'ยูนิไทย' ปักหมุดอีอีซี ดันกองทุนหนุนต่อเรือไทย

'ยูนิไทย' ปักหมุดอีอีซี ดันกองทุนหนุนต่อเรือไทย

อุตสาหกรรมต่อเรือและซ่อมเรือ เป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานของธุรกิจการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี ซึ่งมีความสำคัญต่อการผลักดันเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยหลายฝ่ายเห็นว่าภาครัฐควรเพิ่มการสนับสนุนอุตสาหกรรมนี้ เพื่อให้เกิดการต่อเรือในไทยมากขึ้น

นายอรรถสิทธิ์ กอชัยพฤกษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูนิไทย ชิปยาร์ด แอนด์ เอนจิเนียริ่ง จำกัด และนายกสมาคมต่อเรือและซ่อมเรือไทย เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมการต่อเรือและซ่อมเรือมีความสำคัญต่อการพัฒนาอีอีซีและเศรษฐกิของประเทศชาติสูงมาก เพราะอีอีซีเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของไทย และเศรษฐกิจของไทยยังพึ่งพารายได้จากการส่งออกถึง 70% ดังนั้นการขนส่งทางเรือจึงเป็นสิ่งสำคัญในการกระจายสินค้าไทยไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมนี้ได้รับการส่งเสริมจากรัฐน้อยมาก ทั้งที่ไทยมีจุดแข็งในเรื่องการต่อเรือและซ่อมเรือสูงมาก โดยเฉพาะบุคลากรที่มีทักษะสูงและมีประสบการณ์นาน รวมทั้งอุตสาหกรรมการต่อเรือเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำสำคัญ หากอุตสาหกรรมนี้เข้มแข็งจะเกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่องอีกมาก ทั้งโรงงานการผลิตชิ้นส่วน และเครื่องยนต์เรือ ธุรกิจการให้บริการที่เกี่ยวข้อง ธุรกิจพาณิชย์นาวี ซึ่งเฉพาะอุตสาหกรรมต่อเรือมีการจ้างงานหลายหมื่นคน หากรวมอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องทั้งหมดแล้วจะจ้างงานสูงมากและมีมูลค่าเพิ่มมหาศาล

รวมทั้งการประเมินล่าสุดในธุรกิจเดินเรือของไทย มีกองเรือขนส่งน้ำมันชายฝั่งที่มีอายุเรือเก่ามากมีอายุเฉลี่ยลำละกว่า 30 ปี และมีจำนวนเรือกว่า 120 ลำ ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุสูง ซึ่งหากเรือขนส่งน้ำมันรั่วไหล หรืออับปาง ก็จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเลสูงมาก และในขณะนี้ไทยก็ยังไม่มีกฎหมายเข้ามาควบคุมเรือที่มีอายุใช้งานสูงเหล่านี้ โดยเรือจำนวนนี้ต้องซ่อมบำรุงครั้งใหญ่หรือจะต้องซื้อเรือใหม่เข้ามาทดแทนภายในระยะเวลา 5-6 ปีข้างหน้า

สำหรับการดำเนินงานของธุรกิจเดินเรือของไทยที่ผ่านมา นิยมสั่งซื้อเรือจากจีนที่ราคาถูกกว่าการซื้อเรือที่ต่อในไทย เพราะราคาต่ำกว่า 10-15% จากต้นทุนเหล็กของจีนต่ำกว่าไทย

160130027327

ขณะที่บริษัทต่อเรือไทยจะนำเข้าเหล็กจากจีนเข้ามาใช้ต้องเผชิญกับอุปสรรคมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (เอดี) เพื่อปกป้องผู้ผลิตเหล็กในประเทศ ทำให้ต้นทุนการนำเข้าเหล็กสูงจนกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันกับอู่ต่อเรือของจีน ทำให้ไทยต้องสูญเสียผลประโยชน์ไปให้กับประเทศจีนนับแสนล้านบาท ดังนั้น รัฐบาลจะต้องเร่งปรับปรุงมาตรการ เอดี เหล็กจากจีน ไม่ให้กระทบต่ออุตสาหกรรมการต่อเรือ และซ่อมเรือของไทย เพื่อลดต้นทุนให้แข่งขันได้

ส่วนการส่งเสริมอุตสาหกรรมการต่อเรือและซ่อมเรือในระยะยาว รัฐบาลควรเป็นเจ้าภาพจัดตั้งกองทุนพัฒนาอุตสาหกรรมต้นน้ำและเศรษฐกิจของประเทศด้วยการสร้างกองเรือของไทยวงเงิน 50,000 ล้านบาท สร้างเรือได้ 120 ลำ โดยรัฐบาลอาจออกพันธบัตรนำเงินเข้ามาในกองทุนฯนี้ และออกข้อกำหนดให้ดอกเบี้ยพิเศษ 2.5% และผ่อนจ่ายในระยะเวลา 10 ปี สำหรับบริษัทเดินเรือที่ต่อเรือภายในประเทศ ซึ่งแนวทางนี้จะเกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย ทั้งบริษัทเดินเรือก็ได้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำในการซื้อเรือที่ต่อภายในประเทศ

