รัฐจะช่วย 'มัคคุเทศก์' ช่วงโควิด-19 ได้อย่างไร?
ปฏิเสธไม่ได้ว่า "มัคคุเทศก์" หนึ่งในอาชีพที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 อย่างมาก เมื่อภาคการท่องเที่ยวหยุดชะงัก นักท่องเที่ยวหาย และทีท่าของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังคงเห็นได้ไ้ม่ชัด จึงเกิดคำถามว่าวันนี้รัฐจะประคับประคองมัคคุเทศก์อย่างไรได้บ้าง?
ในขณะนี้กลุ่มอาชีพที่มีปัญหาเรื่องการจ้างงานมากที่สุดก็น่าจะเป็นกลุ่มมัคคุเทศก์ เพราะตั้งแต่เดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ก็ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในประเทศไทยเลย ส่วนคนไทยเองก็ไม่นิยมใช้มัคคุเทศก์มากนัก ก่อนเกิดปัญหาการระบาดของโควิด-19 ประเทศไทยมีจำนวนมัคคุเทศก์อยู่ถึงเกือบหนึ่งแสนคน บุคคลเหล่านี้เมื่อครั้งบ้านเมืองยังดีอยู่ถือเป็นด่านแรกของการต้อนรับขับสู้นักท่องเที่ยว และเป็นผู้สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ประเทศไทย แต่ต้องกลับเป็นคนตกงานในปัจจุบัน
ในสถานการณ์ที่นักท่องเที่ยวยังไม่สามารถเดินทางเข้ามาในประเทศไทยได้ มูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะโดยการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จำเป็นต้องอาศัยมัคคุเทศก์เป็นผู้ให้ความรู้เกี่ยวกับลักษณะของกลุ่มนักท่องเที่ยวและการเดินทางภายในประเทศ ที่เรียกว่า Customer’s Journey เพื่อนำทางไปสู่การศึกษาเชิงระบบของการท่องเที่ยวเพื่อเสนอทิศทางงานวิจัยเชิงระบบในอนาคตจึงได้ข้อมูลมาเล่าสู่กันฟังดังนี้
ในขณะนี้ มัคคุเทศก์ของไทยตกงานกันมากแทบจะ 100% ตั้งแต่เดือน เม.ย.สถานการณ์โควิด-19 ของโลกในปัจจุบันก็ยังไม่กระเตื้องขึ้น ในขณะที่กำลังเขียนบทความนี้โลกมีผู้ติดเชื้อแล้วถึง 30 ล้านคน มีการติดเชื้อเกือบ 3 แสนคนต่อวัน ประเทศที่เป็นลูกค้ารายใหญ่ของเราในยุโรปก็ล้วนติดเชื้อกันย่ำแย่ทั้งนั้น รวมทั้งรัสเซียซึ่งตอนนี้กำลังนำหน้าในด้านผู้ติดเชื้ออยู่ ลูกค้าที่พอจะมีสถานการณ์ดีขึ้นก็จะมีจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่นเท่านั้น
ถ้าเช่นนั้นในระยะสั้นจะมีการประคับประคองมัคคุเทศก์ได้อย่างไร การอุดหนุนให้นักท่องเที่ยวไทยไปเที่ยวกันมากขึ้นนั้น กลุ่มมัคคุเทศก์ไม่ค่อยได้รับประโยชน์เท่าใด แต่กลุ่มใหญ่ๆ ที่อาจจะใช้ประโยชน์มัคคุเทศก์ได้ก็คือกลุ่มนักเรียน ถ้ารัฐบาลใช้งบประมาณในเวลานี้อัดลงไปที่โรงเรียนต่างๆ ให้โรงเรียนพานักเรียนออกไปทัศนศึกษายังแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เราก็จะสามารถจ้างงานมัคคุเทศก์ได้
หากรัฐบาลสนับสนุนในเรื่องนี้ก็จะเกิดเป็นผลลัพธ์แบบ Win*5 คือ ผลประโยชน์ยกกำลัง 5 มัคคุเทศก์ก็ได้โรงเรียนก็ได้ นักเรียนก็ได้ และผู้ปกครองก็ได้ประโยชน์ด้วย รวมไปถึงผู้ประกอบการโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการรถทัวร์ขนาดใหญ่ ตลอดจนแม่ค้าพ่อค้ารายเล็กรายน้อยซึ่งขายของอยู่รายรอบแหล่งท่องเที่ยวสำคัญทั้งในเมืองหลักและเมืองรองเช่นที่อยุธยา บางปะอิน สุโขทัย เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน พัทลุง และนครศรีธรรมราช เป็นต้น
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาและกระทรวงศึกษาธิการควรรีบร่วมมือกันจัดการทัวร์พิเศษสำหรับเด็กๆ อย่างไรก็ดี ต้องให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในการเดินทางด้วย อย่างเช่นทะเลน้อยยังไม่มีเรือที่ปลอดภัยพอสำหรับเด็กๆ แล้วต้องระมัดระวังเรื่องความปลอดภัยจากการติดเชื้อโควิด-19 ด้วย ดังนั้นอาจจะเลือกการเดินทางที่ไม่ไกลนัก มีการรักษาความปลอดภัยอย่างดี รัฐบาลอาจจะสนับสนุนโดยเริ่มต้นที่โรงเรียนของรัฐ โรงเรียนท้องถิ่น และอาจจะอุดหนุนโรงเรียนเอกชนเป็นบางส่วน
