‘เพื่อไทย’ ใต้เงา ‘หญิงอ้อ’ ดีลซ้อนดีล ‘การเมืองขั้วใหม่’
'รัฐบาลแห่งชาติ' อาจเกิดขึ้นยาก ณ เวลานี้ แต่กลเกมการเมืองที่เกิดขึ้น ถือเป็นจังหวะที่ต้องจับตาเพราะอาจมี'ดีลซ้อนดีล' ที่เหนือชั้นกว่าการเป็นรัฐบาลแห่งชาติ
แม้จะมีคำกล่าวที่ว่า “การเมืองไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร” แต่สำหรับ “พรรคเพื่อไทย”และ “พลังประชารัฐ”แล้ว นาทีนี้บรรดากูรูรวมถึง “คอการเมือง” ต่างฟันธงเป็นเสียงเดียวกันว่า ช้อยที่ทั้ง2พรรคจะจับมือตั้ง “รัฐบาลแห่งชาติ” ให้ตัดไปได้เลย
ด้วยบริบทการเมือง ณ ปัจจุบัน จริงอยู่ที่อาจมีการมองว่า อยู่ในขั้นวิกฤติประเทศเดินมาถึงทางตัน แต่ต้องไม่ลืมว่า การที่จะมี “รัฐบาลแห่งชาติ” ได้นั้น ย่อมหมายรวมไปถึง การไม่มีฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร แต่ใน รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 106 บังคับให้ต้องมีผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ดังบทบัญญัติที่ว่า
ภายหลังที่คณะรัฐมนตรีเข้าบริหารราชการแผ่นดินแล้วพระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎรที่มีจำนวนสมาชิกมากที่สุด และสมาชิกมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร
ดังนั้นโอกาสที่จะเกิดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้นี้ ยังคงเป็นไปได้ยาก เพราะแม้พรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นตัวละครสำคัญจะยอมจับมือพลังประชารัฐจริง
แต่ยังต้องเจอเสี้ยนหนามสำคัญอย่าง "พรรคประชาธิปัตย์" ที่ต่างฝ่ายต่างประกาศกร้าวไม่ขอร่วมงานกันทางการเมือง หรือหากเป็นไปตามที่มาการวิเคราะห์กันก่อนหน้าคือพลังประชารัฐเดินเกมบีบประชาธิปัตย์ออกจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาลแล้วจับมือกับพรรคเพื่อไทยตามที่มีกระแสข่าวจริง
มีคำถามตามมาว่า พรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นพรรคที่มีส.ส.มากที่สุดในสภาจะยอมให้พลังประชารัฐคอนโทรลได้โดยง่ายหรือไม่? กลับกันพลังประชารัฐจะยอมหลีกทางโดยให้เพื่อไทยมาเป็นแกนนำหรือมีบทบาทสำคัญหรือไม่? หรือจะมีแนวทางใดที่ทำให้ทั้ง2ฝ่ายสมประโยชน์ด้วยกันทั้ง2ฝ่าย?
สมมุติว่า เป็นไปตามที่มีกระแสข่าวคือ "เพื่อไทย-พลังประชารัฐ" จับมือกันตั้งรัฐบาลจริงเชื่อได้เลยว่า ถึงนาทีนั้นแรงต่อรองย่อมมีสูงไม่แพ้ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ขณะเดียวกันหากพรรคเพื่อไทยยอมที่จะจับมือกับพลังประชารัฐเป็นรัฐบาลแห่งชาติ นั่นย่อมหมายถึงการผลักพรรคก้าวไกลจากมิตรให้กลายเป็นศรัตรู ยังไม่นับรวมความนิยมของพรรคที่อาจจะลดลงทั้งในแง่แฟนคลับและฐานมวลชน แม้จะมีนักการเมืองบางกลุ่มสมประโยชน์กับการเข้าร่วมในครั้งนี้ก็ตาม
ดังนั้นหากจะเรียกสูตรการเมืองที่ "เพื่อไทย-พลังประชารัฐ" จับมือกันตั้งรัฐบาลแล้วสถาปนาว่าเป็น"รัฐบาลแห่งชาติ" โดยยังมีพรรคก้าวไกลเป็นพรรคฝ่ายค้าน โมเดลนี้ก็คงเป็นเพียงแค่การประดิษฐ์วาทะกรรมที่สวยหรูเท่านั้น
