‘พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์’ ทรงร่วมพิธี ‘แต่งดา สมโภชองค์พระกฐิน’
“พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์” เสด็จไปทรงประกอบพิธี “แต่งดาและสมโภชองค์พระกฐิน” การนี้ทรงร่วม “กวนข้าวทิพย์” (ข้าวมธุปายาส) วัดธาราทิพย์ชัยประดิษฐ์ จังหวัดเชียงใหม่
วานนี้ (วัน 15 ต.ค. 63) เวลา 22.00 น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ เสด็จไปทรงประกอบพิธีแต่งดาและสมโภชองค์พระกฐิน การนี้ทรงร่วมกวนข้าวทิพย์ (ข้าวมธุปายาส) ร่วมกับประชาชนที่มาร่วมงาน ทั้งนี้ในวันศุกร์ที่ 16 ตุลาคม 2563 เวลา 16.00 น พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ จะเสด็จไปทรงถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดธาราทิพย์ชัยประดิษฐ์ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่
การกวนข้าวมธุปายาส หรือข้าวทิพย์ เป็นกิจกรรมสำคัญตามพุทธประวัติ เป็นข้าวทิพย์ที่ นางสุชาดา บุตรีกฎุมพี มหาเศรษฐี แห่งบ้านเสนานิคม ณ ตำบลอุรุเวลา ประเทศอินเดีย ในสมัยพุทธกาล ซึ่งจัดปรุงขึ้นแล้วนำไปถวายพระมหาบุรุษ ก่อนที่จะตรัสรู้เป็นพระสัมมา สัมพุทธเจ้า หลังจากพระองค์เสวยข้าวมธุปายาสของนางสุชาดาแล้ว ก็ได้ทรงบรรลุอภิสัมโพธิญาณในย่ำรุ่งของคืนนั้นเอง ชาวบ้านจึงเชื่อว่าข้าวมธุปายาสเป็นอาหารทิพย์ เป็นโอสถขนานเอกบันดาลความสำเร็จให้แก่ผู้บริโภคด้วย
สำหรับในปัจจุบันการกวนข้าวมธุปายาส นิยมทำกันในวันขึ้น 13 และ14 ค่ำ เดือน 3 ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ข้าวในนากำลังออกรวงเป็นน้ำนมข้าวเพราะน้ำนมข้าวเป็นเครื่องปรุงสำคัญ ผสมกับเครื่องปรุงนานาชนิดที่มีอยู่ในท้องถิ่น เช่น ผลไม้ชนิดต่างๆ น้ำผึ้ง น้ำตาลทราย กะทิ พืชสมุนไพร เผือก มัน เป็นต้น มาผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน จากนั้นนำไปใส่ในกระทะใบบัวที่วางอยู่บนเตาไฟ ซึ่งใช้ไม้ฟืนเป็นเชื้อเพลิง แล้วช่วยกันผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันกวนซึ่งใช้เวลา 6-8 ชั่วโมง จนเหนียว เทใส่ภาชนะสำหรับรับประทานเพื่อความเป็นสิริมงคล
ตามพุทธประเพณีโบราณ การกวนข้าวทิพย์ล้วนมีองค์ประกอบและขั้นตอนที่หลากหลาย โดยเฉพาะการกำหนดให้คนกวน ต้องเป็นสาวพรหมจรรย์ 3 คน ที่เป็นลูกคนหัวปี คนกลาง และคนสุดท้อง ขณะที่ภายในมณฑลพิธี ยังมีข้อห้ามอีกหลายประการ อาทิ ห้ามดื่มสุราห้ามรับประทานอาหาร ห้ามสวมรองเท้า ห้ามผู้มีโรคสังคมรังเกียจ ห้ามผู้หญิงมีประจำเดือนหรือมีครรภ์เข้าไปอย่างเด็ดขาดและตลอดช่วงเวลาของการทำพิธี จะต้องมีการบวงสรวงลงเลขยันต์ทุกขั้นตอน ส่วนพิธีกวนข้าวทิพย์ ต้องมีการเตรียมข้าวของต่างๆ จำนวนมาก อาทิ นม เนย ข้าวตอก น้ำนม น้ำอ้อย น้ำผึ้ง มะพร้าว งา ถั่วต่างๆ
ด้วยกรรมวิธีต่างๆ เหล่านี้ ทำให้พิธีกวนข้าวทิพย์เต็มไปด้วยความศักดิ์สิทธิ์ เชื่อกันว่า หากได้นำข้าวทิพย์ไปรับประทานหรือบูชา ย่อมเกิดมงคลต่อชีวิตเป็นอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์แต่ขั้นตอนและกระบวนการสรรหาคนมากวนที่ยุ่งยาก ทำให้ประเพณีกวนข้าวทิพย์ค่อยๆ หายไปในปัจจุบัน
(ที่มาภาพและข้อความ : เพจกองทุนพระเจ้าวรวงศ์ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์)