ตลาดสี่มุมเมือง อัดฉีด 4.5 พันล้าน บูมธุรกิจยุคใหม่
ดึงเทคโนโลยีเสริมแกร่งอีโคซิสเต็ม "เทรดดิชั่นนอลมาร์เก็ต" รับโลกการค้าเปลี่ยน ปูทางเติบโตยั่งยืน
ท่ามกลางการขยายตัวและเติบโตของบรรดา โมเดิร์นเทรด (Modern Trade) โดยเฉพาะเครือข่ายไฮเปอร์มาร์เก็ต ซูเปอร์มาร์เก็ต รวมทั้งการซื้อขายออนไลน์ที่ได้รับความนิยมพุ่งพรวดในห้วงโควิดต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันและจะยังคงเป็นช่องทางหลักของผู้บริโภคยุคใหม่ที่คุ้นชินกับเทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น สิ่งเหล่านี้ “ดิสรัป” เทรดดิชันนอลเทรด (Traditional Trade) หรือ การค้าขายแบบดั้งเดิม ไม่ว่าจะตลาดสดค้าปลีกค้าส่ง ตลาดกลางสินค้าต่างๆ ที่มีคำถามผุดขึ้นตลอดเวลาถึงโอกาสแห่งความอยู่รอด!
“การเปลี่ยนแปลงมาเร็วขึ้นทุกอย่าง จะอยู่รอดหรือโอกาสในการเติบโต อยู่ที่เราปรับตัวได้ทันหรือไม่ ในความเป็นเทรดดิชันนอลเทรด ก็ต้องไม่หลุดกระแสโมเดิร์นเทรด และออนไลน์ เพราะจะทำให้ปรับตัวไม่ทัน”
เจนเนอเรชันที่ 2 แห่งตลาดสี่มุมเมือง ปณาลี ภัทรประสิทธิ์ นั่งกุมบังเหียนในฐานะ “ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ” สะท้อนภาวะตลาดดั้งเดิม ซึ่งหมายรวมถึง ตลาดสี่มุมเมือง บนเส้นทางกว่า 40 ปีที่ผ่านมา ว่า เหมือนโดนเฉือนมาทีละนิด! ยิ่งต้องมาเผชิญกับสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิดเป็นปัจจัยเร่งการเปลี่ยนแแปลงเร็วขึ้น
นอกจากนี้ การขยายเครือข่ายสาขาของร้านค้าปลีกสมัยใหม่มีการแตกแขนงรูปแบบธุรกิจออกไปหลากหลาย แม้กระทั่ง “ร้านสะดวกซื้อ” วันนี้ มีทั้งผัก ผลไม้ วางขายเป็นทางเลือกใกล้บ้านสำหรับผู้บริโภค กระทบ พ่อค้า แม่ค้า ตลาดนัด ตลาดสด ซึ่งเป็นลูกค้าหลักของตลาดสี่มุมเมือง
ขณะเดียวกัน ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เป็นห้วงแห่งการเปลี่ยนผ่านของโลกเทคโนโลยี พร้อมๆ กับรูปแบบการค้าขายถูกพัฒนาไปตามบริบทของเครื่องมือที่ทันสมัย แนวคิดของพ่อค้าแม่ค้ายุคใหม่ปรับตามเทรนด์มากขึ้น ต้องการความสะดวกเอื้อต่อการยกระดับกิจการ และเข้าถึงลูกค้ารุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญกับคุณภาพ ราคาคุ้มค่า และบริการที่ตอบโจทย์ชีวิตนิวนอร์มอล
เป็นโจทย์สำคัญทำให้ตลาดสี่มุมเมืองตัดสินใจใช้งบประมาณก้อนใหญ่ในรอบ 4 ทศวรรษ มูลค่ากว่า 4,500 ล้านบาท ลงทุนพลิกโฉม ยกระดับธุรกิจ “เทรดดิชั่นนอลมาร์เก็ต”แห่งนี้ที่เชื่อว่า ยังมีศักยภาพในการเติบโตสวนทางคู่แข่งทั้งทางตรงและทางอ้อม! ภายใต้วิชั่นและเป้าหมายกรุยทางสู่ เบอร์1แห่งเอเชีย!
