‘กรีนพีซ’ชี้น้ำปนเปื้อนฟูกูชิมะอาจทำลายดีเอ็นเอ

‘กรีนพีซ’ชี้น้ำปนเปื้อนฟูกูชิมะอาจทำลายดีเอ็นเอ

กรีนพีซ ระบุว่าน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีจากโรงงานนิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ประเทศญี่ปุ่น อาจทำลายดีเอ็นเอ หลังจากมีข่าวว่า รัฐบาลญี่ปุ่นมีแผนที่จะปล่อยน้ำปนเปื้อนนี้ลงสู่ทะเล

เว็บไซต์สำนักข่าวบีบีซี รายงานอ้างข้อกังวลของกลุ่มกรีนพีซ ซึ่งเป็นกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมชื่อดังของโลกที่ระบุว่า น้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีจากโรงงานนิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ประเทศญี่ปุ่น อาจทำลายดีเอ็นเอ หลังจากมีข่าวว่า รัฐบาลญี่ปุ่นมีแผนที่จะปล่อยน้ำปนเปื้อนนี้ลงสู่ทะเล

ที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์จำนวนมาก ระบุว่า ความเสี่ยงที่น้ำปนเปื้อนจะทำลายดีเอ็นเอมีความเป็นไปได้น้อยมากแต่บรรดานักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมคัดค้านแนวคิดดังกล่าว ขณะที่ในส่วนของรัฐบาลญี่ปุ่น ยังไม่ได้ตอบสนองต่อข้อกังวลของกลุ่มกรีนพีซ

อย่างไรก็ตาม ตลอดหลายปีมานี้ รัฐบาลญี่ปุ่นถกเถียงกันในประเด็นที่ว่าจะทำอย่างไรกับน้ำปริมาณกว่า1ล้านตันที่ถูกนำมาใช้เพื่อทำให้โรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์เย็นลง หลังจากโรงไฟฟ้าแห่งนี้ได้รับความเสียหายเพราะคลื่นยักษ์สึนามิเมื่อปี 2554 ขณะที่พื้นที่ว่างที่เป็นที่กักเก็บของเหลว ซึ่งรวมถึงน้ำใต้ดินและน้ำฝนที่รั่วซึมเข้าไปในโรงงานในแต่ละวันจะเต็มภายในปี 2565

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สื่อญี่ปุ่นรายงานว่า รัฐบาลตัดสินใจที่จะเริ่มปล่อยน้ำดังกล่าวลงสู่ทะเลตั้งแต่ปี 2565 ซึ่งภายใต้แผนนี้ รัฐบาลจะทำให้น้ำที่จะปล่อยลงทะเลเจือจางก่อนซึ่งเป็นกระบวนการที่ใช้เวลาหลายสิบปี