‘ภาษียาสูบ’ ไม่เป็นธรรม ทำรัฐสูญรายได้
ไขข้อข้องใจ เพราะเหตุใด "พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560" ที่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการจัดเก็บสรรพสามิต ถึงทำให้การจัดเก็บภาษียาสูบหรือบุหรี่ได้และสามารถนำส่งเงินเป็นรายได้แผ่นดินน้อยลง
การกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตยาสูบหรือบุหรี่ตามกฎกระทรวงเป็น 2 อัตราคือ ร้อยละ 20 และร้อยละ 40 เปิดช่องให้มีการแจ้งข้อมูลราคาขายปลีกแนะนำที่ไม่สอดคล้องกับความจริงของผู้ประกอบการ จนทำให้รัฐต้องสูญเสียรายได้ปีละนับหมื่นล้านบาท กระทบต่อรายได้ของการยาสูบแห่งประเทศไทย และเกษตรกรชาวไร่ยาสูบที่มีรายได้ลดลง
กรมสรรพสามิตได้เสนอ พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 เพื่อปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิต โดยเปลี่ยนวิธีการจัดเก็บภาษีสินค้าหลายชนิด รวมถึงยาสูบหรือบุหรี่ แม้ว่าจะมีหลักการเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีระหว่างสินค้าที่นำเข้ากับสินค้าที่ผลิตในประเทศ
แต่เมื่อมีการประกาศใช้กฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปัจจุบันคือปี 2563 กลับพบว่าภาครัฐจัดเก็บภาษีจากยาสูบหรือบุหรี่ได้ลดน้อยลง ส่งผลทำให้การนำส่งเงินเป็นรายได้แผ่นดินของการยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) หรือโรงงานยาสูบเดิมลดลงถึงปีละกว่า 10,000-14,000 ล้านบาทเมื่อเทียบกับช่วงก่อนปี 2560 กลุ่มชาวไร่ยาสูบมีรายได้ลดลงกว่าพันล้านบาท
กฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตกรณียาสูบเป็น 2 อัตราคือ ร้อยละ 20 สำหรับบุหรี่ราคาขายปลีกแนะนำไม่เกินซองละ 60 บาท และร้อยละ 40 หากราคาเกินกว่า 60 บาท เข้าลักษณะเป็นการอุ้มบุหรี่ราคาถูกที่คนไทยนิยมสูบมากมิให้มีราคาสูงเกินไป เพื่อช่วยชาวไร่ยาสูบ
แต่นโยบายของรัฐบาลในเรื่องนี้กลับเปิดช่องให้มีการแจ้งข้อมูลต้นทุนการผลิต ค่าบริหารจัดการ และกำไรมาตรฐานที่น่าจะไม่สอดคล้องกับความจริงของผู้ประกอบการธุรกิจยาสูบ ทำให้การคำนวณ “ราคาขายปลีกแนะนำ” ผิดเพี้ยนไป โดยบุหรี่นำเข้าบางยี่ห้อมีการปรับลดราคาลงอย่างมาก
การกำหนดอัตราภาษียาสูบ 2 อัตราของกรมสรรพสามิตนั้น ขัดต่อหลักการจัดเก็บภาษีที่ดีคือ หลักความเสมอภาคและหลักความเป็นธรรม (Equity and fairness) กล่าวคือผู้ประกอบการที่นำเข้าบุหรี่จากต่างประเทศกับผู้ประกอบการที่ผลิตและจำหน่ายบุหรี่ในประเทศ ควรถูกจัดเก็บภาษีในอัตราเดียว มิฉะนั้นแล้วจะทำให้เกิดปัญหาความไม่เป็นธรรมกับผู้ประกอบการรายอื่น และไม่สอดคล้องกับข้อเสนอขององค์การอนามัยโลก
กฎกระทรวงดังกล่าวของกรมสรรพสามิตยังมีข้อบกพร่องทำให้มีการหลีกเลี่ยงภาษีได้ง่าย เกิดช่องโหว่ในการตรวจสอบราคาขายปลีกแนะนำไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง แม้ที่ผ่านมากรมสรรพสามิตเคยหารือคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องการใช้อำนาจประกาศราคาขายปลีกแนะนำ ในกรณีที่มีข้อสงสัยว่าผู้ประกอบการแจ้งราคาไม่ตรงกับความเป็นจริงตาม “กฎกระทรวงการพิจารณาและประกาศกำหนดราคาขายปลีกแนะนำ พ.ศ.2560”
แต่คณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่า กรมสรรพสามิตไม่มีอำนาจกำหนดราคาขายปลีกแนะนำ หากผู้ประกอบการดำเนินการตามกฎกระทรวงแล้ว จึงทำให้เกิดปัญหาช่องโหว่ในการตรวจสอบการหลีกเลี่ยงภาษีของหน่วยงานของรัฐ
บุหรี่หรือยาสูบเป็นสินค้าที่มีความแตกต่างจากสินค้าอื่น ไม่ควรจัดทำเกณฑ์กำหนดราคาขายปลีกแนะนำเป็นการเฉพาะ ไม่ปะปนกับสินค้าอื่น เพราะในบางกรณีบุหรี่ไม่สามารถหาข้อมูลราคาสินค้าที่มีลักษณะหรือชนิดคล้ายคลึงกันมาเปรียบเทียบได้ เช่น บุหรี่นำเข้าอาจไม่สามารถหาราคาฐานนิยมได้ แตกต่างจากกรณีสินค้าประเภทอื่น เช่น รถยนต์ที่สามารถเปรียบเทียบราคาฐานนิยมได้ง่าย เพราะรถยนต์มีความหลากหลายของชนิดและลักษณะรถยนต์หลายยี่ห้อ
รัฐบาลควรแก้ไขกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 12) พ.ศ.2563 ในเรื่องอัตราภาษียาสูบ เพราะไม่สอดคล้องกับกรอบอนุสัญญาควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก (WHO FCTC) มาตรา 6 ข้อสำคัญคือกฎกระทรวงฉบับนี้เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้การจัดเก็บรายได้ของรัฐลดน้อยลง รัฐบาลควรกำหนดอัตราภาษียาสูบเป็นอัตราเดียว มีอัตราภาษีที่เหมาะสม มีมาตรการป้องกันและตรวจสอบการหลีกเลี่ยงภาษีของผู้ประกอบการ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศและลดการบริโภคยาสูบของประชาชน