เปิดรับ 'นักธุรกิจต่างชาติ' ฟื้นเศรษฐกิจยุคโควิด
การเปิดประเทศรับนักธุรกิจต่างชาติเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศ ขณะเดียวกันก็ต้องรักษาสมดุลความปลอดภัยด้านสาธารณสุข ถือเป็นความท้าทายในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เริ่มดำเนินการแล้ว
กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ บรรยายสรุปให้ภาคธุรกิจเกี่ยวกับแนวทางการนำชาวต่างชาติในภาคธุรกิจเดินทางเข้าประเทศไทย เพื่อฟื้นฟูและขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ ภายใต้บริบทการรักษาความปลอดภัยด้านสาธารณสุขภายในประเทศ
ชาตรี อรรจนานันท์ อธิบดีกรมการกงสุล กล่าวบรรยายเรื่อง “นโยบายและมาตรการผ่อนคลายเพื่อนำคนต่างชาติเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ” ว่า การขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศยังสามารถดำเนินไปได้ โดยไม่หยุดชะงัก ท่ามกลางสถานการณ์ที่ยังมีการแพร่ระบาดไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) จึงได้พิจารณาอนุญาตให้คนต่างชาติที่มีศักยภาพเดินทางเข้าไทย
กระทรวงการต่างประเทศคำนึงถึงการรักษาสมดุลระหว่างเศรษฐกิจและสาธารณสุข เพื่อใช้ประโยชน์จากที่ไทยพบผู้ติดเชื้อในเกณฑ์ต่ำ และไทยถูกจัดให้เป็นประเทศที่มีมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ดี จึงเป็นจุดแข็งใช้สร้างโอกาสการฟื้นฟูเศรษฐกิจได้เร็วกว่าประเทศอื่น
สิ่งสำคัญผู้ที่เดินทางเข้าไทยต้องผ่าน 3 ด่านสำคัญคือ ด่านแรก มีหนังสือรับรองการเดินทางเข้ามาในประเทศไทย ( Certificate of Entry : COE ) ด่านสอง มีเที่ยวบินกึ่งพาณิชย์ (Semi Commercial Flight) จากสายการบินที่ร่วมกับรัฐบาล โดยสายการบินเหล่านี้สามารถนำบัตรโดยสารไปขายบนเงื่อนไขที่กระทรวงการต่างประเทศกำหนด เพื่อนำคนไทยและต่างชาติเดินทางเข้าประเทศได้สะดวกรวดเร็ว และด่านที่สาม ลงทะเบียนจองสถานที่ทางเลือกกักตัว 14 วัน (Alternative State Quarantine : ASQ) ที่เข้าร่วม 94 แห่ง และสถานที่กักตัวในระดับจังหวัด (Alternative Local Quarantine : ALQ) มีอยู่ 21 แห่ง เพื่อเข้าสู่มาตรการด้านสาธารณสุข หลังจากนั้นจะผ่านเข้าไทยได้
“สถานเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ไทย 190 แห่งทั่วโลก จำเป็นต้องพิจารณาออกเอกสาร COE ให้สอดคล้องกับจำนวนที่ว่างของสถานกักตัว 14 วัน ดังนั้นต้องกำหนดโควต้า เพราะคำนึงถึงมาตรการสาธารณสุขเป็นสำคัญ” อธิบดีกรมการกงสุลย้ำ
ปัจจุบันมีคนไทยเดินทางเข้าประเทศเฉลี่ยเดือนละ 12,000 - 14,000 คน ส่วนคนต่างชาติเริ่มมีจำนวนมากขึ้นในสัดส่วนที่ใกล้เคียงผ่านการได้รับอนุญาตตามประเภทวีซ่าต่างๆ ที่ผ่อนผันให้ในขณะนี้
ด้าน ดนย์วิศว์ พูลสวัสดิ์ ผู้อำนวยการกองตรวจลงตราและเอกสารเดินทางคนต่างด้าว กล่าวถึงข้อกำหนดและประเภทการตรวจลงตราสำหรับชาวต่างชาติที่ประสงค์จะเดินทางมาประเทศไทย ว่า การอนุญาตให้ต่างชาติเดินทางเข้าประเทศในระยะเริ่มต้นมุ่งฟื้นฟูเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นหลัก จึงขยายมาตรการด้านการให้วีซ่า แบ่งเป็น
1.การตรวจลงตราสำหรับผู้พำนักระยะยาว (Long Stay) สำหรับกลุ่มเกษียณอายุ ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป และต้องการใช้บั้นปลายชีวิตในไทยแบ่งเป็น 1) วีซ่า Non - Immigrant รหัสO - A เป็นต่างด้าวทุกสัญชาติที่ซื้ออสังหาริมทรัพย์ในไทยหรือสนใจจะลงทุนซื้ออสังหาริมทรัพย์ และ2) วีซ่า Non - Immigrant รหัส O - X เป็นคนต่างด้าวจาก 14 ประเทศ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (โออีซีดี) อาทิ สหรัฐ ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย อังกฤษ เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ และกลุ่มสแกนดิเนเวียทั้งหมด
