เปิดใจ“เกรียงไกร กาญจนะโภคิน” วันที่โควิดทำธุรกิจอีเวนท์พัง.!
เป็นเวลากว่า 3 ทศวรรษบนเส้นทางการทำธุรกิจอีเวนท์ สำหรับเจ้าพ่ออีเวนท์ “เกรียงไกร กาญจนะโภคิน” ผ่านร้อนผ่านหนาวไม่นับไม่ถ้วน รวมถึง “วิกฤติ” ที่กระทบธุรกิจ รวมไปถึงการมองเห็น “โอกาส” ในการฝ่าฟันอุปสรรค พาองค์กรให้รอดพ้นปากเหวครั้งแล้วครั้งเล่า
ทว่า ปี 2563 ค่อนข้างเป็นปีที่สาหัสสำหรับผู้ประกอบการจำนวนมาก เพราะเจอทั้งเศรษฐกิจที่ถดถอยเป็นทุนเดิม ซ้ำเติมด้วย “โควิด-19” และล่าสุดความขัดแย้งของคนในชาติ ความต่างทางความคิดของเจนเนอเรชั่น “ใหม่” และ “เก่า” จนนำไปสู่การชุมนุม หลากมรสุมทำให้ เกรียงไกร หัวเรือใหญ่ในฐานะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิเลจ จำกัด(มหาชน) ถึงกับออกปากว่า “ปีนี้เป็นปีที่โหดมาก เราติดลบเยอะมาก รายได้หายไป 68% รายได้ปีนี้คาดว่าจะเหลือ 469 ล้านบาท จากปีก่อนปิดที่ 1,468 ล้านบาท” รายได้ดังกล่าวเทียบเท่าย้อนกลับไป 20 ปีก่อน และนั่นทำให้บริษัทต้องกลับไปนับ 1 อีกครั้ง
นักคิด เจ้าพ่อครีเอทีฟอีเวนท์ แต่ทำอีเวนท์แทบไม่ได้ ทำให้การปรับตัวยังคงจำเป็นอย่างต่อเนื่อง หากผู้ประกอบการธุรกิจอีเวนท์หวังพึ่งพิงเพียงงานการจัดแคมเปญการตลาดจากลูกค้า รอคอยให้ลูกค้ามีความมั่นใจควักเงินจัดงานคงเป็นเรื่องยาก เพราะตั้งแต่โควิด-19 ระบาด ไม่ใช่แค่แบรนด์ องค์กรต่าง “แตะเบรก” แต่เป็นการ “ยกเลิก” กิจกรรมไปเลย
ขณะที่ไตรมาส 4 เป็นคิวทองของอีเวนท์ และสถานการณ์ไวรัสระบาดผ่อนคลาย กิจกรรมเริ่มเดินหน้า กลับมีการชุมนุมกลับซ้ำเติมให้ทุกอย่างหยุดชะงักอีกครั้ง เมื่อหวังคนทำอีเวนท์หวังพึ่งพาเงินจากงานอีเวนท์ไม่ได้ จึงต้องลุยธุรกิจใหม่ที่ไม่ใช่อีเวนท์ต่อเนื่อง
เกรียงไกร พยายามประคองธุรกิจให้ผ่านพ้นปี 2563 และมองข้ามช็อตไปลุยปี 2564 เรียบร้อยแล้ว โดยขอเลือกโฟกัสการทำโปรเจคของตัวเอง(Own project)เพื่อครีเอทกิจกรรมขึ้นมา “เรามองข้ามไปปีหน้าเลยว่าเราจะ Survive อยู่อย่างไรมากกว่า”
สำหรับไฮไลท์ปีหน้า จะเน้นจับด้านตลาดท่องเที่ยว สร้างแลนด์มาร์คใหม่ๆในเมืองรอง อีกส่วนมุ่งเจาะธุรกิจสุขภาพและโรงแรม ตอบเทรนด์สุขภาพ อีกทั้งเป็นการช่วยเหลือให้ธุรกิจอื่นๆ “ฟื้นตัว” โตไปด้วยกัน จากช่วงโควิดบริษัปั้นธุรกิจใหม่มากมาย ทั้ง Kill & Klean แฟรนไชส์ทำความสะอาดฆ่าเชื้อที่ขยายไปยัง 6 ประเทศ ANYA MEDITEC ปรับโฉมโรงแรมเป็นโรงพยาบาล และ House of Illumination ศิลปะดิจิทัล ซึ่งตั้งเป้าหมายธุรกิจใหม่มีสัดส่วนรายได้ไม่ต่ำกว่า 25-30% จากปกติต่ำกว่า 10% และรายได้หลักมาจากอีเวนท์มาร์เก็ตติ้งหรือ Marketing service 70-80%
"ถ้าใครอยู่ในธุรกิจเดิม ตาย! รอวันอย่างเดียว หากวัดที่สายป่านใครยาวกว่ากัน ถ้าสายป่านหมดก็จบ การปรับตัวของเราไม่ใช่แค่เพื่อให้อยู่รอด แต่มองสร้างรายได้ระยะยาว”
ธุรกิจอีเวนท์ รวมถึงการจัดงานบันเทิง งานแฟร์ต่างๆทั้งระบบมีมูลค่าร่วม 3 แสนล้านบาท มีคนทำงานในซัพพลายเชนมากมายมหาศาล ส่วนอีเวนท์มาร์เก็ตติ้ง มีมูลค่าราว 1.4 หมื่นล้านบาท ปีนี้คาดสูญเม็ดเงิน 60% และหากการชุมนุมยืดเยือด คาดว่าจะกระทบการจ้างงานหลักแสน จากปัจจุบันมีคนตกงานจากพิษโควิดนับล้าน
“ธุรกิจอีเวนท์มีความอ่อนไหวมาก เมื่อเกิดเหตการณ์ต่างๆ ลูกค้าจะตัดงบก่อน ซึ่งปีนี้ผู้ประกอบการไม่ได้ทำอีเวนท์ตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงมิถุนายน กรกฎาคมเราเริ่มจัดคอนเสิร์ตไฮบริดระหว่างออฟไลน์และออนไลน์ ส่วนไตรมาส 4 ซึ่งเป็นคิวทองของอีเวนท์ จากเดิมที่สถานการ์เลวร้ายอยู่แล้ว มีความกังวลโควิดระลอก 2 เศรษฐกิจไม่ดี แต่พอมีการชุมนุม เป็นอีกตัวเร่งให้ตลาดเลวร้ายขึ้นอีก เพราะมีผลในเชิงจิตวิทยาและด้านการตลาด”