ในฐานะผู้นำตลาด! ตลาดสี่มุมเมืองมุ่งขับเคลื่อนธุรกิจโดยนำเทคโนโลยีมายกระดับอุตสาหกรรม นำพาทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องบนซัพพลายเชน หรืออีโคซิสเต็ม ก้าวสู่ NEW ERA ไปด้วยกัน
การพลิกโฉมตลาดสี่มุมเมืองยุคใหม่ เริ่มจากการซื้อที่ดินเพิ่ม 143 ไร่ ปัจจุบันมีพื้นที่รวม 320 ไร่ รองรับความเป็น "ศูนย์กลางค้าส่งผักผลไม้ครบถ้วน ราคายุติธรรม เปิดตลอด 24 ชั่วโมง" และ “วันสต็อปเซอร์วิส” มีพื้นที่การค้ากว่า 4,000 แผงค้า แต่ละวันมีปริมาณซื้อขายผักผลไม้ 8,000 ตันต่อวัน สร้างเม็ดเงินสะพัดกว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี รองรับผู้ซื้อกว่า 10,000 รายต่อวัน มีจำนวนผู้ขาย 3,500 รายต่อวัน จำหน่ายผักผลไม้และของสดกว่า 1,300 ชนิด ครบทุกความต้องการของผู้ซื้อ
ตลาดสี่มุมเมืองยุคใหม่วางโซนจำหน่ายชัดเจนไม่เพียงความสะดวกของผู้ค้าและลูกค้า ยังทำให้การบริหารจัดการง่ายขึ้น การจำหน่ายไม่ทับซ้อนกัน ทุกคนก็อยู่ได้ โดยแบ่งเป็น 2 โซนหลัก เริ่มจาก "ตลาดผักยุคใหม่" พื้นที่ 143 ไร่ เป็นตลาดค้าส่งผักที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ถูกปรับปรุงให้มีความทันสมัย โดยขยายพื้นที่การค้าเพิ่มอีก 30% รองรับดีมานด์ด้วย 9 ตลาด ได้แก่ อาคารรถผัก ตลาดผักปรุงรส ตลาดผักทั่วไป ตลาดผักพื้นบ้าน/คัดบรรจุ ตลาดพืชไร่ ตลาดหอม-กระเทียม-พริกแห้ง ตลาดสด รวมถึงตลาดผักต่างประเทศ และ ตลาดปลาร้าของดอง นอกจากนี้ มีโซนห้องเย็นให้บริการอีกด้วย
โซนที่ 2 “ตลาดผลไม้ยุคใหม่” พื้นที่ 113 ไร่ เตรียมเปิดตัวปลายปี 2563 เพิ่มพื้นที่การค้าอีก 45%พร้อมเชื่อมตัวอาคารตลาดผลไม้กว่า 7 ตลาดให้เสมือนอยู่ภายในอาคารเดียวกันบนพื้นที่ 50,000 ตร.ม. มีการใช้รถไฮโดรลิคประเภทต่างๆ เพื่อขนถ่ายสินค้า มีไฮไลท์ ตลาดมะม่วง! ใหญ่สุดในไทย และตลาดผลไม้ต่างประเทศ ที่มีห้องเย็นขนาดใหญ่ภายในแผงค้ารองรับการบริโภคผลไม้ต่างประเทศที่เติบโตอย่างรวดเร็ว
ตลาดสี่มุมเมือง มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น คือ “อาคารรถผัก” ขนาดใหญ่แตกต่างจากคู่แข่งตลาดค้าส่งอื่น โดยในทุกวันจะมีเกษตรกรนำผักชนิดต่างๆ จากแหล่งผลิตมาจอดขายจากท้ายรถให้กับผู้ซื้อโดยตรงกว่า 1,500 คัน เกษตรกรสามารถเลือกวันมาขายได้ตามผลผลิตที่มี เป็นการลดต้นทุน ไม่ต้องเช่าแผงค้าประจำ เพียงเสียค่าธรรมเนียมเมื่อขับรถเข้ามาขายเท่านั้น
นับเป็นการเสริมความแข็งแกร่งให้ตลาดสี่มุมเมืองที่มีความยูนีค! ทั้งขนาดความใหญ่ของพื้นที่ การเป็นฮับผักใหญ่สุดอาเซียน ประการสำคัญ “ทำเล” หัวใจของธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง ที่อยู่ใกล้กรุงเทพฯ หน้าด่านสำหรับการเข้าถึงของผู้ค้าและลูกค้า ที่กว่า 60% ของการบริโภคผักผลไม้อยู่ในกรุงเทพฯ สมุทรปราการ ปทุมธานี และนนทบุรี ฐานกำลังซื้อใหญ่
อย่างไรก็ดี สำหรับคลื่นดิสรัปมีอยู่รอบทิศทางโดยเฉพาะช้อปออนไลน์ ปณาลี มองว่าไม่กระทบตลาดค้าปลีกค้าส่งแบบดั้งเดิม และตลาดสี่มุมเมืองมากนัก เพราะลูกค้าซื้อขายเป็นคันรถระดับ “หมื่น-แสนบาท” ที่สำคัญต้องการสัมผัสและคัดสรรความสดเป็นหัวใจสำคัญในการส่งต่อ! ดิสรัปชันจึงไม่รุนแรงและเร็วเท่าบีทูซี (Business to Consumer)
ดังนั้น การเตรียมพร้อมทางด้าน “เทคโนโลยี” จะนำมาประยุกต์ต่อยอดความแข็งแกร่งของแบรนด์ตลาดค้าปลีกค้าส่งผักผลไม้ “ฮับ” แห่งเอเชียอย่างต่อเนื่อง นอกจากยกระดับมาตรฐานทางด้านสินค้า บริการ ราคา สร้างความสะดวกในการเข้าถึงลูกค้าด้วยแพลตฟอร์มต่างๆ ก่อนหน้านี้ได้มีการพัฒนาโปรเจครถเร่ และดีลิเวอรี “สี่มุมเมืองช่วยช้อป” ที่มีการใส่เทคโนโลยีดิจิทัลเข้าช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการสินค้าและบริการ รวมทั้งการเข้าถึงลูกค้า
ระหว่างนี้กำลังศึกษาเชิงลึกในแพลตฟอร์ม “อี-มาร์เก็ต” ซึ่งจะเป็นช่องทางสำคัญในการขยายตลาดสินค้าและบริการระดับภูมิภาคอย่างจริงจัง! โดยเน้นการขายบีทูบี (Business to Business)
ตลาดสี่มุมเมือง มีสถานะไม่ต่างจาก “เมือง” ที่มีผู้คนเข้ามาใช้ชีวิตหมุนเวียนกว่า 55,000 ต่อวัน เป็นแหล่งสร้างงาน สร้างอาชีพ เป็นสถานที่ให้เกษตรกรจากทั่วประเทศ เข้ามาขายสินค้าได้โดยตรงให้ “ผู้ซื้อ” ได้สินค้าสดใหม่ทุกวัน!
นับเป็นภารกิจและความท้าทายของทายาทผู้บริหารตลาดขนาดใหญ่ระดับภูมิภาคจะล้างกับดักความคิดสินค้าเทรดดิชั่นนอลเทรดไม่สดใหม่เท่าโมเดิร์นเทรดทั้งที่เทรดดิชั่นนอลมาร์เก็ตนี้มีบทบาทเป็น “ต้นน้ำ” ให้ซื้อตรงเกษตรกรต้นทาง ความเชื่อมั่่นที่มีต่อ “จุดแข็ง” ความสดใหม่ของตลาด! เป็นสะพานทอดสู่โอกาสและการเติบโตอย่างยั่งยืน