BAY กำไร9 เดือน 1.9หมื่นล้าน ลดลง 25.3% หลังสำรองทะลัก
กรุงศรี รายงานผลกำไรสุทธิสำหรับงวดเก้าเดือนแรกของปี 19.7 พันล้านบาท ลดลง 25.3% หรือ 6.6 พันล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หลังสำรอง9เดือนเพิ่มเป็น 2.6หมื่นล้าน พุ่ง 30%
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ รายงานผลกำไรสุทธิสำหรับงวดเก้าเดือนแรกของปี 2563 จำนวน 19.7 พันล้านบาท ลดลง 25.3% หรือจำนวน 6.6 พันล้านบาทจากช่วงเดียวกันของปี 2562
โดยมีปัจจัยจากสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ไม่เอื้ออำนวยและเนื่องจากไม่มีการบันทึกกำไรพิเศษจากการขายหุ้นจำนวน 50% ของบริษัท เงินติดล้อ จำกัด และค่าใช้จ่ายเพื่อรองรับประมาณการหนี้สินที่เพิ่มขึ้นจากการชดเชยกรณีพนักงานเกษียณและเลิกจ้างตามการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2562
หากไม่รวมรายการพิเศษดังกล่าวในช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2562 กำไรสุทธิในช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2563 ลดลง 4.1% จากช่วงเดียวกันของปี 2562 โดยปัจจัยหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของการตั้งสำรองเพื่อรองรับการด้อยลงของคุณภาพสินเชื่อซึ่งสะท้อนการบริหารจัดการคุณภาพของสินทรัพย์ด้วยความรอบคอบระมัดระวัง และการลดลงของกำไรจากการดำเนินงาน
สรุปผลประกอบการและฐานะการเงินที่สำคัญสำหรับเก้าเดือนแรกของปี 2563
โดย กำไรสุทธออยู่ที่ 19.7 พันล้านบาท ลดลง 25.3% จากช่วงเดียวกันของปี 2562 สำหรับไตรมาส 3/2563 ธนาคารมีกำไรสุทธิจำนวน 6.1 พันล้านบาท ลดลง 6.8% จากไตรมาส 3/2562 และลดลง 6.0% จากไตรมาส 2/2563
เงินให้สินเชื่อเพิ่มขึ้น 1.4% หรือจำนวน 25.7 พันล้านบาท จาก ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2562 โดยมาตรการการให้ความช่วยเหลือด้านสินเชื่อและมาตรการในการเสริมสภาพคล่องของธนาคารให้กับลูกค้ามีส่วนช่วยให้สินเชื่อเติบโตในช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2563
โดยสินเชื่อลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่สินเชื่อลูกค้า SME และสินเชื่อเพื่อรายย่อยมีอัตราการเติบโต 1.6%, 2.6% และ 0.9% ตามลำดับ
ด้านเงินรับฝากเพิ่มขึ้น 10.4% หรือจำนวน 162.3 พันล้านบาท จาก ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2562
ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM)อยู่ที่ 3.63% เทียบกับ 3.68% ในช่วงเดียวกันของปี 2562 รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย ลดลง 32.9% หรือจำนวน 11.7 พันล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปี 2562
โดยมีปัจจัยหลักจากการปรับลดลงของกำไรจากการลงทุน เนื่องจากไม่มีรายการพิเศษจากการขายเงินลงทุนในบริษัท เงินติดล้อ จำกัด ที่บันทึกในช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2562 และการปรับลดลงของรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ
ด้านอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้อยู่ที่ระดับ 41.2% ปรับตัวดีขึ้นจาก 42.6% จากช่วงเดียวกันของปี 2562 สะท้อนประสิทธิภาพการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายเชิงรุก
อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL Ratio)อยู่ที่ระดับ 2.24% เทียบกับ 1.98% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2562 อัตราส่วนเงินสำรองต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อยู่ที่ระดับ 160.6% เทียบกับ 163.8% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2562
อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง ยังคงแข็งแกร่งที่ระดับ 17.13% เทียบกับ 16.56% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2562
นายเซอิจิโระ อาคิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “จากการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในประเทศเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในไตรมาสสาม ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและธุรกิจปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังคงอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ และกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าช่วงก่อนการแพร่ระบาดอย่างมีนัยสำคัญ”
“ในฐานะธนาคารพาณิชย์ที่มีความสำคัญเชิงระบบ กรุงศรียังคงดำเนินมาตรการเชิงรุกเพื่อบรรเทาภาระทางการเงินสำหรับลูกค้าธุรกิจและลูกค้ารายย่อยที่ประสบปัญหา ในไตรมาส 3/2563 ธนาคารได้ให้การสนับสนุนลูกค้าด้วยการเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินและการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนเพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่ลูกค้าก่อนการครบกำหนดมาตรการพักชำระหนี้ในระหว่างไตรมาส”
สำหรับแนวโน้มธุรกิจโดยรวม นายอาคิตะกล่าวว่า “เราคาดว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง และมาตรการทางการคลังของรัฐบาลรวมถึงมาตรการทางการเงินและสินเชื่อ จะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสสี่
อย่างไรก็ตาม ความเปราะบางทางเศรษฐกิจยังคงอยู่ในระดับสูงจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่รุนแรงขึ้นทั่วโลก ซึ่งอาจจะนำไปสู่การหวนกลับมาใช้มาตรการล็อกดาวน์อีกครั้ง รวมทั้งความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากความสามารถในการชำระหนี้ที่ลดลงของภาคธุรกิจในประเทศและภาคครัวเรือน ท่ามกลางการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่อ่อนแอ”
“กรุงศรียังคงให้ความสำคัญกับการให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ และสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจผ่านมาตรการด้านสินเชื่อและการปรับโครงสร้างหนี้ตลอดจนการสนับสนุนด้านสภาพคล่อง
นอกจากนี้ ธนาคารจะดำเนินการติดตามและจัดการคุณภาพสินทรัพย์อย่างรอบคอบระมัดระวังเพื่อความแข็งแกร่งของพอร์ตสินเชื่อของธนาคาร และมุ่งเน้นการกำกับดูแลด้วยความเข้มงวดเพื่อให้เชื่อมั่นว่าธนาคารมีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองในระดับสูงและเพียงพอที่จะรองรับกับความท้าทายทางการเงินและเศรษฐกิจ”
ณ วันที่ 30 กันยายน 2563 กรุงศรี ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจการเงินที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับห้าของไทยด้านสินทรัพย์ สินเชื่อและเงินฝาก และเป็นหนึ่งในห้าสถาบันการเงินที่มีความสำคัญเชิงระบบ (D-SIB) มีสินเชื่อรวม 1.84ล้านล้านบาท เงินรับฝาก 1.73 ล้านล้านบาท และสินทรัพย์รวม 2.49 ล้านล้านบาท
ขณะที่เงินกองทุนของธนาคารอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 276.54 พันล้านบาท หรือเทียบเท่า 17.13% ของสินทรัพย์เสี่ยง โดยเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของคิดเป็น 12.24%