ร้องตรวจสอบ 'ทวิต-เฟซ-เว็บบอร์ด' จนท.ชี้ 324,990 เรื่อง เข้าข่ายผิดพ.ร.บ.คอมพ์
ประชาชน ร้องเรียนตรวจสอบ "ทวิตเตอร์-เฟซบุ๊ค-เว็บบอร์ด" อื้อ จนท.ชี้ 324,990 เรื่อง เข้าข่ายผิดพ.ร.บ.คอมพ์และพ.ร.ก.ฉุกเฉิน
ศูนย์เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์การชุมนุม กระทรวงดีอีเอส สรุปตัวเลขช่วงการชุมนุม รอบสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 13 - 18 ต.ค. 2563 พบมีแกนนำ นักการเมือง ผู้ใช้โซเชียล โพสต์ผิดกฎหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เตรียมทยอยส่งดำเนินคดี พร้อมเตือนประชาชนใช้สื่อออนไลน์อย่างระมัดระวัง
ตามที่นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ให้นโยบายในการตั้งศูนย์เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์การชุมนุม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) โดยได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ เฝ้าติดตามมอนิเตอร์การกระทำความผิดในการใช้สื่อสังคมออนไลน์ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และแก้ไขเพิ่มเติม และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ระหว่างวันที่ 13 ตุลาคม – 18 ตุลาคม 2563
โดยที่มีทั้งประชาชนแจ้งเข้ามา และทางเจ้าหน้าที่ตรวจสอบพบ ว่าเข้าข่ายสุ่มเสี่ยงกระทำผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทั้งหมด 324,990 เรื่อง แบ่งเป็น Twitter 75,076 เรื่อง Facebook 245,678 เรื่อง และ Web board 4,236 เรื่อง ซึ่งรวมทั้งผู้โพสต์คนแรก และแชร์ รีทวิตข้อความที่ผิดกฎหมาย
แต่ลำดับแรกเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเอาผิดเฉพาะผู้โพสต์คนแรกๆ ที่นำเข้าซึ่งข้อความสู่ระบบคอมพิวเตอร์ก่อนจำนวนหนึ่ง โดยพบว่ามีทั้งเป็นแกนนำกลุ่มมวลชน นักการเมืองและผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวในโซเชียลมีเดีย คนหลักๆ อาทิ ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ “Pavin chachavalpongpun” และทวิตเตอร์ที่พบว่าเป็นของนายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์, เพจเฟซบุ๊กของ นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ ไมค์ ระยอง แกนนำมวลชน รวมถึงสื่อและการรายงานสถานการณ์ทางออนไลน์ ได้แก่ เว็บไซต์ Voice TV และเพจเยาวชนปลดแอก Free Youth ที่เข้าข่ายผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินส่วนก่อนหน้านี้ศาลได้มีคำสั่งให้ปิดกั้น เพจ Royalist Market Place (ตลาดหลวง) ไปแล้ว 2 ครั้ง หากผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตหรือแพลตฟอร์ม ไม่ทำการปิดกั้นภายใน 15 วัน กระทรวงดีอีเอส จะดำเนินการแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนให้เอาผิดตามมาตรา 27 แห่งพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ต่อไป
ทั้งนี้ฝากเตือนประชาชน ผู้ใช้โซเชียลมีเดีย จะโพสต์ข้อความ ภาพสถานการณ์ใดๆ ต้องระมัดระวังไม่ให้ผิดต่อกฎหมาย เจ้าหน้าที่ได้ติดตามและมอนิเตอร์ ความเคลื่อนไหว การใช้โซเชียลมีเดีย รวมถึงผู้ที่ทำการแชร์ข้อมูล รีทวิตที่ผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อดำเนินการเอาผิดทางคดีตามขั้นตอนของกฎหมายทันที
และล่าสุดมีเพจที่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองที่เกี่ยวและบุคคลมีชื่อเสียง อาจเข้าข่ายการกระทำความผิด พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ และ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน
โดยรัฐมนตรีดีอีเอส กำชับและมีความห่วง่ใย ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ศูนย์เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์การชุมนุม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) พร้อมเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมาย ทยอยส่งหลักฐานที่เก็บรวบรวมได้ ส่งให้ทางกองอำนวยการร่วมแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง (กอร.ฉ.) และเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมถึงขออำนาจศาล ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายอย่างจริงจังเด็ดขาด
ทั้งนี้ ฝากเตือนประชาชน ผู้ใช้โซเชียลมีเดีย จะโพสต์ข้อความ ภาพสถานการณ์ใดๆ ต้องระมัดระวังไม่ให้ผิดต่อกฎหมาย เจ้าหน้าที่ได้ติดตามและมอนิเตอร์ ความเคลื่อนไหว การใช้โซเชียลมีเดีย รวมถึงผู้ที่ทำการแชร์ข้อมูล รีทวิตที่ผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อดำเนินการเอาผิดทางคดีตามขั้นตอนของกฎหมายทันที