เช็คลิสต์ รู้ก่อนซื้อ 'กองทุนรวม'
ถ้ากองทุนรวมคือจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับนักลงทุนมือใหม่ แล้วอะไรคือสิ่งที่เราต้องรู้ก่อนจะซื้อ “กองทุนรวม”
การลงทุนใน “กองทุนรวม”เป็นหนึ่งในวิธีการลงทุนยอดนิยมสำหรับนักลงทุนมือใหม่ รวมถึงผู้ที่ไม่มีเวลาติดตามความเคลื่อนไหวในการลงทุนตลอดเวลา ทั้งนี้เพราะในการลงทุน “กองทุนรวม” จะมีมืออาชีพด้านการลงทุนคอยตัดสินใจแทนเรา เช่นเดียวกับการใช้จำนวนเงินเริ่มต้นลงทุนที่ไม่มากเกินไป ซึ่งนั่นทำให้การลงทุนใน “กองทุนรวม” คือจุดเริ่มต้นลงทุนแรกๆ สำหรับผู้ที่เริ่มต้นทำงานได้ไม่นานนัก
ถึงเช่นนั้น ความต้องการลงทุนของแต่ละคนก็ย่อมแตกต่างกัน และในการลงทุนกองทุนรวมก็มีกองทุนให้เลือกหลายแบบ มีจุดประสงค์และระยะเวลาเพื่อให้ถึงเป้าหมายที่แตกต่างกัน เมื่อเป็นเช่นนี้คำถามที่ต้องพิจารณาต่อไปนี้คือ แล้วอะไรคือสิ่งที่เราต้องรู้บ้าง ก่อนตัดสินใจเลือกกองทุนสักกอง ?
รู้จักความต้องการตัวเอง
ฟังดูเหมือนปรัชญาในการค้นหาตัวเอง แต่นี่แหละคือขั้นตอนแรกในการพิจารณากองทุน ที่นี่หมายถึงต้องรู้จักวัตถุประสงค์ในการลงทุนของแต่ละคน ความเสี่ยงที่สามารถรับได้ และระยะเวลาในการลงทุน
อธิบายให้เห็นภาพว่า หากเงินลงทุนของเราเป็นเงินก้อนที่มีความจำเป็นต่อการใช้จ่ายในอนาคต ความสามารถในการรับความเสี่ยงของการขาดทุนเงินต้นได้น้อย ก็ควรลงทุนในกองทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น กองทุนตราสารหนี้ หากเป็นเงินลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ปานกลาง ก็ควรเลือกลงทุนใน LTF เพื่อสร้างโอกาสในการรับผลตอบแทนจากกองทุน รวมทั้งรับผลประโยชน์ทางภาษี หรือถ้าใครสามารถรับความเสี่ยงได้สูง เพื่อสร้างผลตอบแทนที่สูงกว่า ก็สามารถเลือกลงทุนในกองทุนหุ้น, กองทุนที่ลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศ ซึ่งแม้จะมีความเสี่ยงแต่ก็มีโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนสูงกว่า
ดูนโยบายการลงทุน
ในแต่ละกองทุนจะมีรายละเอียดการลงทุนที่เรียกว่า Fund Fact Sheet (หนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญ) ซึ่งจะอธิบายว่า ในกองทุนรวมนั้นๆ จะนำเงินของเราไปลงทุนในสินทรัพย์ประเภทใด เช่น นำไปลงทุนในตราสารหนี้ พันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้ มีระดับความเสี่ยงต่ำถึงปานกลาง อัตราผลตอบแทนคาดหวังอยู่ที่ประมาณ 3% ต่อปี หรือบางกองอาจจะลงทุนใน อสังหาริมทรัพย์ เช่น ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ให้เช่า เป็นต้น
เราควรเลือกกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนตรงกับสิ่งที่เราต้องการ เช่น ลงทุนในกองทุนรวมตราสารทุน ก็เพราะอยากจะลงในหุ้นของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือหากใครที่ชอบแบบผสมผสาน ก็ยังมีกองทุนผสม คือ การลงทุนในสินทรัพย์หลากหลาย ช่วยกระจายความเสี่ยง
ทั้งนี้เราสามารถพิจารณาได้จากผลการดำเนินงานย้อนหลัง 3 เดือน 6 เดือน 1 ปี 3 ปี 5 ปี และตั้งแต่จัดตั้งกองทุน เพื่อดูความสม่ำเสมอของผลการดำเนินงานทั้งในระยะสั้นและระยะยาว พร้อมเปรียบเทียบกับดัชนีชี้วัด และกองทุนของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) อื่นๆ ที่มีนโยบายการลงทุนแบบเดียวกันเพื่อให้เจอกับกองทุนที่เราต้องการ
ค่าธรรมเนียมและเงื่อนไขซื้อ-ขายคืน
ถ้ากองทุนที่คิดจะซื้อดูน่าเชื่อถือและมีผลตอบแทนที่ดี แต่ค่าธรรมเนียมสุดแพงก็คงไม่ดีแน่ๆ กองทุนรวมที่มีค่าธรรมเนียมสูงจะทำให้ผลตอบแทนที่นักลงทุนควรจะได้รับต่ำลง เพราะต้องแบ่งเงินบางส่วนออกไปจ่ายเป็นค่าธรรมเนียม
ผู้ลงทุนหน้าใหม่ต้องเปรียบเทียบค่าธรรมเนียมของกองทุนรวมก่อนการลงทุนทุกครั้ง โดยใช้วิธีการเปรียบเทียบค่าธรรมเนียมจากกองทุนรวมที่ลงทุนในสินทรัพย์ประเภทเดียวกันและมีนโยบายใกล้เคียงกันเป็นหลัก หากมีนโยบายการลงทุนและผลงานที่ไม่ต่างกัน ควรเลือกกองทุนรวมที่มีค่าธรรมเนียมต่ำที่สุด เช่นเดียวกับการดูเงื่อนไขการซื้อ
เช่น จำนวนขั้นต่ำในการซื้อครั้งแรกเท่าไร, จำนวนขั้นต่ำในการซื้อครั้งถัดไปมีราคาเท่าใด, สถานที่ซื้อ , วิธีการซื้อ ราคาอ้างอิงของหน่วยลงทุนที่จะได้ ยกตัวอย่างว่า โดยทั่วไปจะเขียนอยู่ในรูป T (วันที่ทำธุรกรรม) เช่น T + 1, T+2 ซึ่งหมายถึงราคาหน่วยลงทุนที่ได้จะเป็นราคาของหน่วยลงทุนของ1- 2 วันทำการที่ถัดไปจากวันที่ชำระเงิน เช่น ชำระเงินวันพุธ ราคาหน่วยลงทุนที่ซื้อได้จะเป็นวันพฤหัสบดี หรือวันศุกร์ เป็นต้น
เข้าใจภาพรวมการลงทุนในขณะนั้น
แม้จะมีมืออาชีพจัดการให้ แต่สิ่งที่เราต้องรู้ (ไว้บ้าง) หากคิดจะลงทุน คือบรรยากาศและทิศทางของเศรษฐกิจในช่วงนั้นว่าจะส่งผลต่อกองทุนรวมของเราอย่างไร เหตุเพราะกองทุนรวมที่เราเลือกอาจไม่สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีได้ในทุกภาวะเศรษฐกิจ หากเราเข้าใจและสามารถวิเคราะห์ผลกระทบจากตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจได้เบื้องต้น ก็จะช่วยให้เราเลือก กองทุนรวมที่เหมาะกับสภาวการณ์นั้นๆ ได้
แบบฟอร์มแจ้งความประสงค์ขอรับข้อมูลการลงทุน
บลจ.เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ จํากัด คลิกที่นี่
บลจ พรินซิเพิล Principle คลิกที่นี่
สนใจเปิดบัญชีลงทุนกองทุน เริ่มต้น 1,000 บาท คลิกที่นี่