นักวิเคราะห์ต่างชาติชี้ 'ม็อบไทย' โยงเกมวัดอิทธิพล 'สหรัฐ-จีน'
นักวิเคราะห์ต่างชาติมองการชุมนุมประท้วงในไทย เสมือน "สมรภูมิรบใหม่" ของศึกชิงอำนาจในภูมิภาค ระหว่างกลุ่มพันธมิตรสหรัฐกับจีน
บทความจากเว็บไซต์ expertise-asia.com ในหัวข้อ "สมรภูมิรบใหม่?" (A new battleground?) ที่เขียนโดย โรแลนด์ ฮินเตอร์เคอร์เนอร์ กล่าวถึงการชุมนุมประท้วงในไทยเปรียบเสมือนสมรภูมิชิงอิทธิพลในภูมิภาค ระหว่างกลุ่มพันธมิตร 4 ชาติอย่างสหรัฐ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และอินเดีย กับจีน
ฮินเตอร์เคอร์เนอร์ อธิบายในบทความว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่มคว็อด (Quad) ซึ่งเป็นกลุ่มที่รวมตัวกันเพื่อผลประโยชน์ด้านความมั่นคง ภายใต้การริเริ่มของ ชินโซ อาเบะ อดีตนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น ด้วยความหวังที่จะคานอิทธิพลจากจีน
บทความ ระบุว่า กลุ่มคว็อดที่เป็นการรวมตัวด้านความมั่นคงระหว่าง สหรัฐ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และอินเดีย เพื่อตอบสนองและคานอำนาจของจีน ซึ่งอาจฟังดูสมเหตุสมผล แต่คำถามที่ตามมาคือ การรวมตัวของกลุ่มนี้มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน
ช่วงต้นเดือนมานี้ มีบทความและบทวิเคราะห์บางชิ้นเรียกขานการรวมตัวของกลุ่มนี้ว่า "นาโตแห่งเอเชีย" ซึ่งผู้เขียนมองว่าเป็นความพยายามเชิงยุทธศาสตร์ของสหรัฐที่จะควบคุมมหาสมุทรอินเดีย และบทบาทของอินเดียในการเชื้อเชิญประเทศต่างๆ อย่างมัลดีฟส์ให้เข้ามารวมในกลุ่มด้วย แต่ไม่ว่าอย่างไร ผู้เขียนก็ยังเห็นว่าโครงการนี้เป็นแค่การเริ่มต้น
ประเด็นน่าสนใจที่ได้จากการสังเกตการณ์คือ การประชุมคว็อดในกรุงโตเกียวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วไม่ได้ประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ถ้าจะเกิดผลลัพธ์อยู่บ้างก็คือ การรวมตัวของกลุ่มคว็อดเกิดจากแนวคิดความเป็นหุ้นส่วนของกลุ่มประเทศที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน ไม่มีข้อผูกมัด และไม่มีเป้าหมายที่จะรวมตัวเป็นกลุ่มเฉพาะ จึงทำให้ผู้เขียนเกิดความสงสัยว่า รัฐบาลสหรัฐจะเชื้อเชิญประเทศต่างๆ เข้ามาอยู่ในกลุ่มที่พวกเขามองว่าเป็นกลุ่มด้านความมั่นคงที่ตั้งขึ้นมาเพื่อสกัดกั้นอิทธิพลของจีนได้อย่างไร
ในการประชุม "ไมค์ ปอมเปโอ" รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ หวังที่จะดึงดูดประเทศต่างๆเข้ามารวมอยู่ในกลุ่มคว็อด โดยเฉพาะเกาหลีใต้ เวียดนาม และมองโกเลีย ด้วยการแสดงความคิดเห็นก่อนเริ่มต้นการประชุมด้วยการโจมตีพรรคคอมมิวนิสต์จีนด้วยถ้อยคำโจ่งแจ้ง ซึ่งตรงกันข้ามกับรัฐมนตรีของอีก 3 ประเทศ ที่เลี่ยงไม่เอ่ยถึงจีนตรงๆ
"ในฐานะเป็นหุ้นส่วนอยู่ในกลุ่มคว็อดนี้ เวลานี้มีความสำคัญยิ่งยวดยิ่งกว่าเวลาใดๆ ที่เราต้องร่วมมือประสานกันเพื่อปกป้องประชาชนของเราและหุ้นส่วน จากการขูดรีด การทุจริตฉ้อฉล และการบีบบังคับของพรรคคอมมิวนิสต์จีน( ซีซีพี) เราเห็นเรื่องนี้ในทะเลจีนใต้และทะเลจีนตะวันออก ในลุ่มแม่น้ำโขง เทือกเขาหิมาลัย และช่องแคบไต้หวัน" รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ระบุ
ขณะที่ทั้ง 4 ชาติที่เข้าร่วมกลุ่มนี้ย้ำว่าพวกเขาสำหรับสนับสนุนให้เกิดภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ที่เปิดกว้างและเสรี
นอกจากนี้ ในการให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์นิกเคอิของญี่ปุ่น ปอมเปโอยังกล่าวถึงการทำให้กลุ่มคว็อดมีความเป็นทางการมากขึ้น รวมทั้งอาจจะมีการขยายกลุ่มให้กว้างขวางออกไป
"ทันทีที่เราทำให้สิ่งซึ่งเรากำลังทำอยู่นี้กลายเป็นสถาบันขึ้นมา พวกเราทั้ง 4 ร่วมมือกัน เราก็สามารถเริ่มต้นสร้างโครงสร้างด้านความมั่นคงที่แท้จริงขึ้นมาได้" ปอมเปโอ บอกกับนิกเคอิ โดยเสนอแนะว่าอาจจะเพิ่มประเทศอื่นเข้ามาอยู่ในกลุ่มนี้ในเวลาที่เหมาะสม
แต่นักวิเคราะห์มองว่า การทำให้เกิดการร่วมกลุ่มอย่างเป็นสถาบัน อย่างกรณีการร่วมลงนามในสนธิสัญญาจัดตั้งเป็นองค์การตามที่ปอมเปโอกล่าวถึง อาจจะไม่มีวันเกิดขึ้นเลย เมื่อพิจารณาจากการที่ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ต่างมองเห็นความจำเป็นที่จะต้องรักษาความสัมพันธ์ที่มีอยู่กับจีนเอาไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่มีการเติบใหญ่ขยายตัวอย่างเป็นเรื่องเป็นราว
การพูดแบบนี้ของปอมเปโอถือเป็นการส่งเสียงเตือนจีน และยิ่งกระตุ้นความหวั่นเกรงของรัฐบาลปักกิ่งที่ว่า สักวันหนึ่งกลุ่มคว็อดอาจกลายเติบโตจนกลายเป็นนาโตแห่งเอเชียที่มุ่งปิดล้อมจีน อย่างที่นาโต้ทำหน้าที่ปิดล้อมสหภาพโซเวียตในยุโรปก็ได้
ฮินเตอร์เคอร์เนอร์ ระบุว่า เมื่อล้มเหลวในการเกลี้ยกล่อมให้ชาติต่างๆ ตั้งป้อมเป็นปฏิปักษ์กับจีนอย่างเปิดเผย เป้าหมายต่อไปคือประเทศไทย แม้ว่าไทยจะอยู่ในช่วงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน มีการชุมนุมประท้วงแบบรายวันยืดเยื้อมานานเกือบ 1 อาทิตย์
ก่อนหน้านี้ สื่อตะวันตกรายงานว่า การชุมนุมประท้วงในกรุงเทพฯเป็นการชุมนุมโดยไม่มีการจัดตั้ง ไม่มีแกนนำ มีเป้าหมายเพื่อทำให้เกิดการประชาธิปไตยที่แท้จริงและทำให้เกิดการเคารพในสิทธิมนุษยชน คล้ายๆ กับการชุมนุมประท้วงในฮ่องกง
อย่างไรก็ตาม ฮินเตอร์เคอร์เนอร์ระบุว่า ในการชุมนุมนี้มีองค์กรต่างๆ เข้าร่วม เช่น กลุ่มนักกฏหมายไทยที่เคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนและได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนจากสหรัฐ ทั้งยังระบุว่า บรรดาผู้นำกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงมีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับสถานทูตสหรัฐในกรุงเทพฯและนักการเมืองอเมริกันที่มีชื่อเสียงหลายคน
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2561 ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นักการเมืองหัวก้าวหน้า บอกว่า ประเทศไทยไม่จำเป็นต้องมีรถไฟความเร็วสูงแต่ควรจะมีไฮเปอร์ลูปแทน แต่ในความเป็นจริง เส้นทางรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนที่ผ่านลาวและขยายไปจนถึงสิงคโปร์กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างมานานแล้ว ขณะที่โครงการไฮเปอร์-ลูปยังคงเป็นแค่แนวคิดเท่านั้น
นอกจากนี้ ธนาธร ยังเป็นหนึ่งในนักการเมืองคนสำคัญของประเทศที่พยายามโจมตีกองทัพที่ใช้จ่ายด้านการทหารไปกับอาวุธยุทโธปกรณ์ผลิตจากจีน
แน่นอนว่า ประวัติศาสตร์การเมืองของไทยภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหารห่างไกลจากการเมืองในอุดมคติและจำเป็นต้องมีการปฏิรูป ประชาชนมีสิทธิอันชอบธรรมที่จะไม่พอใจ แต่ก็ต้องมองภาพรวมทั้งหมดด้วยเช่นกัน นั่นคือไทยซึ่งเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่สุดอันดับ 2 ของอาเซียน มีประชากร 70 ล้านคน มีจีนเป็นหุ้นส่วนการค้ารายใหญ่สุด เป็นแหล่งลงทุนของต่างชาติรายใหญ่สุดและเป็นตลาดท่องเที่ยวใหญ่สุดของไทย
ฮินเตอร์เคอร์เนอร์ มองว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายที่สหรัฐจะเอาชนะจีนในมิติทางเศรษฐกิจ เพราะรัฐบาลปักกิ่งได้หลอมรวมไทยเข้าไว้ในระบบนิเวศทางเศรษฐกิจของจีนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และรัฐบาลวอชิงตันไม่สามารถทำอะไรได้ในจุดนี้ ทางเดียวที่จะฝ่ากำแพงนี้ไปได้คือการสร้างความระส่ำระสายและพยายามเปลี่ยนแปลงความสงบเรียบร้อยทางการเมือง