'ไพรินทร์' ชงเปิดรับต่างชาติ ศบศ.หวั่นโควิดฉุดเศรษฐกิจวูบ 1.7 ล้านล้าน

'ไพรินทร์' ชงเปิดรับต่างชาติ ศบศ.หวั่นโควิดฉุดเศรษฐกิจวูบ 1.7 ล้านล้าน

“ไพรินทร์” ชงผ่อนคลายล็อคดาวน์ เปิดรับนักท่องเที่ยว-ธุรกิจต่างชาติ เข้าประเทศเพิ่ม รับไฮซีซั่น หวั่นปิดประเทศนานเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า ชี้มูลค่าเศรษฐกิจหายไป 1.5-1.7 ล้านล้านบาท ศบศ.หวังจีดีพีฟื้นตัวไตรมาสแรกปี 2564

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในปีนี้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยในไตรมาส 2 ปี 2563 เศรษฐกิจหดตัวถึง 12.2% การ “ล็อกดาวน์” ส่งผลกระทบหลายประการทางเศรษฐกิจที่ตามมาเป็นลูกโซ่ตั้งแต่การปิดกิจการ อัตราการว่างงานที่สูงขึ้น

รัฐบาลไม่สามารถใช้กลไกตามปกติในการบริหารและแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจนเป็นที่มาของการตั้ง ศูนย์บริหารสถารการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากโควิด-19 หรือ ศบศ. เมื่อวันที่ 13 ส.ค.ที่ผ่านมา เพื่อรวมเอาผู้ที่มีความรู้ความสามารถทั้งจากภาครัฐและเอกชนเข้ามาช่วยแก้สถานการณ์วิกฤตที่ถือเป็นความเป็นความตายครั้งหนึ่งของเศรษฐกิจประเทศ

หนึ่งในคีย์แมนสำคัญใน ศบศ.คือ "ไพรินทร์ ชูโชติถาวร” อดีตซีอีโอ ปตท. และอดีต รมช.คมนาคม ที่ได้รับบทบาทให้เป็นประธานคณะอนุกรรมการถึง 2 ชุดใน ศบศ.ทั้งประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนมาตรการบริหารเศรษฐกิจ และประธานคณะอนุกรรมการวิเคราะห์และเสนอแนะมาตรการบริหารเศรษฐกิจ และส่งเสริมการลงทุนในระยะปานกลาง-ยาว โดย “กรุงเทพธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์ ถึงแนวโน้มเศรษฐกิจและเงื่อนไขที่ประเทศไทยจะฟื้นตัวจากเศรษฐกิจครั้งนี้ 

ไพรินทร์ กล่าวว่า ศบศ.ทำงานล้อกับแนวคิดของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.ที่ประสบความสำเร็จในการยับยั้งการระบาดของโควิด-19 แต่สิ่งที่ต้องคิดต่อ คือ การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ เมื่อไม่สำเร็จในการหยุดยั้งการระบาดได้ แต่การล็อกดาวน์และปิดประเทศส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมาก โดยเศรษฐกิจไทยลงลึกมากไตรมาสที่ 2 หดตัวถึง 12.2% เมื่อเทียบปีที่ผ่านมา ส่วนเศรษฐกิจทั้งปีคาดว่าจะติดลบ 10% ถึงลบ 8% และหากเทียบจากฐานจีดีพีของปีก่อนที่มีมูลค่า 17 ล้านล้านบาท เท่ากับจีดีพีของไทยหายไปถึง 1.5-1.7 ล้านล้านบาท 

“เท่ากับความมั่งคั่งของประเทศถอยหลังไปนับสิบปี เพราะปกติแล้วเศรษฐกิจเราขยายตัวปีละ 3-4% แต่โควิดกวาดไปทีเดียวเกือบ 10% เป็นมูลค่ามหาศาล คนตกงานมากเป็นแสนคนซึ่งเป็นปัญหาที่ ศบศ.กำลังพยายามแก้ไข”

เศรษฐกิจปัจจุบันถูกกระทบหนักมาก โดยผลกระทบกลุ่มคนส่วนบนยังไม่รู้สึก เพราะมีเงินเดือนประจำเท่าเดิม เช่น ข้าราชการ ซึ่งกระทบที่เกิดขึ้นมาจากข้างล่างก่อน มีการเลิกจ้าง การปลดคนและปิดกิจการ ซึ่งการล็อกดาวน์มีผู้ตกงานจำนวนมากเหมือนตึกทยอยพังจากฐาน คนข้างบนจะรู้สึกได้เมื่อตึกถล่มไปแล้วทั้งตึก คือถล่มจากข้างล่างขึ้นมาจนพังไปทั้งตึก 

