ชป.สั่งเข้มตั้ง"ศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจ "พร้อมช่วยเหลือประชาชน 24 ชั่วโมง
กรมชลประทานตั้งศูนย์เฉพาะกิจ เร่งช่วยเหลือภัยน้ำท่วม ตลอด24 ชี่วโมง จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ หลัง พายุ " นังกา" ทำฝนตกหนัก ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก ในวันที่ 14-15 ต.ค.นี้
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ตามข้อสั่งการของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตร เข้าไปให้การช่วยเหลือเกษตรกรจากอุทกภัยอย่างสุดกำลัง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนให้มากที่สุด จากอิทธิพลพายุ “นังกา”ที่คาดว่าจะทำให้ฝนตกหนักอีกระรอกในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ในวันที่ 14-15 ต.ค.นี้
กรมชลประทาน ได้ติดตามสถานการณ์น้ำตลอดจนมอบหมายให้ทุกหน่วยงานเข้าไปให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย โดยได้บูรณาการและประสานการทำงานร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ฝ่ายปกครองในจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันจัดทำแผนเตรียมความพร้อม ตลอดจนวางแผนปฏิบัติงานในสภาวะวิกฤติ โดยมีการกำหนดพื้นที่ กำหนดคน พร้อมทั้งจัดสรรทรัพยากร เครื่องจักร เครื่องมือ ให้พร้อมเข้าให้การช่วยเหลือประชาชนได้ในทันที
นอกจากนี้ กรมชลประทาน ได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาอุทกภัยขึ้นทั่วประเทศ เพื่อใช้เป็นศูนย์ติดตาม ประสานงาน และแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่นั้นๆ ตลอด 24 ชั่วโมง จนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ
ทั้งนี้ ขอให้ติดตามประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมความพร้อมในการป้องกันและให้ความช่วยเหลือเกษตรกรตลอดจนผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ต่างๆ หากต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อโครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทรสายด่วนกรมชลประทาน 1460 ได้ตลอดเวลา
นายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า สถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี ปัจจุบัน(13ต.ค63) อ่างเก็บน้ำแก่งกระจาน มีปริมาณน้ำ 361 ล้าน ลบ.ม.(50 % ของความจุอ่างฯ) ปิดการระบายน้ำ ส่วนอ่างเก็บน้ำแม่ประจันต์มีปริมาณน้ำเต็มความจุที่ 44 ล้าน ลบ.ม. ระบายน้ำ 30 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จำเป็นต้องระบายน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม ส่วนที่อ่างเก็บน้ำห้วยผาก มีปริมาณน้ำ 21 ล้าน ลบ.ม. (77 % ของความจุอ่างฯ) ปิดการระบาย
ทั้งนี้ ปริมาณจากอ่างเก็บน้ำแม่ประจันต์ จะไหลไปรวมกับปริมาณน้ำท่าที่เกิดจากฝนตกด้านท้ายอ่างฯ ก่อนจะไหลไปรวมกับแม่น้ำเพชรบุรีเข้าสู่เขื่อนเพชร ซึ่งจะเป็นตัวควบคุมการระบายน้ำในแม่น้ำเพชรบุรี ที่จะไหลลงไปสู่ตัวเมืองจังหวัดเพชรบุรีตามลำดับ
กรมชลประทาน ได้บริหารจัดการน้ำ โดยการผันน้ำบริเวณด้านเหนือเขื่อนเพชรลงแม่น้ำเข้าสู่คลองส่งน้ำสายใหญ่ 3 ระบายน้ำไปยังคลองระบายน้ำ D.9 พร้อมกับเพิ่มการระบายน้ำเข้าคลองส่งน้ำอีก 3 สาย รวมปริมาณน้ำที่ผันผ่านระบบชลประทานทั้งสิ้น 68 ลบ.ม./วินาที ด้านเขื่อนเพชรปัจจุบันมีปริมาณน้ำไหลผ่าน 51 ลบ.ม./วินาที มีแนวโน้มลดลง ส่วนระดับน้ำในแม่น้ำเพชรบุรี ที่สถานี B.15 ในเขตเทศบาลเมืองเพชรบุรี ต่ำกว่าตลิ่ง 1.06 เมตร (ตลิ่งสูง 5.40 เมตร) ระดับน้ำมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน สถานการณ์น้ำโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ที่ควบคุมได้
ในส่วนของการให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ สำนักงานชลประทานที่ 14 ได้ทำการติดตั้งเครื่องสูบน้ำแล้ว 24 เครื่อง สำรองอีก 11 เครื่อง และติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำแล้ว 18 เครื่อง สำรองอีก 42 เครื่อง พร้อมจัดเตรียมรถแบคโฮ 5 คัน และรถเครนยกอีก 1 คัน นอกจากนี้ ยังได้รับการสนับสนุนเรือผลักดันน้ำจากกองทัพเรืออีกจำนวน 20 ลำ โดยติดตั้งพร้อมเดินเครื่องแล้วที่บริเวณสะพานวัดคุ้งตำหนัก 10 ลำ และสำรองอีก 10 ลำ เพื่อช่วยเร่งการระบายน้ำให้เร็วยิ่งขึ้น