นอกจากเส้นทางการท่องเที่ยวที่ต้องใช้การเดินทางโดยรถยนต์แล้ว กทม.และองค์การบริหารส่วนจังหวัดยังสามารถสนับสนุนให้เกิดการท่องเที่ยวภายในจังหวัดและในเมืองของตนเอง โดยท่องเที่ยวด้วยการเดินหรือ Walking tour ที่ต้องอาศัยมัคคุเทศก์ท้องถิ่น นอกจากผลประโยชน์ในระยะสั้นคือการสร้างรายได้และการจ้างงานแล้ว ยังมีผลลัพธ์ทางสังคมในระยะยาวทำให้เยาวชนรุ่นใหม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับท้องถิ่นของตนประวัติศาสตร์ของประเทศ มีความรักและความภูมิใจในความเป็นไทย
แต่ทั้งนี้ต้องให้ความรู้ทางประวัติศาสตร์ที่ถูกต้องไม่ใช่ประวัติศาสตร์แบบชาตินิยม การให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่นจะทำให้เห็นความหลากหลายของชนเผ่าและชาติพันธุ์ในประเทศไทย ไม่ติดกับดักอยู่กับประวัติศาสตร์ที่รวมศูนย์ทำให้เยาวชนไทยกลายเป็นคนใจแคบต่อกันในวันข้างหน้า
ในช่วงเวลานี้รัฐบาลอาจจะสนับสนุนให้มีการเพิ่มทักษะของมัคคุเทศก์ในด้านประวัติศาสตร์ โดยอาศัยผู้เชี่ยวชาญทางประวัติศาสตร์ จัดประชุมเสวนาที่นำเอางานวิจัยต่างๆ ที่เคยสนับสนุนและใช้งบประมาณไปหลายร้อยล้านบาทเกี่ยวกับเส้นทางท่องเที่ยวต่างๆ ออกมาคลี่ดูร่วมกันระหว่างฝ่ายวิชาการและฝ่ายมัคคุเทศก์ ซึ่งมัคคุเทศก์อาจจะสามารถนำเอาความจริงทางประวัติศาสตร์ไปเผยแพร่ได้อย่างมีอรรถรส มีสีสัน มีจินตนาการในการนำเสนอตามทักษะของอาชีพของตน
เมื่อเข้าสู่ปลายปีฝนหยุดแล้วก็สามารถทำค่ายนักเรียนฤดูหนาว ให้มีการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติศึกษาดูนก และกิจกรรมเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมมากขึ้น หรือค่ายภาษาจีน ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ซึ่งไม่เน้นความเป๊ะของภาษา แต่เน้นการกล้าพูดกล้าแสดงออก เช่น การเล่นเกม เล่นต่อคำ หรือแต่งนิทานต่อกัน เป็นการสร้างจินตนาการ เรื่องนี้ไกด์ของเราช่วยได้ รวมทั้งการให้นักเรียนไปมีประสบการณ์ชีวิตในการอยู่กับชุมชนในรูปของการใช้ชีวิตร่วมในโฮมสเตย์และการแสวงหาประสบการณ์ของชีวิตชนบท
ในระยะยาวอนาคตของมัคคุเทศก์ก็ดูจะไม่ดีนัก เพราะว่าคนรุ่นใหม่นิยมเที่ยวโดยใช้มือถือเปิดแอพพลิเคชั่นแล้วเที่ยวด้วยตัวเอง การติดต่อทุกอย่างก็สามารถทำได้สะดวกง่ายดายผ่านแพลตฟอร์มบนมือถือ ตั้งแต่การค้นหาสถานที่ท่องเที่ยว การเดินทาง ร้านอาหาร ร้านนวดแผนไทย สปา ค้นหาโลเกชั่นของแหล่งท่องเที่ยวตลอดจนการประเมินคุณภาพของแหล่งท่องเที่ยวโดยใช้ข้อมูลของนักท่องเที่ยวที่ได้เคยไปเยือนมาก่อน
มัคคุเทศก์ไทยต้องผันตัวเองไปเป็นผู้สร้างกิจกรรมท่องเที่ยวในระดับพื้นที่ให้มากขึ้น ในการประชุมกลุ่มย่อยกลุ่มมัคคุเทศก์ที่เชียงใหม่เมื่อวันที่ 15 ก.ย. พบว่ามีโอกาสที่ผู้ที่มาพักผ่อนระยะยาวโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวระดับไฮเอนด์จะใช้มัคคุเทศก์ในการอำนวยความสะดวก สำหรับกลุ่มย่อยๆ อาจช่วยสร้างกิจกรรม Do It Yourself (DIY) ต่างๆ ให้กับผู้ที่มาพักผ่อนระยะยาว เช่น การสอนทำอาหารไทย ซึ่งต้องการทั้งเชฟและล่าม ต่อด้วยกิจกรรม Cook It Yourself กิจกรรมออกกำลังกายแบบรำวงและเซิ้งแบบอีสาน เป็นการสร้างความสนุกสนานให้แก่ผู้ที่มาพักผ่อนระยะยาว อาจจะทำกิจกรรมแบบสุมกองไฟกินไก่อบฟางแล้วก็มีการรำวงไปด้วยก็ได้ การทำเครื่องประดับอย่างง่าย และการทำผ้าบาติก เป็นต้น มัคคุเทศก์ก็ต้องใช้จินตนาการอันบรรเจิดมาสร้างสินค้าและบริการใหม่
ส่วนคนไทยทุกคนช่วยๆ กันเที่ยวนะคะ เราจะต้องอยู่รอดไปด้วยกันทุกคน และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง