ตร.ยันใช้กฎหมายปกติดำเนินคดีม็อบ หลังยกเลิกประกาศฉุกเฉินร้ายแรง
ผู้ช่วย ผบ.ตร. ยันดำนเนินคดีม็อบแม้ยกเลิกประกาศฉุกเฉินร้ายแรง ระบุใช้กฎหมายปกติดำเนินการ
ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) พลตำรวจโท จารุวัฒน์ ไวศยะ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ตามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินในสถานการณ์ร้ายแรง ในเขตกรุงเทพมหานคร ฉบับลงวันที่ 15 ตุลาคม 2563 และ 16 ตุลาคม 2563 และให้บรรดาข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง ที่ออกตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เป็นอันสิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคม เวลา 12.00 น. นั้น
จึงกำหนดแนวทางปฏิบัติ และอำนาจหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ดังนี้ 1.การใดๆ ที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการไปก่อนมีประกาศยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น การออกหมายจับ การจับกุม การควบคุมตัวย การร้องทุกข์ดำเนินคดีกับผู้ที่ฝ่าฝืนข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง ที่ออกตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ในขณะที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินมีผลใช้บังคับอยู่ ให้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวง และวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัว และวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว
2.ผู้เสียหาย ผู้เกี่ยวข้องยังสามารถร้องทุกข์กล่าวโทษ ดำเนินคดีกับบุคคลผู้กระทำความผิดในขณะที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินมีผลบังคับใช้อยู่ได้ภายในอายุความ แต่หากเพียงการยกเลิกหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงพระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง หรือข้อกำหนดตามที่ประกาศ หรือออกตามพระราชกำหนด ยังคงมีผลบังคับใช้อยู่ตามเดิม กรณีเช่นว่านี้ต้องถือเป็นเป็นเพียงการยกเลิกหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายละเอียดที่กำหนดขึ้นตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย มิได้ยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงสาระที่เป็นกฎหมายแท้ๆ ทั้งนี้กรณีนายกรัฐมนตรีได้ประกาศยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ในเขตกรุงเทพมหานคร ลงวันที่ 15 ตุลาคม 2563 และฉบับที่ 2 ลงวันที่ 16 ตุลาคม 2563 ให้บรรดาข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง ที่ออกตามข้อกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เป็นอันสิ้นสุดลง ตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคม เวลาเวลา 12.00 น.
จึงเป็นการยกเลิกข้อกำหนดคำสั่งที่กำหนดขึ้นตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้น มิได้ยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงสาระที่เป็นกฎหมายแท้ๆ ดังนั้นจึงไม่อาจนำประมวลกฎหมายอันอื่นมาใช้บังคับได้ และกำหนดให้การกระทำความผิด ได้กำหนดสำหรับการกระทำนั้นแม้จะยังดำเนินคดีไม่เสร็จสิ้น หรือมิได้ร้องทุกข์กล่าวโทษ แต่การกระทำยังเป็นความผิดตามมาตรา 9 และมาตรา 11 อีกทั้งสิทธิในการนำคดีอาญามาฟ้อง มิได้ระงับไปตามมาตรา 39 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งการดำเนินคดีกับบุคลจึงต้องดำเนินการต่อไป
พลตำรวจโท จารุวัฒน์ กล่าวอีกว่า บรรดาผู้ที่ถูกออกหมายจับ รวมทั้งผู้ที่ถูกจับกุม ในช่วงประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยังคงต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายต่อ แต่เมื่อถูกจับกุมแล้วไม่ต้องส่งตัวไปยัง ตชด.ภ.1 ให้ดำเนินการไปตามขั้นตอนของกระบวนการกฎหมายปกติได้เลย