จับตาราคา 'ยางพารา' แตะกิโลกรัมละ 67บาท สูงสุดรอบ 3 ปี
กยท. มั่นใจราคายางพุ่งทะลุกก.ละ 65 บาทคาดแตะ กก.67 บาทในเร็วๆนี้ หลังความต้องการใช้ ในจีนเพิ่มขึ้น ทำราคาล่วงหน้าโตเป็นบวกสะท้อนดีมานด์พุ่งทำสต็อกยางลด ขณะน้ำยางออกสู่ตลาดน้อย หลังฝนตกชุกในภาคใต้ ซ้ำโควิดทำให้แรงงานกรีดขาด
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เผยว่าเดือน ต.ค. - พ.ย. ของทุกปี เป็นช่วงที่ราคายางพาราจะออกสู่ตลาดมากที่สุดประมาณ 10 % ของปริมาณน้ำยางที่ผลิตได้ แต่ในปีนี้เนื่องจากมีการระบาดของโควิด-19 ทำให้ขาดแคลนแรงงานงานกรีด ในขณะที่ภาคใต้มีฝนตกชุกกว่าทุกปี ส่งผลให้ปริมาณน้ำยางออกสู่ตลาดน้อย ในขณะที่ความต้องการใช้เริ่มมีมากขึ้น ทั้งการผลิตถุงมือยาง และอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่เริ่มฟื้นตัวแล้ว
ดังนั้น ราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 เมื่อวันที่ 21 ต.ค. ที่ตลาดสุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช เพิ่มขึ้นไปอยู่ที่กิโลกรัมละ(กก.) 65 บาท หรือ เฉลี่ย รวม กับตลาดสงขลาแล้วราคายางแผ่นรมควัน ปิดตลาดที่ กก. 64.97 บาท และคาดการณ์ว่ายังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยเพิ่มขึ้นกว่า 2 บาทต่อกก. ซึ่งเป็นราคาที่ใกล้เคียงราคาประกันที่รัฐบาลตั้งไว้ ส่วนราคายางแผ่นดิบกก.ละ 59.59 บาท น้ำยางสด (DRC100%) กก. 59 บาท และยางก้อนถ้วย (DRC 50%)กก. 43 บาท ถือว่าเป็นราคายางที่สูงที่สุดในรอบกว่า 3 ปี ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ จากสถานการณ์โดยรวมยังคาดว่าราคายางมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น จากปัจจัยที่ด้านเศรษฐกิจที่จีนเติบโตขึ้น 4.9% และมีแนวโน้มการใช้ยางที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ในประเทศเพื่อนบ้านผู้ผลิตยางธรรมชาติ ประสบปัญหาพายุและปริมาณฝนที่เพิ่มขึ้นในเดือน ต.ค. ทำให้ผลผลิตที่ออกสู่ตลาดน้อยลงตามไปด้วย
“ความต้องการใช้ยาง ในขณะนี้กลับมาเร็วและแรงมาก จะเห็นได้จากราคายางในตลาดล่วงหน้า ไซคอม(SICOM)สิงค์โปร์ ญี่ปุ่น(TOCOM) เป็นบวกทั้งหมด เช่นเดียวกับจีนเป็นประเทศเดียวที่ จีดีพี ขยายตัว แสดงให้เห็นว่าแนวโน้มราคายางในเร็วๆนี้อาจแตะ กก.ละ 67 บาท หรืออาจจะมากกว่านั้น”
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยลบที่ควรระวัง กรณีเมื่อราคาปรับตัวสูงเกินไป จะส่งผลให้มีการเบรกซื้อในตลาดล่วงหน้าได้ ซึ่งจะกระทบกับราคาที่เกษตรกรได้รับทันที ดังนั้น กยท.จึงต้องวางแนวทางรองรับเอาไว้ล่วงหน้า โดยจะใช้มาตรการไล่ซื้อตามตลาดของ กยท.ทั้ง108 แห่ง และ มีโครงการรับฝากน้ำยางไว้กับเกษตรกร เพื่อชะลอการออกสู่ตลาด ทั้งหมดจะพิจารณาใช้ตามความเหมาะสมของสถานการณ์
สำหรับสถานการณ์ยางพารา วันที่ 21 ต.ค. 63 ราคากลางประเภทยางแผ่นดิบอยู่ที่ 58 บาทต่อกก. ยางแผ่นรมควันอยู่ที่ 62.76 บาทต่อกก. ส่วนราคาประมูลเฉลี่ย ณ ตลาดกลาง ยางพารายางแผ่นดิบอยู่ที่ 59.91 บาทต่อกก. ราคายางแผ่นรมควันอยู่ที่ 64.97 บาทต่อกก. โดยราคายางได้รับปัจจัย สนับสนุนจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่า เมื่อเทียบกับดอลลาร์ รวมถึงได้แรงหนุนจากความหวังที่ว่า พรรคเดโมแครตและ ทำเนียบขาวใกล้จะบรรลุข้อตกลงในการออกมาตรการกระตุ้น เศรษฐกิจรอบใหม่เพื่อเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ โควิด-19
อีกทั้งปริมาณยางที่ออกสู่ตลาดลดลง เนื่องจาก ทางภาคใต้ของไทยมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง เป็นอุปสรรคต่อการกรีดยาง และผู้ประกอบการภายในประเทศมีความต้องการยาง มากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม จากค่าเงินเยนที่แข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์ และราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง ยังคงเป็นปัจจัยที่กดดันราคายางได้ในระยะนี้ นักลงทุนยังคงต้องติดตาม เศรษฐกิจโลกอย่างใกล้ชิด
ส่วนแนวโน้มราคายางใน ไตรมาสที่ 3 ปีนี้ คาดว่ามีโอกาสปรับตัวสูงขึ้น จากปัจจัยน้ำยางที่ออกสู่ตลาดน้อยเนื่องจากฝนตกในภาคใต้ ปริมาณสต็อกยางปรับตัวลดลง โดยสต็อกยางตลาดล่วงหน้าเซี่ยงไฮ้ ณ สิ้นเดือนมิ.ย. 2563 มีจำนวน239.149 พันตัน ปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อนที่ระดับ 3.318 พันตัน หรือ 1.37% และลดลง 45.31 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ด้านสต็อกยางตลาดล่วงหน้าโตเกียว ณ เดือนมิ.ย. 2563 มีจำนวน 8.976 พันตัน ลดลงจากไตรมาสก่อน ที่ระดับ 718 พันตัน หรือ 7.41% และลดลง 28.13% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน