อ.ส.ค. ดัน “โยเกิร์ตผสมบุก เจาะตลาดคนรุ่นใหม่
อ.ส.ค. ส่ง โยเกิร์ตชิวดี เจาะตลาดไตรมาสสุดท้ายกระตุ้นยอดขายปลายปี 63 พร้อมปรับปรุงเครื่องจักรรองรับกระแสเติบโตในตลาดปี 64
นายสุชาติ จริยาเลิศศักดิ์ รองผู้อำนวยการทำการแทนผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย(อ.ส.ค.) เปิดเผยว่า หลังจากอ.ส.ค.ได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ โยเกิร์ตพร้อมดื่มปราศจากไขมัน ยูเอชที กลิ่นเสาวรส ผสมบุก (ตราไทย-เดนมาร์ค ชิวดี) “Chew-D” ในเฟสที่ 1โดยผ่านช่องทางออนไลน์ Shopee และ LAZADA เมื่อช่วงเดือนก.ค.63 ที่ผ่านมา
พบว่ามีกระแสตอบรับจากกลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่ที่ให้ความสนใจในเรื่องสุขภาพดีเกินคาด ดังนั้นเพื่อตอบรับกระแสดังกล่าวเพื่อกระตุ้นการบริโภคในตลาดให้กว้างขวางมากขึ้น อ.ส.ค.เตรียมงัดกลยุทธ์ตลาดเชิงรุกผ่านกลยุทธ์ตลาดรูปแบบInfluencer Marketing ในเฟส 2 โดยการนำโปรโมทผ่านเพจดังๆที่คนติดตามเยอะๆและการคัดเลือกเน็ตไอดอลตัวแม่ซึ่งเป็นผู้มีอิทธิพลบนโลกออนไลน์ที่มีคาแร็กเตอร์ของ Influencer ที่เหมาะกับแบรนด์ตราไทย-เดนมาร์ค ชิวดี(Chew-D) ซึ่งล้วนเป็นคนรักสุขภาพหรือมีสุขภาพที่ดีสมวัยมารีวิวผ่านคอนเทนต์หรือแคมเปญที่น่าสนใจ อาทิ Bebe Fit Routine, Benz Apache, Little monster, Sale Here และSam Yangym official เป็นต้น
สำหรับกลยุทธ์ในการทำตลาด จะเน้นการชูจุดขายการเป็นอาหารว่างเพื่อสุขภาพ (Healthy Snacks) เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ของสายสุขภาพ สามารถดื่มแทนมื้ออาหารเพื่อควบคุมน้ำหนักได้ วัตถุดิบผลิตจากน้ำนมโคสดแท้ 100% ไม่ผสมนมผง ปราศจากไขมัน (มีไขมันทั้งหมด0%)ใช้ชูกาเวียเป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาลกินแล้วไม่อ้วน รวมทั้งผสมชิ้นบุกให้เคี้ยวเพลินๆ ให้พลังงานน้อยแต่อร่อยและอยู่ท้องแคลอรี่ต่ำภายใต้สโลแกน ดื่มนมให้สนุกด้วยบุกเคี้ยวได้ เป็นต้น นอกจากนี้เพื่อสร้างกระแสการตลาด ให้เกิดความต่อเนื่องอ.ส.คยังเตรียมแผนการตลาดโปรโมทนมโยเกิร์ต Chew-Dเฟส 3 เบื้องต้นจะเน้นเจาะตลาดท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ตก่อนเมื่อโรงงานผลิตมีความพร้อม 100% จึงมีแผนขยายไปยังตลาดอื่นๆต่อไป
นาย ชัยณรงค์ เปาอินทร์ หัวหน้าสำนักงาน อ.ส.ค.ภาคกลาง กล่าวว่า สำนักงาน อ.ส.ค.ภาคกลาง ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลโรงงานนมไทย-เดนมาร์ค อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรีซึ่งเป็นโรงงานผลิตผลิตภัณฑ์โยเกิร์ตพร้อมดื่ม ตราไทย-เดนมาร์ค ชิวดี (Chew-D)เพียงแห่งเดียวในตอนนี้ เนื่องจากผลิตภัณฑ์ดังกล่าวผสมบุกซึ่งเป็นเมล็ดซึ่งมีความเล็กบ้าง ใหญ่บ้าง ไม่ได้ใช้น้ำนมสดทั้งหมดเหมือนการผลิตผลิตภัณฑ์นมทั่วไป ทำให้ต้องเร่งปรับปรุงเครื่องจักรให้สามารถรองรับขบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่ดังกล่าว โดยบางขั้นตอนอาจต้องผสมผสานกับระบบแมนนวล (manual) ซึ่งคาดว่าภายในปลายปีนี้เครื่องจักรต่างๆจะสมบูรณ์แบบมากขึ้นและพร้อมจะรันการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดในขณะนี้โดยคาดว่าจะสามารถผลิตได้เดือนละประมาณ720,000กล่องหรือ20,000หีบจากปัจจุบันอ.ส.ค.มีกำลังผลิตอยู่ประมาณเดือนละ 288,000 กล่องหรือ 8,000หีบ