กรมการแพทย์แผนไทยฯ ส่งเสริมภูมิปัญญาอาหารไทยดั้งเดิม
กรมการแพทย์แผนไทยฯ ระดมสมอง มหาวิทยาลัย ผู้ประกอบการร้านอาหารไทย เตรียมพัฒนาหลักสูตร ส่งเสริมภูมิปัญญาอาหารไทยดั้งเดิม เน้นรับประทานเป็นยา ต่อยอดการท่องเที่ยวเชิงรุก สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ
นายแพทย์ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ ผู้ช่วยอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด 19 อาจจะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจอาหารค่อนข้างมาก โดยได้ประมาณการรายได้ของธุรกิจร้านอาหารในประเทศไทยปี 2563 ว่าน่าจะอยู่ที่ประมาณ 4.02 - 4.12 แสนล้านบาท (คาดการณ์เดิม ณ ต้นปี 2563 มูลค่า 4.39 แสนล้านบาท) หรือลดลงราว 2.65 - 3.65 หมื่นล้านบาท
กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เล็งเห็นถึงความสำคัญของอาหารไทย ที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรม มีหลักฐานผ่านหลักศิลาจารึก และบันทึกจดหมายเหตุ หรือบทพระราชนิพนธ์ไกลบ้าน ซึ่งทำให้เห็นความเชื่อมโยงของวัฒนธรรมอาหารที่มีเอกลักษณ์ และมีรสชาติอาหารเฉพาะถิ่น ตามศาสตร์แพทย์แผนไทยดั้งเดิม มักปรุงอาหารรับประทานโดยใช้รสของอาหารเป็นยาเพื่อส่งเสริมป้องกันสุขภาพ คนสมัยโบราณ จึงพิถีพิถันในการเลือกอาหารมารับประทาน โดยยึดหลัก กินอาหารให้เหมาะสมกับธาตุเจ้าเรือน หรือตามศาสตร์การแพทย์แผนตะวันออก เช่น การแพทย์แผนจีน ให้รับประทานอาหารตามธาตุ อาทิ หยิน (ฤทธิ์เย็น) – หยาง(ฤทธิร้อน) ประกอบด้วย อาหารฤทธิ์เย็น เป็นอาหารที่กินแล้วทำให้ร่างกายเกิดความเย็น ให้สังเกตง่ายๆ คือ เป็นอาหารที่ทำให้เรารู้สึกชุ่มคอ ไม่หิวน้ำ เช่น ฟัก มะระ ใบขี้เหล็ก ส่วนอาหารที่กินแล้วทำให้ร่างกายอบอุ่น เช่น ขิง ข่า กระเพรา เป็นต้น
นายแพทย์ขวัญชัย กล่าวต่อไปว่า การจัดทำหลักสูตรอาหารไทยดังกล่าว เป็นความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา อาทิ มหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และผู้ประกอบการร้านอาหารไทย เพื่อส่งเสริมอาหารไทยในการสร้างความ เป็นเอกลักษณ์ของชาติไทย ส่งเสริมการใช้อาหารไทยให้เป็นยา ใช้ความรู้ด้านภูมิปัญญา การทำอาหาร แบบดั้งเดิม รวมทั้งส่งเสริมเยาวชนให้เรียนรู้อาหารไทย และหันกลับมารับประทานอาหารไทยเพื่อส่งเสริมสุขภาพ ลดโรค ประกอบกับส่งเสริมอาหารไทยเชิงท่องเที่ยว เพื่อบอกกล่าวเรื่องราวอาหารที่สะท้อนสังคมและวิถีชีวิตชุมชน
"อาหารจึงเป็นเครื่องมือการเรียนรู้สำหรับดึงดูดนักท่องเที่ยว และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจบนพื้นฐานของการท่องเที่ยว อนุรักษ์ ส่งเสริมอาหารท้องถิ่น ส่งเสริมการใช้วัตถุดิบท้องถิ่น โดยคาดว่า หลักสูตรดังกล่าวจะเป็นการพัฒนาหลักสูตรแกนกลางอาหารไทย อาหารเป็นยา ที่จะส่งเสริมภูมิปัญญาอาหารดั้งเดิม และเสริมสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจโดยใช้อาหารเชิงการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นการส่งเสริมธุรกิจการท่องเที่ยวรูปแบบหนึ่ง ที่ส่งผลให้มีแนวโน้มในการสร้างรายได้ ในท้องถิ่นและประเทศชาติเพิ่มขึ้น อีกด้วย"