'การบินไทย' รุกธุรกิจ Non-Aero คาด 5 ปี สัดส่วนรายได้แตะ 50%
การบินไทย เร่งทำแผนฟื้นฟูกิจการ คาด 5 ปี ธุรกิจ Non-aero ครัวการบิน-ช่างฝ่าย-คาร์โก้ รายได้แตะ 50% ฝ่ายช่าง “ครัวการบิน” เปิดกลยุทธ์ยุค เซฟการลงทุนลดความเสี่ยง ขยายเฟรนไชส์ปีหน้าครบ 700 สาขา เพิ่ม “พัฟแอนด์พาย” พร้อมส่งแบรนด์ใหม่ “ปาท่องโก๋”
บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการตามคำสั่งศาลล้มละลายกลางเมื่อวันที่ 14 ก.ย.2563 โดยมีกำหนดที่จะส่งแผนฟื้นฟูกิจการให้ศาลพิจารณาในไตรมาส 4 ปี 2563 และจะเสนอแต่งตั้งผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการในไตรมาส 1 ปี 2563 ซึ่งที่ผ่านมานายชาญศิลป์ ตรีนุชกร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ การบินไทย มีเป้าหมายให้การบินไทยกลับมาดำเนินธุรกิจตามปกติ พลิกฟื้นองค์กรได้ภายใน 5 ปีหลังจากเริ่มดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ
สำหรับแผนฟื้นฟูกิจการเบื้องต้นกำหนด 5 แนวทาง คือ
1.การปรับโครงสร้างหนี้และการเจรจาเจ้าหนี้
2.การปรับเส้นทางการบินและฝูงบิน
3.การปรับหน่วยธุรกิจให้คล่องตัวในการหารายได้
4.การปรับกลยุทธ์การพาณิชย์และการหารายได้
5.การปรับโครงสร้างองค์กรให้กระชับขึ้นและลดงานซ้ำซ้อน
ทั้งนี้ การปรับหน่วยธุรกิจให้คล่องตัวในการหารายได้จะครอบคลุม 3 ธุรกิจที่มีศักยภาพของการบินไทย คือ ครัวการบิน ฝ่ายช่าง และขนส่งสินค้า (คาร์โก้)
นางวรางคณา ลือโรจน์วงศ์ กรรมการผู้จัดการฝ่ายครัวการบิน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “กรุงเทพธุรกิจ” โดยระบุว่า จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลให้ทุกธุรกิจต้องปรับตัวรับกับความปกติใหม่ หรือ New normal ซึ่งในส่วนของอุตสาหกรรมการบิน ต้องปรับตัวหารายได้ทดแทนจากการหยุดทำการบิน ครัวการบินไทยจึงเล็งเห็นถึงโอกาสของการเพิ่มรายได้จากที่ไม่เกี่ยวกับกิจการการบิน (Non-Aeronautical Revenue) เร่งเพิ่มรายได้จากการเจาะตลาดลูกค้าภาคพื้นให้มากขึ้น
นางวรางคณา กล่าวว่า การปรับตัวของครัวการบินในครั้งนี้ อาจเป็นจุดเริ่มต้นของอีกหลายหน่วยธุรกิจในการบินไทย หรืออีกหลายธุรกิจที่จะนำไปต่อยอด เพื่อปรับตัวหารายได้ในช่วงวิกฤติ โดยครัวการบินไม่ได้มองว่าวันนี้เรามีคู่แข่งทางธุรกิจ แต่กลับมองว่าทุกรายคือพันธมิตรที่สามารถช่วยเหลือกันได้
ทั้งนี้ หน่วยธุรกิจอื่นของการบินไทยเองในปัจจุบันได้เริ่มปรับตัวหารายได้เพิ่มจากธุรกิจนอนแอร์โร เช่น ฝ่ายช่าง ได้เปิดโปรแกรมทดลองบินกับเครื่องฝึกบินจำลอง (Flight Simulator) เมื่อเดือน ก.ย.2563 เพื่อเสริมรายได้ให้องค์กรในช่วงที่ยังไม่ได้ทำการบินตามปกติ
สำหรับการปรับกลยุทธ์ของหน่วยธุรกิจนอนแอร์โรครั้งนี้ ส่วนตัวมั่นใจว่าจะเป็นส่วนสำคัญของการเสริมรายได้ให้กับองค์กรโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน เพราะจะเป็นอีกหนึ่งส่วนรายได้ที่ทำให้องค์กรไม่ต้องพึ่งพารายได้เพียงทางใดทางหนึ่ง
