สหรัฐเดินเกมต้านจีนส่ง'ปอมเปโอ'เยือนญี่ปุ่น-เกาหลีใต้
สหรัฐเดินเกมต้านจีนส่ง'ปอมเปโอ'เยือนญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ ขณะ 'ซีน่า-โซวโก่ว'เป็นบริษัทจีนรายล่าสุดที่เพิกถอนหลักทรัพย์ออกจากตลาดหุ้นสหรัฐขณะที่2ชาติมหาอำนาจขัดแย้งกันในหลายประเด็น
ขณะที่ความสัมพันธ์สหรัฐและจีนกำลังตึงเครียด ล่าสุด "ไมค์ ปอมเปโอ" รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐ เตรียมเดินทางเยือนญี่ปุ่น มองโกเลีย และเกาหลีใต้ในสัปดาห์หน้า ด้วยความหวังว่าจะกระชับความสัมพันธ์กับพันธมิตรในภูมิภาคเอเชียท่ามกลางความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดระหว่างสหรัฐและจีน
แถลงการณ์ของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ ระบุว่า ปอมเปโอมีกำหนดการเดินทางในวันที่ 4-8 ต.ค.ซึ่งจะเป็นการเดินทางเยือนเอเชียตะวันออกครั้งแรกนับตั้งแต่เดินทางเยือนประเทศไทยเมื่อเดือนก.ค. ปี 2562 และหลังจากเดินทางเยือนญี่ปุ่น เขาจะเดินทางไปเยือนมองโกเลียในวันที่ 6 ต.ค. และเกาหลีใต้ในวันที่ 7-8 ต.ค. นอกจากนี้ วันที่ 6 ต.ค. ปอมโปโอจะเข้าร่วมการประชุมกลุ่มคว็อด (Quad) ซึ่งเป็นการประชุมร่วมกับรัฐมนตรีต่างประเทศจากญี่ปุ่น อินเดีย และออสเตรเลีย
กลุ่มคว็อดได้รับการปรับปรุงฟื้นฟูขึ้นใหม่เมื่อปี 2560 เพื่อกระชับความร่วมมือด้านความมั่นคง ตลอดจนประสานงานทางเลือกต่างๆ สำหรับโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคที่จีนเสนอให้เงินทุนสนับสนุน
ความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดระหว่างสหรัฐและจีนล่าสุด มีที่มาจากการที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศเจตนารมณ์ชัดเจนว่าต้องการสกัดกั้นบริษัทจีนไม่ให้เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐ ส่วนบริษัทจีนที่จดทะเบียนอยู่แล้ว จะเจอกฏระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้นและหากทำตามกฏระเบียบของรัฐบาลสหรัฐไม่ได้ จะถูกถอดออกจากตลาดหลักทรัพย์สหรัฐ
ล่าสุด ซีน่า (Sina) บริษัทแม่ของเว่ยป๋อ (Weibo) แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียยอดนิยมของจีน และโซวโก่ว (Sogou) เสิร์ชเอนจินรายใหญ่ของจีน กลายเป็นสองบริษัทล่าสุดจากแดนมังกรที่เตรียมเพิกถอนหลักทรัพย์ออกจากตลาดหุ้นสหรัฐ ท่ามกลางความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดระหว่างสองประเทศ
โซวโก่ว ยืนยันว่า บริษัทเทนเซ็นต์ ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของจีน บรรลุข้อตกลงเข้าซื้อบริษัทเป็นมูลค่าประมาณ 3.5 พันล้านดอลลาร์ และจะถอนหุ้นโซวโก่วออกจากตลาดสหรัฐ ซึ่งการประกาศยืนยันของโซวโก่วมีขึ้นเพียงหนึ่งวัน หลังจากที่ ซีน่า คอร์ป บริษัทอินเทอร์เน็ตยักษ์ใหญ่ของจีน เปิดเผยว่า บริษัทจะเพิกถอนหลักทรัพย์ออกจากตลาดหุ้นสหรัฐเช่นกัน
ซีน่าและโซวโก่ว ถือเป็นบริษัทจีนรายล่าสุดที่ประกาศเพิกถอนหลักทรัพย์ออกจากตลาดหุ้นสหรัฐ หรือเลือกที่จะจดทะเบียนตลาดรองในประเทศ ในขณะที่สองประเทศมหาอำนาจขัดแย้งกันในหลายประเด็น ตั้งแต่เทคโนโลยี ฮ่องกง ไปจนถึงเรื่องโควิด-19
กฎระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้นของสหรัฐอาจผลักดันให้หลายบริษัทหันไปจดทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกงหรือเซี่ยงไฮ้แทน หนึ่งในนั้นรวมถึง อาลีบาบาและเจดีดอทคอม ยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซของจีน ที่เสนอขายหุ้นในตลาดฮ่องกงเมื่อปีที่แล้ว
การเคลื่อนไหวนี้มีขึ้นในช่วงที่ประธานาธิบดีทรัมป์ และนายโจ ไบเดิน คู่ชิงจากพรรคเดโมแครต เริ่มดีเบตรอบแรก ก่อนหน้าที่จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐวันที่ 3 พ.ย. ซึ่งนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า สหรัฐและจีนจะยังคงมีข้อพิพาทเรื่องเทคโนโลยีต่อไป แม้ประธานาธิบดีทรัมป์ แพ้การเลือกตั้งในเดือนพ.ย.นี้ก็ตาม
นักวิเคราะห์จากดีบีเอส กรุ๊ป รีเสิร์ช มีความเห็นว่า ทั้งสองประเทศจะยังคงมีข้อพิพาทเรื่องเทคโนโลยีต่อไป แต่อาจผันผวนน้อยลงหากไบเดน คู่ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครต คว้าตำแหน่งผู้นำประเทศแทน
การแสดงวิสัยทัศน์ หรือการดีเบตรอบแรกระหว่างประธานาธิบดีทรัมป์ และไบเดน ปิดฉากลงแล้วในช่วงเช้าของวานนี้ (30ก.ย.)ตามเวลาไทย โดยบรรยากาศการอภิปรายเป็นไปอย่างเผ็ดร้อน เนื่องจากทั้งสองฝ่ายใช้ถ้อยคำที่รุนแรง และพูดแทรกกันไปมาเกือบตลอดเวลา จนทำให้คริส วอลเลส ผู้ดำเนินรายการ ต้องเตือนให้ทั้งสองคนอยู่ในความสงบและไม่ใช้อารมณ์มากเกินไป เนื่องจากเป็นการถ่ายทอดสดซึ่งมีประชาชนทั่วโลกกำลังรับชมอยู่ นอกจากนี้ การแสดงความเห็นใดๆ บนเวทีดีเบต อาจมีผลทำให้คะแนนของผู้สมัครเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ในชั่วข้ามคืน
ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีนยังคงย่ำแย่โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องเทคโนโลยี เพราะทางการสหรัฐยังคงเพ่งเล็งบริษัทเทคโนโลยีของจีนเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจโทรคมนาคมอย่างหัวเว่ย ไปจนถึงแอพแชร์วิดีโออย่างติ๊กต็อก โดยอ้างว่าบริษัทเหล่านี้แอบเก็บข้อมูลของชาวสหรัฐเพื่อนำไปให้รัฐบาลจีน
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐประกาศมาตรการควบคุมการส่งออกอุปกรณ์ให้กับบริษัทเซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง อินเตอร์เนชันแนล คอร์ปอเรชัน (เอสเอ็มไอซี) ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดของจีน โดยอ้างเหตุผลว่ามีความเสี่ยงที่อุปกรณ์ที่ส่งออกไป จะถูกนำไปใช้เพื่อการทหาร
เมื่อต้นเดือนส.ค.ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีทรัมป์ ลงนามในคำสั่งประธานาธิบดีห้ามไม่ให้บุคคลหรือบริษัทอเมริกันทำธุรกรรมใดๆ กับบริษัทไบต์แดนซ์ ซึ่งเป็นบริษัทแม่และเจ้าของติ๊กต็อก แอพพลิเคชันแชร์คลิปวิดีโอชื่อดังสัญชาติจีน และยังสั่งแบนวีแชทของบริษัทเทนเซ็นต์ ในข้อหาเป็นภัยคุกคามข้อมูลส่วนบุคคล
ขณะที่บริษัทหัวเว่ย เทคโนโลยี และแซดทีอี ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ด้านอุปกรณ์โทรคมนาคมของจีน รวมถึงบริษัทฮิควิชัน ซึ่งเป็นผู้ผลิตกล้องวงจรปิดของจีน ต่างก็ถูกสหรัฐขึ้นบัญชีดำด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง
มาติดตามความคืบหน้าไปพร้อมๆกันว่า แผนเดินสายเยือนประเทศต่างๆของรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐจะได้ผลมากน้อยแค่ไหน สหรัฐจะหว่านล้อมชาติพันธมิตรให้ต้านจีนได้อย่างที่หวังหรือไม่