจริงแต่ละท้องถิ่น ดูกฎหมายรัฐธรรมนูญเกิดในช่วงหลังของศตวรรษที่ 20 ที่ไม่ได้เขียนตามแม่แบบกฎหมายรัฐธรรมนูญ 2-3 ตระกูลนั้น และอำนวยประเทศให้ไปได้ดี

ไม่อยากเห็นหรือ?

รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ถอดด้ามที่ไม่จำเป็นต้องอยู่ในกรอบกฎหมายรัฐธรรมนูญของประเทศ “เจ้าอาณานิคม” ใดๆ เลย