'ส.ว.'ชี้'แก้'ม.256'ตั้ง'ส.ส.ร.'ขัดกม.เหตุนำสู่การยกร่าง'รธน.'ใหม่ไม่ใช่แก้ไข
"ส.ว." เสียงแข็ง ตั้ง "ส.ส.ร." โดยไม่ทำ "ประชามติ" ขัด "รธน." ชี้ ต้องมีอำนาจสถาปนาก่อน ระบุ รื้อ "ม.256" คือร่างใหม่ ไม่ใช่แก้ไข ด้าน เสรี ไม่หวั่นม็อบ 14 ตุลา กดดัน
นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในฐานะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาเสนอความเห็นในประเด็นข้อกฎหมาย ในคณะกมธ.พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมก่อนรับหลักการ รัฐสภา กล่าวถึงกรณีคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาเสนอความเห็นประเด็นข้อกฎหมาย สรุปความเห็นการแก้รัฐธรรมนูญสามารถทำได้โดยไม่ขัดรัฐธรรมนูญ และให้ทำประชามติเพียงครั้งเดียวหลังผ่านวาระ 3 ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ว่า ในที่ประชุมไม่ได้มีการลงมติแต่อย่างใด เพราะอนุกมธ.ไม่ได้มีอำนาจในการชี้ขาด แต่มีหน้าที่เสนอแนะ ทำความเห็นของข้อกฏหมาย ซึ่งสามารถมีความเห็นเป็น 2 แนวทางได้ เพื่อเสนอเข้าสู่ที่ประชุม กมธ.คณะใหญ่พิจารณารายงานเสนอแนะเข้าสู่ที่ประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อให้สมาชิกรัฐสภาใช้ประกอบการตัดสินในการลงมติรับหรือไม่รับหลักการในญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังนั้น อำนาจชี้ขาดจึงไม่ได้อยู้ที่กมธ. แต่อยู่ที่สมาชิกรัฐสภาทุกคน
นายดิเรกฤทธิ์ กล่าวว่า ยอมรับว่าทางซีกส.ว.ยังยืนยันว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อตั้งส.ส.ร.นั้น เป็นเรื่องที่ขัดรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นการนำไปสู่การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไม่ใช่การแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งตนคิดว่า เรื่องดังกล่าวคงต้องมีการยกตัวอย่างในการถกเถียงกันต่อไป เพราะ 2 ฝ่ายยังเห็นต่างกันอยู่ โดยซีกส.ส.ยืนยันว่า ไม่ได้เป็นการร่างใหม่ เพราะการยกเว้นหมวด 1 หมวด 2 ชี้ให้เห็นอยู่แล้วว่า ไม่ได้เป็นการร่างใหม่ทั้งฉบับ จึงแก้ไขมาตรา 256 เพื่อตั้งส.ส.ร.ได้ แต่ทางส.ว.ยันยันเช่นกันว่า หลักการและเหตุผลในญัตติแก้ไขทั้งฉบับของพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคร่วมฝ่ายค้านที่เสนอแก้ไขมาตรา 256 นั้นพูดไว้ชัดว่า เป็นการเขียนรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ทั้งฉบับ โดยมีการเพิ่มหมวด 15/1 ว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เลย จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า เป็นการร่างใหม่ ไม่ใช่การแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งการจะร่างใหม่จำเป็นต้องมีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญใหม่ โดยการทำประชามติถามความเห็นชอบจากประชาชนเสียก่อน ถึงจะสามารถตั้งส.ส.ร.ดำเนินการได้
ด้านนายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. ในฐานะกมธ.พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมก่อนรับหลักการ รัฐสภา กล่าวว่า คิดว่า เมื่อรายงานของอนุกมธ.เข้าสู่กมธ.คณะใหญ่แล้ว คงต้องนำความเห็นทั้งหมดมาคุยกันอย่างรอบด้านว่า แต่ละฝ่ายมีความเห็นเป็นอย่างไร หามุมทำความเข้าใจร่วมกันเพื่อหาข้อยุติในเรื่องที่เห็นต่างกันต่อไป จากนี้คงต้องรอฟังว่า เมื่อเข้ากมธ.คณะใหญ่แล้ว ผลออกมาจะเป็นอย่างไร เพราะขณะนี้ยังไม่ใช่ว่า ผลสรุปที่ออกมานั้นถือเป็นข้อยุติจึงขอว่า อย่าเพิ่งไปฟันธง เพราะกมธ.ยังเหลือเวลาถึงวันที่ 21 ตุลาคมนี้ ในการหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อให้ได้รายงานฉบับที่สมบูรณ์ที่สุดเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภา แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น หากผลสรุปออกมาแล้ว ไม่สามารถตกลงในแนวทางเดียวกันได้ กมธ.ก็ต้องบันทึกข้อเท็จจริงในทุกแนวทางทั้งเสียงส่วนใหญ่ เสียงส่วนน้อย ทำเป็นรายงานเสนอที่ประชุมรัฐสภา เพื่อให้สมาชิกได้ประกอบการตัดสินใจ ส่วนส.ว.จะยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อชี้ขาดข้อขัดแย้งทางกฏหมายนี้หรือไม่นั้น ขณะนี้ยังไม่ได้คุยกัน เพรายังเป็นเพียงขั้นตอนเสนอความเห็น ที่ต่างฝ่ายต่างมีสิทธิที่จะเสนอ โดยยังไม่ได้สรุปว่า จะมีแนวทางใดทางหนึ่งออกมา
เมื่อถามว่า กรณีที่คณะราษฎร ประกาศนัดชุมนุมใหญ่วันที่ 14 ตุลาคมนี้ จะมีผลต่อการตัดสินใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น นายเสรี กล่าวว่า ก็รับฟัง แต่จะไม่มีผลต่อการตัดสินใจใดๆของส.ว.แน่นอน เพราะเรื่องนี้ต้องว่ากันด้วยความถูกต้องของเหตุผลทางกฏหมายว่า อะไรเหมาะสมที่สุด ไม่ใช่การกดดันจากภายนอก ไม่เช่นนั้นจะทำงานกันไม่ได้ ถ้าทำงานต้องฟังเสียงกดดัน โดยไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของกฏหมาย