เช็คชีพจร“ธุรกิจอีเวนท์” เมื่อมรสุมหลากลูกซัดซ้ำเติม!
เคราะห์ซ้ำกรรมซัดธุรกิจ"อีเวนท์" จากเศรษฐกิจที่ถดถอยลากยาวหลายปี กระเทือนลูกค้าชะลอ หั่นงบจัดกิจกรรม มาถึงโรคโควิด-19 ระบาด ทุบผู้ประกอบการไร้งาน เงินสดลดลง ล่าสุด การชุมนุมประท้วง เบรกความเชื่อมั่น ลูกค้าแตะเบรกใช้จ่าย รายได้ส่อหายต่อเนื่อง
เหตุการณ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่าที่เป็นปัจจัยลบทุบ! “ธุรกิจอีเวนท์” ให้ดิ่งลงทุกวัน จาก 4-5 ปีที่ผ่านมาเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาทั่วโลกลามไทย มาปี 2563 โรคโควิด-19 ระบาด จนประเทศมีมาตรการล็อกดาวน์ ธุรกิจแช่แข็ง และล่าสุดความขัดแย้งทางการเมืองจนมีการชุมนุมประท้วง ส่งผลต่อทำให้ความเชื่อมั่นผู้ประกอบการและต้อง “หั่นงบ”รักษาเงินสดดูเชิงสถานการณ์เปราะบางอย่างใกล้ชิด
“ธุรกิจอีเวนท์ Veery sensitive เมื่อมีเหตุการณ์ต่างๆเกิดขึ้น ลูกค้าหั่นงบจัดงานก่อนเลย หั่นก่อนงบโฆษณาด้วย เพราะตัดงบอีเวนท์แล้วยังมีเงินเหลือไปทำโฆษณาสื่อสารการตลาด” มุมมองของ อุปถัมภ์ นิติสุขเจริญ นายกสมาคมธุรกิจสร้างสรรค์การจัดงาน (EMA) และประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไร้ท์แมน จำกัด
ประเมินสถานการณ์เฉพาะหน้า หากการชุมนุมไม่ยืดเยื้อ ภาครัฐบริหารจัดการได้ภายในสัปดาห์นี้ คาดว่าจะไม่มีผลกระทบต่อธุรกิจอีเวนท์มากนัก แต่ในทางจิตวิทยาคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเมื่อมีการชุมนุม แบรนด์สินค้าระดับโลกที่ใช้อีเวนท์เป็นเครื่องมือในการตลาด เปิดตัวสินค้า กระตุ้นยอดขายจะต้องแตะเบรก จากก่อนหน้านี้โรคโควิด-19 ทำให้แบรนด์สินค้าจำนวนมาก “ลด” และ “งด” การจัดกิจกรรมไปแล้วไม่น้อย
ไม่ใช่แค่เอกชนที่หันมาประหยัดค่าใช้จ่ายในการจัดอีเวนท์ แต่รวมถึงภาครัฐด้วย เพราะนอกจากบรรยากาศจะไม่เอื้อให้จัดงานแล้ว เมื่อโรคระบาดกระทบธุรกิจ ประชาชนทั้งประเทศทำให้ต้องจัดสรร หรือโยกงบประมาณไปช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนเป็นลำดับแรกก่อน อุตสาหกรรมอีเวนท์มูลค่า “หมื่นล้านบาท” งานภาครัฐจากทุกกระทรวงมีมูลค่าราว 4,000 ล้านบาท เกือบ 50% ของทั้งตลาด
ทว่า ปัจจัยลบซัดธุรกิจหลายระลอก คาดการณ์ปี 2563 เม็ดเงินจะหายจากอุตสาหกรรมถึง 60% นี่เป็นการมองภาพแบบคิด “บวก” เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าโค้งสุดท้ายปีจะมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นอีก
แม้งานอีเวนท์จะไม่หายไปหมดเสียทีเดียว แต่งานที่ยังจัดต่าง “ลดขนาด” ให้เล็กลง ส่วนงานที่จัดมักจะเป็นการสัมมนา การประชุม ฟอรั่มวิชาการต่างๆ เอกชนก็ล้วนเป็นแบบธุรกิจต่อธุรกิจ(B2B) ส่วนงานแคมเปญการตลาดสร้างประสบการณ์กับผู้บริโภค(B2C)แบรนด์เทงบลงมาน้อยมาก
“งานบีทูบีที่ยังคงจัดจะเป็นกลุ่มธุรกิจค้าปลีก ซึ่งศูนย์การค้าต่างๆมีแผนจะทำกิจกรรมเพื่อรับช่วงไฮซีซั่น แต่ยอมรับว่าช่วงนี้เปราะบางมาก”
นาทีนี้ผู้ประกอบการไม่เพียงแค่ธุรกิจอีเวนท์ที่ต้องดูสถานการณ์ต่างๆแบบ “วันต่อวัน” แค่วัคซีนสู้โควิด-19 มีการยกเลิก หลายประเทศถอดใจ จนกระทบความรู้สึกคนทั้งโลก ทำให้ไม่รู้ว่าโรคระบาดจะจบเมื่อไหร่ ส่วนการชุมนุมถือเป็นประเด็นย่อยห่วงน้อยกว่าไวรัสร้าย
ทุกวิกฤติ ผู้ประกอบการต้อง “ปรับตัว” แต่พลิกหลายกระบวนท่ายังเผชิญความเหนื่อยยาก อย่าง “ไร้ท์แมน” เขย่าโครงสร้างใหม่ ลดพนักงาน 25-30% ก่อนโควิดจากมีทีมงาน 500 ชีวิต ปัจจุบันเหลือ 300 คน พร้อมทั้งปรับโมเดลธุรกิจให้หลากหลายมากขึ้น(Diversify)มุ่งรับงานสร้างศูนย์การเรียนรู้ พิพิธภัณฑ์ รวมถึงรับปรับปรุงโครงการต่างๆ เช่น สร้างหอชมเมืองสมุทรปราการ หอโหวดร้อยเอ็ด หอโหวดชมเมืองจังหวัดต่าง ซึ่งนอกจากจะสร้างรายได้ทดแทนธุรกิจอีเวนท์ ยังสร้างแลนด์มาร์คใหม่ให้เป็นจุดหมายปลายทาง(Destination)ของนักเดินทางกระตุ้นการท่องเที่ยวได้ด้วย
สำหรับไตรมาส 4 ไร้ท์แมนยังมีงานในมืออยู่ เพื่อสร้างเม็ดเงิน(Cash flow)เข้าบริษัท และประคองธุรกิจทั้งปีให้มีรายได้ระดับ 600 ล้านบาท ใกล้เคียงปีก่อน
อุปถัมภ์ กล่าวอีกว่า กว่าที่ธุรกิจอีเวนท์จะกลับมาฟื้นตัวเติบโตได้อีกครั้งเป็นเรื่องยากและท้าทายมากขึ้น ซึ่งคงใช้เวลาอีกหลายปี เพราะยังคาดยากว่าจะเห็นภาพตัววี(V) หรือไม่ เพราะ 2-3 เดือนแก ธุรกิจดิ่ง ประเมินโควิดไม่ยืดเยื้อ แต่พอลากยาวเป็น 6 เดือน 9 เดือน ผู้ประกอบการเริ่มออกอาการไม่ไหว เนื่องจากธุรกิจต้องใช้ “เงินสด” สำรองจ่ายล่วงหน้า แต่กว่าจะเบิกเงินรับรู้รายได้จากลูกค้าใช้เวลา 2-4 เดือน
“คิดว่าโควิดจบเร็ว พอไม่จบบริษัทที่กล้าตัดสินใจตัดขาดทุนหรือ Cut lost ทันที ลดคนก่อนเดือนมิ.ย.-ก.ค. ให้พนักงานเออลี่ ออก การกล้าตัดสินใจ เลือกล้มก่อนหรือ Fail fast กว่าคนอื่นเพื่อป้องกันไม่ให้ล้มหนัก เพราะการที่บริษัทลดต้นทุนคงที่หรือ Fix cost จะรักษาบริษัทไว้ได้”
อุปถัมภ์ บอกด้วยว่า แม้ปีนี้ธุรกิจอีเว้นท์จะเหนื่อย แต่ไม่ได้เหนื่อยลำพัง เพราะทุกธุรกิจสาหัสหมด ส่วนการบริหารจัดการประเทศนาทีนี้ต่อให้เป็นซูเปอร์แมน ยังยาก เพราะไม่เคยมีใครประเมินScenario ธุรกิจท่องเที่ยวจะล้มทั้งระบบ ครั้งแรกที่คนทั้งโลกถูกห้ามเดินทาง ต่อให้เดินทางได้ ก็ไม่มีใครกล้าไปเที่ยวท่ามกลางโรคระบาด