ปรากฎการณ์ภายในพรรคเพื่อไทยที่เกิดขึ้น จึงมีการจับตาไปที่ “การผ่าตัดใหญ่” เปิดทาง “คุณหญิงอ้อ” พจมาน ดามาพงษ์ภรรยา “นายใหญ่” ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯรัฐมนตรี ออกจากหลังฉากมาอยู่ “หน้าฉาก” ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง
เพราะต้องยอมรับว่า การผ่าตัดใหญ่ในครั้งนี้มีผลสืบเนื่องมาเป็นระลอกทั้งจากปัญหาความขัดแย้งภายในพรรค ที่บางคนถึงขั้น “ผีไม่เผา เงาไม่เหยียบ” แม้หน้าฉากจะปฏิเสธเสียงแข็งบอกว่า “ไม่มี!ไม่มี” อะไรเลยก็ตาม
อีกหนึ่งเงื่อนไขที่นำไปสู่การผ่าตัดใหญ่ในครั้งนี้ หนี้ไม่พ้นบทบาทหน้าที่การเป็นพรรคฝ่ายค้าน ในฐานะ“ผู้คุมเกม” ที่พ่วงตำแหน่งในสภาทั้ง “ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร”รวมถึง ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้านหรือ “วิปฝ่ายค้าน” ที่อาจไม่ได้ฉายแสงดังที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะศึกษาฟอกครั้งล่าสุดเมื่อช่วงเดือนก.พ.ที่ผ่านมา
ครั้งนั้นเพื่อไทยถูกเสียงครหาต่างๆนานาทั้งในเรื่องการ “เปิดเกมยื้อซักฟอก” ,เสียงครหาเรื่อง“คุณขอมา” จนทำให้ “2ป.” คือ “ป.ป้อม”ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ “ป.ป๊อก” อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย รอดซักฟอกไปได้อย่าหวุดหวิด มิหนำซ้ำ“ป.ป้อม” ยังได้รับเสียงเห็นชอบมากที่สุดทั้งที่ไม่ถูกซักฟอก ผิดกับพรรคก้าวไกลที่ในเวลานั้นแจ้งเกิดทั้งในประเด็นป่ารอยต่อ,รวมถึงประเด็นการใช้งบของรัฐบาลในการใช้โซเชียลเพื่อทำไอโอ
หลังจากนั้นบทบาทหน้าที่ของเพื่อไทยในฐานะแกนนำฝ่ายค้านยังไม่ปังดังที่ควรจะเป็น หลายครั้งสะท้อนภาพการเป็นฝ่ายเดินตามหลังพรรคก้าวไกล รวมถึง ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แกนนำคณะก้าวหน้า ขณะที่การชุมนุมของกลุ่มนักศึกษาเมื่อวันที่19ก.ย. ที่ผ่านมาพรรคยังถูกดึงไปอยู่วังวนม็อบแต่กลับมีพรรคก้าวไกลเป็นตัวชูโรงหลัก
ปัจจัยทั้งหมดทั้งมวลตามที่กล่าวมา จึงต้องจับตาไปที่การเข้าสู่ “หน้าฉาก” ของ “คุณหญิงอ้อ” ที่ในครั้งนี้ เข้ามาผ่าตัดใหญ่เพื่อไทยทั้งในแง่ของการรีโนเวทเพื่อสร้างแบรนด์ใหม่ การหลบฉากม็อบนศ.หลังเกิดเสียงครหาในเรื่อง “ท่อน้ำเลี้ยง” จากคนแดนไกล
รวมทั้งการกันตัวออกจากข้อเสนอที่ “ทะลุเพดาน” ของกลุ่มนักศึกษาที่มีการส่งสัญญาณว่าพรรคกำลังเดินผิดที่ผิดทาง
การเข้าสู่หน้าฉากของ “คุณหญิงพจมาน” ในครั้งนี้ที่ว่ากันว่าจะขนอดีตสมาชิกไทยรักไทย ไทยรักษาชาติ และกลุ่มแคร์ ซึ่งเป็นเป็นสายตรงของ“อดีตนายกทักษิณ”กลับมาด้วย จึงถือเป็นจังหวะก้าวย่างที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด เพราะนอกเหนือการการรื้อใหญ่พรรคในครั้งนี้แล้ว ยังมีการจับตาไปที่ "สมการ" หรือ "สูตรการเมือง" ในขั้นต่อไป
แม้บรรดากูรูการเมืองจะฟันธงว่า “ดีลลับรัฐบาลแห่งชาติ” จะยังไม่เกิดขึ้นเร็วๆนี้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มี “กลเกมการเมืองใหม่” เกิดขึ้น ไม่แน่ว่า เมื่อถึงเวลานั้นอาจมี“ดีลซ้อนดีล” ที่อาจจะเหนือชั้นกว่าการเป็นรัฐบาลแห่งชาติก็เป็นได้