“ฝรั่งเขามีคำว่า  Winning A Battle Losing The war คือ เราชนะการรบแต่แพ้สงคราม คือ เราชนะศึกในการคุมโควิดได้แต่ในภาพรวมเราจะแพ้ เพราะเราแลกด้วยเศรษฐกิจที่ดิ่งลึก และคนที่พูดเรื่องนี้ไม่ได้รู้สึกถึงความยากลำบากของคนชั้นล่างที่สุดแล้วปัญหาเศรษฐกิจที่จะตามมาจะกลายเป็นปัญหาสังคมและการเมือง เด็กที่จบการศึกษามาในช่วงนี้จะหางานทำยากที่สุดก็จะเป็นพวกต่อต้านรัฐบาลเพราะเขาก็มองว่ารัฐบาลทำให้เขาตกงานซึ่งจะเป็นปัญหาระยะยาวที่ต้องเร่งแก้ไขตั้งแต่ตอนนี้”

นอกจากนี้สิ่งที่ต้องพิจารณาเร่งด่วน คือมาตรการการผ่อนคลายให้ต่างชาติทั้งที่เป็นนักธุรกิจและนักท่องเที่ยวเข้าประเทศเพิ่มขึ้นเพราะแรงงานภาคการท่องเที่ยวที่ตกงานมีนับแสนคน ซึ่งจำเป็นต้องทยอยเปิดประเทศโดยใช้แง่หลัก“ทางสายกลาง”เพราะเศรษฐกิจเราพึ่งพาเรื่องการท่องเที่ยวมาก ซึ่งศบศ.ทำงานร่วมกับ ศบค.ที่จะดูการผ่อนปรนการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจมากขึ้น ซึ่งต้องมีจำนวนที่มากกว่าที่ผ่อนปรนในปัจจุบันและต้องทำให้เร็วทันช่วงไฮซีซั่นที่กำลังจะมาถึง

“อาจต้องทบทวนแนวการปฏิบัติเช่นการตรวจจากประเทศต้นทางที่ต้องตรวจภายใน 72 ชั่วโมง และการตรวจเมื่อมาถึงในประเทศ และต้องกักตัวอีก 14 วันถือเป็นเรื่องที่ต้องคุยกันเพราะเงื่อนไขนี้บางประเทศไม่ได้ทำ หรืออาจลดลงเหลือ 7 วัน เพราะหากทำแบบนี้เท่ากับว่าคุณใช้มาตรการที่ซ้ำซ้อนมันก็ยากที่จะเอื้อให้เดินทางเข้ามาได้ หลายประเทศใช้การผ่อนคลายเท่าที่จำเป็นเช่นญี่ปุ่นให้มีผู้ติดเชื้่อได้เท่าที่การแพทย์รับได้หากเกินความสามารถก็เข้มงวดขึ้น”

ศบศ.คาดไตรมาส3ติดลบ8%

นายไพรินทร์ กล่าวว่า ศบศ.กำลังประเมินเศรษฐกิจไตรมาสที่ 3 ปีนี้ คาดว่าจะติดลบ 8%  จะเห็นว่าแม้ที่ผ่านมามีการออกมาตรการไปมากและคลายล็อคดาวน์ไป 6 ครั้ง แต่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นนัก เพราะส่วนที่กดดันเศรษฐกิจมากที่สุด คือ การปิดประเทศไม่ให้ชาวต่างชาติเข้าประเทศทั้งนักธุรกิจและนักท่องเที่ยว หากสถานการณ์เป็นเช่นนี้เศรษฐกิจจะกลับมาไม่ได้ เพราะรายได้จากการท่องเที่ยวต่างประเทศปีก่อนเท่ากับ 2 ล้านล้านบาท หายไปตั้งแต่ไตรมาส 2 ปีนี้ ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ยาก  

ทั้งนี้ หากเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 ไม่ได้ลบ 8% แต่ติดลบมากกว่านั้น และเศรษฐกิจไตรมาส 4 ไม่ได้ดีขึ้นหรือเห็นสัญญาณในการฟื้นตัวได้ภายในไตรมาส 1 ปี 2564 คือเศรษฐกิจไม่ฟื้นตัวแบบตัววีหรือตัววีหางยาวแต่หากเป็นการฟื้นตัวแบบตัวแอลหางยาว หรือหากเศรษฐกิจดิ่งลงไปอีกงบประมาณปี 2564 ก็ช่วยประคองไม่ได้ เปรียบเหมือนคนไข้ที่หัวใจหยุดเต้น มาตรการต่างๆที่ออกมาตอนนี้จึงเหมือนกับการช็อคหัวใจเพื่อให้หัวใจยังเต้นอยู่

ลุ้นจีดีพีไตรมาส 3 ฟื้น

ทั้งนี้ ถือเป็นภารกิจระยะสั้นที่เป็นหน้าที่ของ ศบศ.ต้องประคองไปให้ได้เมื่อเศรษฐกิจติดลบน้อยลงและเริ่มเห็นการฟื้นตัว โดย ศบศ.จะยกเลิกกลับไปสู่มาตรการปกติ ซึ่งสิ่งที่จะเกิดขึ้นในระยะเวลาสั้น คือ เมื่อเศรษฐกิจไตรมาส 2 ติดลบถึง 12.2% เป็นเศรษฐกิจลงลึกมากที่สุดครั้งนึงในประวัติศาสตร์ไทย โดยภารกิจ ศบศ.จึงเหมือนกับรถกู้ชีพที่ต้องนำคนไข้ไปส่งถึงโรงพยาบาล คือ การประคับประคองผ่านไตรมาส 4 ไปจนถึงปี 2564 โดยจะต้องไม่ให้ “คนไข้” ตาย ต้องช่วยให้หัวใจยังเต้นอยู่เพราะเมื่อไปถึงโรงพยาบาลแล้วคนไข้ตายไม่มีประโยชน์