"คาดการณ์ว่าภายใน 5 ปีหลังจากนี้ ธุรกิจนอนแอร์โรของการบินไทย ประกอบด้วย ครัวการบิน ฝ่ายช่าง และขนส่งสินค้า (คาร์โก้) จะเพิ่มสัดส่วนรายได้ให้กับองค์กร จากปัจจุบันคิดเป็น 15% ของรายได้รวม จะเพิ่มเป็น 50% ของรายได้รวม"นางวรางคณา กล่าวกับกรุงเทพธุรกิจ
โดยประมาณการณ์เบื้องต้น ขณะนี้รายได้จากธุรกิจครัวการบิน เฉลี่ยอยู่ที่ราวปีละ 1 หมื่นล้านบาท จะเพิ่มขึ้นเป็น 2 หมื่นล้านบาท ขณะที่รายได้จากฝ่ายช่าง ปัจจุบันมี 1.5–2 หมื่นล้านบาท และคาร์โก้ รายได้ราว 2 หมื่นล้านบาท รวมรายได้จาก 3 หน่วยธุรกิจมีประมาณ 4-5 หมื่นล้านบาทต่อปี ซึ่งเชื่อว่าทุกหน่วยธุรกิจก็คาดหวังในการเพิ่มรายได้โตเป็นเท่าตัวเช่นเดียวกัน
ส่วนรายได้ครัวการบินปี 2562 อยู่ที่ราว 8.5 พันล้านบาท ซึ่ง 90% มาจากลูกค้าสายการบิน และ 10% ลูกค้าภาคพื้น โดยสถานการณ์โควิด-19 ที่กระทบรายได้ลูกค้าสายการบินหายไปทั้งหมด แต่จากการปรับตัวของครัวการบิน หันมาเพิ่มรายได้จากภาคพื้น ส่งผลให้รายได้ภาคพื้นจากเดิมคิดเป็น 10% ปัจจุบันเพิ่มสัดส่วนมาอยู่ที่ 20% และคาดการณ์ว่าภายในสิ้นปีจะเพิ่มเป็น 30% ส่งผลให้รายได้ครัวการบินในปีนี้ น่าจะอยู่ที่ราว 2 พันล้านบาท
ขณะที่ปี 2564 จากการปรับกลยุทธ์เพิ่มรายได้ภาคพื้นผ่านแผนขยายสาขาเฟรนไชส์ทุกแบรนด์ให้ได้รวม 700 สาขา ครัวการบินจึงคาดการณ์ว่าจะเพิ่มรายได้อีกไม่ต่ำกว่า 3.5 พันล้านบาท ทั้งนี้ การหารายได้ที่เกิดขึ้นจากธุรกิจนอนแอร์โรว์ แม้ว่าจะเป็นสัดส่วนไม่สูงนัก หากเทียบกับรายได้รวมของการบินไทย แต่ครัวการบินมองว่าในช่วงวิกฤตที่ไม่สามารถทำการบินได้เช่นนี้ การนำเงินมาหมุนเวียนในองค์การเป็นประโยชน์สูงสุด และครัวการบินสามารถหารายได้เข้าองค์การได้ทุกวัน โดยเป็นรายได้เงินสด ซึ่งสามารถเพิ่มสภาพคล่องให้การบินไทยได้
ทั้งนี้ จากความสำเร็จของการเปิดให้บริการภัตตาคาร Royal Orchid Dining Experience แห่งแรกที่สำนักงานใหญ่การบินไทย ครัวการบินจึงเพิ่มสาขาที่ 2 คือ สำนักงานการบินไทยที่สีลม และเตรียมขยายแห่งที่ 3 ที่สำนักงานหลานหลวง อีกทั้งยังมีแผนขยายภัตตาคารดังกล่าวไปยังหัวเมืองใหญ่ อาทิ เชียงใหม่ กระบี่ และภูเก็ต เป็นต้น
นอกจากนี้ ครัวการบินยังมีแผนเปิดภัตตาคารดังกล่าวในต่างประเทศ ภายหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 คลี่คลาย โดยเบื้องต้นมีแผนเปิดให้บริการในเมืองหลัก เช่น ลอนดอน โตเกียว และหลายเมืองในจีน โดยรูปแบบของภัตตาคารจะเน้นให้บริการอาหารไทย เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าต่างชาติที่อยากสัมผัสความเป็นไทย ด้วยอาหารคุณภาพ และบริการแบบไทยๆ
ขณะเดียวกัน ปัจจุบันครัวการบินยังอยู่ระหว่างจัดทำแผนขยายสาขาแบรนด์พัฟแอนด์พาย ซึ่งเป็นแบรนด์หลักในด้านอาหารและขนมของครัวการบิน ปัจจุบันมี 30–40 จังหวัดที่ยังไม่มีสาขา โดยรูปแบบของการขยายธุรกิจจะเน้นใช้ตัวแทนจำหน่าย หรือเฟรนไชส์ เบื้องต้นมีเป้าหมายขยายสาขาเพิ่มขึ้น 500 สาขา เพื่อสร้างรายได้เพิ่มราว 500 ล้านบาทต่อปี