"อดีตโฆษก งบฯ64" โต้ ปมตัดงบสร้างเครื่องกั้นทางรถไฟ เสี่ยงเพิ่มอุบัติเหตุ

"อดีตโฆษก งบฯ64" โต้ ปมตัดงบสร้างเครื่องกั้นทางรถไฟ เสี่ยงเพิ่มอุบัติเหตุ

อัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ บอกตัดงบฯ64ทำที่กั้นรางรถไฟ ไม่ใช่ปมเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุรถไฟชนรถซ้ำซ้อน ชี้ต้นเหตุ คือ รฟท. ไม่อนุญาตให้จุดลักข้ามชุมชนเป็นจุดข้ามถาวร- ท้องถิ่นมีงบ แต่เข้าไปทำไม่ได้

            นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) กิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน คนที่สี่ สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่าจากกรณีที่เกิดอุบัติเหตุรถไฟชนรถบัสโดยสาร ที่ จ.ฉะเชิงเทรา เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม และมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก โดยข้อสันนิษฐานของสาเหตุคือ ไม่มีเครื่องกั้นทางรถไฟ นั้น ตนเตรียมนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุม กมธ. ช่วงวันที่ 29 ตุลาคม นี้ โดยเชิญผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) หรือตัวแทน เข้าชี้แจงต่อประเด็นที่เกี่ยวข้อง และเตรียมพิจารณาเสนอแนะให้ รฟท. ปฏิรูปแผนการทำงาน โดยเฉพาะการอนุมัติ อนุญาตทำอุปกรณ์กั้นทางรถไฟในพื้นที่ต่างๆ หลังจากที่พบว่าจุดตัดถนนและรางรถไฟหลายแห่งนั้น รฟท. ไม่อนุญาตให้ท้องถิ่นเข้าดำเนินการสร้างอุปกรณ์กั้นทาง

            “ส่วนที่บอกว่าไม่มีงบประมาณทำไม้กั้นทางจุดตัดรถไฟและถนน เพราะกมธ.งบประมาณปี 2564 ตัดงบดำเนินการ ของกรมขนส่งทางราง กระทรวงคมนาคมนั้น ผมฐานะโฆษก กมธ.งบประมาณ ปี 2564 ขอเช็ครายละเอียดอีกครั้ง แต่ยืนยันว่าต่อให้มีงบประมาณดำเนินการ แต่หาก รฟท. ฐานะเจ้าของพื้นที่ไม่อนุญาตให้หน่วยงานเข้าไปดำเนินการ หน่วยงานภายนอกไม่สามารถเข้าไปทำ หรือติดตั้งอุปกรณ์กั้นทางเพื่อลดอุบัติเหตุได้ ดังนั้นถึงเวลาที่ รฟท. ต้องปฏิรูปจุดลักข้ามในพื้นที่ต่างๆ หากจุดใดที่มีความจำเป็นต้องอนุญาตให้ทำเป็นจุดข้ามถาวร มีอุปกรณ์กั้นทางและนายตรวจดูแล แต่หากจุดไหนที่ไม่สามารถผ่อนผันได้ ต้องติดตั้งเครื่องกั้นถาวร เช่น บล็อคคอนกรีตกั้นทาง เป็นต้น” นายอัครเดช กล่าว

            นายอัครเดช กล่าวด้วยว่า ตนฐานะส.ส.ราชบุรี พื้นที่ อ.บ้านโป่ง พบปัญหาการเกิดอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดรถไฟหลายครั้ง โดยสาเหตุส่วนหนึ่งคือ ไม่มีเครื่องกั้นทาง และจุดข้ามส่วนใหญ่เป็นจุดลักข้ามที่ชุมชนใช้เป็นเส้นทางสัญจร เนื่องจากสภาพพื้นที่เมืองขยายตัว พื้นที่ถูกพัฒนา ทำถนน และมีจุดตัดข้ามรางรถไฟ ทั้งนี้ท้องถิ่นเคยเสนอไปยัง รฟท. ให้พิจารณาจุดลัดข้ามในพื้นที่จำเป็น เป็นจุดข้ามถาวร เพื่อสามาถทำอุปกรณ์กั้นทาง ป้องกันอุบัติเหตุ แต่รฟท. ไม่อนุมัติ ต่อให้ ท้องถิ่นสามารถจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินการได้เอง แต่หากไม่ได้รับอนุมัติจาก รฟท. จะไม่สามารถเข้าไปดำเนินการใดๆ ได้