สำหรับการทำงานของ ศบศ.ออกแบบให้มีทั้งมาตรการระยะสั้นและระยะปานกลางถึงยาว โดยมีคณะอนุกรรมการที่ศึกษามาตรการทางเศรษฐกิจเสนอ ศบศ.ชุดใหญ่ และ ศบศ.นำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) จากนั้นโครงการจะกลับลงมาที่คณะกรรมการขับเคลื่อนฯ เพื่อติดตามว่าโครงการใดมีปัญหาอุปสรรคอย่างไรและจะให้ช่วยแก้ไขอย่างไร 

เล็งมาตรการอุ้มธุรกิจฐานราก

นอกจากนี้ ศบศ.หารือผลกระทบเอสเอ็มอีกำลังลำบากมาก แต่กลุ่มที่อยู่ระดับที่ต่ำกว่าเอสเอ็มอีลงไปก็ต้องมีมาตรการ เช่น หาบเร่แผงลอย เพราะหากไม่มีมาตรการช่วยเหลือระดับล่างลงไปก็จะช่วยให้เอสเอ็มอีรอดได้ยาก ซึ่งการจะหาเงินกู้มาให้ก็ไม่เกิดประโยชน์เพราะเขาเองอาจกู้ไม่ไหวแล้ว เพียงแต่เขาอยากมีลูกค้าอยากให้เศรษฐกิจหมุนไปได้ 

ดังนั้นการช่วยเอสเอ็มอีที่ดีที่สุด คือ การช่วยระดับที่ต่ำลงไปกว่าเอสเอ็มอี จึงเป็นที่มาของโครงการคนละครึ่งที่รัฐบาลต้องการช่วยให้มีเงินหมุนเวียนลงถึงระดับล่างสุดของเศรษฐกิจแท้จริง ซึ่งเป็นแนวคิดเดียวกับที่จีนใช้ที่ประสบความสำเร็จในการสร้างการบริโภคในระบบเศรษฐกิจให้กลับมาได้ 

ศบศ.ดันลงทุนระยะกลาง-ยาว

สำหรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระยะกลางและระยะยาวที่ต้องมาดู เพราะว่าหลังจากเกิดโควิดขึ้นสิ่งที่เกิดขึ้น คือ เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจเดียวที่ติดอยู่คือการลงทุนภาครัฐ ขณะที่เอกชนและรัฐวิสาหกิจชะลอการลงทุนและรับคนเกือบทั้งหมด 

สิ่งที่ทำ คือ การกระตุ้นเอกชนให้กลับมาลงทุนและใช้จ่ายโดยการผลักดันการลงทุน ซึ่งมีการคัดเลือกโครงการที่เป็นเมกโปรเจคที่ต้องการให้เดินหน้าต่อ เพื่อส่งสัญญาณว่าการลงทุนของรัฐไม่หยุด เรากระตุ้นให้เอกชน และรัฐวิสาหกิจลงทุนเพื่อให้เป็นอีกเครื่องยนต์ที่เดินหน้าคู่กันไปจนกว่าการส่งออกและการท่องเที่ยวจะกลับมาใกล้เคียงกับภาวะปกติ 

ทั้งนี้ ในอดีตการพลิกฟื้นเศรษฐกิจมักใช้ทฤษฎีหัวรถจักร คือ เมื่อเศรษฐกิจมีปัญหาให้รายใหญ่ 5-6 ราย เคลื่อนไปข้างหน้าได้ก็จะลากรายเล็กไปด้วย แต่สิ่งที่เกิดขึ้น คือ เมื่อใช้ทฤษฎีนี้ทำให้ยอดขายของสินค้าทั้งประเทศ 70% กระจุกตัวอยู่ที่บริษัทขนาดใหญ่ที่มีจำนวนเพียง 1% ของบริษัททั้งหมด ซึ่งการแก้ปัญหาครั้งนี้จะใช้วิธีแก้จากฐานรากและเสริมความเข้มแข็งระดับจุลภาคมากขึ้น 

“การติดเครื่องยนต์เศรษฐกิจต้องค่อยๆ ติดทีละเครื่อง ทั้งหมดจะทำให้องคาพยพทยอยขับเคลื่อน มาตรการต่างๆ ค่อยออกมาทั้งระยะสั้นและระยะกลาง เราหวังว่าตึกจะไม่พังทลายลงมา และที่สุดมันจะค่อยๆทรงตัวได้ ที่สำคัญคือข้างล่างซึ่งเป็นฐานของเศรษฐกิจต้องสามารถที่จะอยู่ได้”นายไพรินทร์ กล่าว