ทั้งนี้การซื้อเรือต่างประเทศจะต้องจ่ายเงินซ้อเรือลำละกว่า 500 ล้านบาท ในครั้งเดียว และต้องเสียดอกเบี้ยเงินกู้สูงถึง 7-8% ฝ่ายรัฐบาลที่เป็นเจ้าของกองทุนฯ จะได้ดอกเบี้ยเป็นกำไร คาดว่าหากวงเงินกู้ 50,000 ล้านบาท จะได้ดอกเบี้ยไม่ต่ำกว่า 750 ล้านบาท และยังมีความเสี่ยงต่ำ เพราะหากผู้กู้ผิดสัญญาก็ยึดเรือมาขายต่อได้ ส่วนบริษัทต่อเรือของไทยจะได้รับประโยชน์มีงานต่อเรือมามากขึ้น ต้นทุนการต่อเรือก็จะต่ำลง และยังมีโอกาสขยายตลาดไปต่างประเทศด้วย

รวมทั้งจะเกิดการจ้างงานหลายหมื่นคน สร้างเม็ดเงินให้หมูนเวียนภายในประเทศกว่า 3 แสนล้านบาท ภายใน 5 ปี และยังเกิดการดึงดูดการลงทุนอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น การผลิตชิ้นส่วนเรือ การผลิตเครื่องจักรเรือ การบริการในธุรกิจเดินเรือ ซึ่งเหมือนกับอุตสาหกรรมรถยนต์

“30 ปีก่อน อุตสาหกรรมการต่อเรือของไทยมีศักยภาพใกล้เคียงจีน แต่ปัจจุบันจีนทิ้งห่างไปมากหากรัฐไม่มาช่วยเหลือภายใน 5 ปีไทยต้องเสียเงินให้จีนนับแสนล้านบาท”

นอกจากนี้ ยูนิไทยฯ ให้ความสำคัญต่ออุตสาหกรรมป้องกันประเทศที่เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยบริษัทฯ เชี่ยวชาญด้านการต่อเรือรบ และการซ่อมบำรุงเรือรบ ซึ่งที่ผ่านมากองทัพเรือสหรัฐว่าจ้างให่ซ่อมบำรุงเรือรบปีละ 6-8 ลำ และยังเป็นอู่ซ่อมเรือ 1 ใน 3 ของอาเซียนที่ได้รับใบรับรองจากสหรัฐให้ซ่อมเรือรบของสหรัฐได้ โดยอีก 2 ประเทศ คือ สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ รวมทั้งที่ผ่านมายังได้ซ่อมเรือรบ และต่อเรือรบให้กับกองทัพเรือไทยมาแล้ว

ทั้งนี้ นโยบายการส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศเป็นเรื่องที่ดี แต่ในส่วนของการสร้างเรือรบนั้น รัฐบาลควรให้กองทัพเรือเข้ามาร่วมลงทุนกับภาคเอกชน เพื่อให้เอกชนเกิดความมั่นใจว่าจะมีการว่าจ้างต่อเรือรบในระยะยาว รวมทั้งออกข้อกำหนดให้ใช้ชิ้นส่วน การจ้างแรงงานภายในประเทศไม่ต่ำกว่า 50% ของมูลค่าเรือรบ ซึ่งจะสร้างความมั่นคงและเกิดอุตสาหกรรมชั้นสูง เช่น การผลิตเรด้า ระบบอาวุธนำวิถี และระบบนำร่องของเรือภายในประเทศได้ในอนาคต

“อุตสาหกรรมการต่อเรือรบภายในประเทศมีโอกาสสูงมาก เพราะหากต่อเรือรบปีละ 1 ลำ มีมูลค่า 2,000-3,000 ล้านบาท จะมีเงินเข้ากระเป๋าคนไทยไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านบาทต่อปี และยังมีโอกาสส่งออกเรือรบจากไทยด้วย ซึ่งประเทศชั้นนำต่างมีอุตสาหกรรมต่อเรือรบภายในประเทศเพราะเป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง”

สำหรับ บริษัท ยูนิไทย ชิปยาร์ด แอนด์ เอนจิเนียริ่ง จำกัด เป็นอู่ซ่อมและต่อเรือใหญ่ที่สุดของไทย ตั้งอยู่ที่ท่าเรือแหลมฉบัง และนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง จ.ชลบุรี สามารถรองรับเรือที่มีความยาวตั้งแต่ 40–300 เมตร รวมทั้งเรือบรรทุกน้ำมันขนาดใหญ่ โดยรายได้หลักจะมาจากการซ่อมเรือ 90% และต่อเรือขนาดใหญ่ 10% มีรายได้ต่อปีกว่า 2,000 ล้านบาท