2.การตรวจลงตราสำหรับผู้พำนักระยะกลาง (Medium Term) ได้แก่ 1) Non - Immigrant วีซ่ารหัส B ต้องการเข้ามาติดต่อหรือดำเนินงานธุรกิจในไทย ที่ไม่เข้าเงื่อนไขมีใบอนุญาตทำงาน(Work Permit)ต้องการดูลู่ทางโอกาสทางธุรกิจนำไปสู่การลงทุนขนาดใหญ่
นอกจากนี้ ผู้ยื่นวีซ่าประเภทนี้ยังเป็นกลุ่มนักลงทุนที่ขนาดกลาง เช่นลงทุนซื้ออาคารชุดคอนโดมิเนียม ราคา 3 ล้านบาทขึ้นไป ผู้สนใจซื้อพันธบัตรรัฐบาลไทย หรือมีบัญชีในไทยมีหลักทรัพย์ขั้นต่ำ 3 ล้านบาท 2
นักท่องเที่ยวประเภท Tourist Visa รหัส TR ขอพำนักระยะสั้นและยาว โดยต้องมีบัญชีเงินฝากไม่ต่ำกว่า 5 แสนบาท ย้อนหลัง 6 เดือน
3. APEC Card เป็นกลุ่มที่สนใจเข้ามาหาลู่ทางธุรกิจนำร่องจากเขตเศรษฐกิจที่มีอัตราการติดเชื้อโควิด-19 ต่ำ ได้แก่ จีน ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เวียดนาม และไต้หวัน
4.นักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ Special Tourist VISA (STV) พำนักระยะยาว โดยสูงสุด 60 วัน ขยายได้อีก 30 วัน
"สถานทูตฯ จะอัพเดทรายชื่อประเทศที่ได้รับการผ่อนผันให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้าไทยในทุกๆ 15 วัน ซึ่งการยื่นขอวีซ่าในช่วงโควิด-19 ก็มีความคล้ายคลึงสถานการณ์ปกติคือ การยื่นขอวีซ่าตรงตามวัตถุประสงค์เดินทางเข้าประเทศ แต่เมื่อมีโควิด-19 ขอย้ำว่า จำเป็นต้องมีเอกสาร COE เพื่อให้ผู้เดินทางรู้สึกมั่นใจเดินทางเข้ามายังประเทศไทยที่เป็นสังคมปลอดภัย เพราะมีมาตรฐานควบคุมการระบาดโควิด-19 ที่สูง" ผอ.กองตรวจลงตราฯ กล่าว
นฤชัย นินนาท ผู้อำนวยการกองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ เล่าถึงขั้นตอนการขอรับหนังสือที่รับรองว่าเป็นบุคคลที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรได้ ว่า กระทรวงการต่างประเทศได้ให้บริการระบบการออก COE ออนไลน์สำหรับชาวไทยและชาวต่างชาติ ผ่านเว็บไซต์ coethailand.mfa.go.th โดยนำร่องให้บริการทางออนไลน์ในสถานทูตไทยที่อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ และสำนักงานเศรษฐกิจที่ฮ่องกง ก่อนจะขยายบริการไปทั่วโลกในต้นเดือน พ.ย.นี้
ข้อคำแนะนำสำหรับผู้เดินทาง ควรวางแผนการเดินทางล่วงหน้าอย่างน้อย 7 - 15 วันทำการ หากผู้เดินทางยังไม่มีวีซ่าสำหรับประเทศไทย ควรติดต่อสถานทูตฯล่วงหน้า ขณะที่การเริ่มต้นการลงทะเบียนขอรับ COE จะต้องผ่านก่อน จึงจะจองตั๋วเครื่องบินและลงทะเบียนจอง ASQ เนื่องจากระบบลงทะเบียนจะช่วยยืนยันว่า ผู้เดินทางมีคุณสมบัติตรงตามประเภทที่ได้รับการยกเว้นหรือไม่
นอกจากนี้ ผู้เดินทางควรเตรียมเอกสารเพิ่มเติม เพื่อแสดงต่อสายการบินก่อนเดินทาง เมื่อได้รับ COE แล้ว ผู้เดินทางต้องเตรียมเอกสารที่เกี่ยวข้อง เช่น ผลการตรวจที่ไม่พบว่าติดเชื้อโควิด-19 ระยะเวลาไม่เกิน 72 ชม.ก่อนเดินทาง, ใบรับรองแพทย์ Fit to Fly และจะต้องมีกรมธรรม์ประกันภัยครอบคลุมการรักษาโรคโควิด-19 รวมทั้งตามข้อกำหนดที่ขั้นต่ำ 1 แสนดอลลาร์ตามเงื่อนไขด้านสาธารณสุข
การบรรยายในครั้งนี้มีผู้แทนหลายภาคส่วนเข้าร่วมจำนวนมาก อาทิ องค์กรเอกชนด้านการท่องเที่ยว สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว และสมาคมโรงแรมไทย ซึ่งได้มีการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆแบบหลากหลาย ซึ่งช่วยให้กระทรวงการต่างประเทศนำไปปรับปรุงขั้นตอนให้มีความสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการยื่นขออนุญาตนำคนต่างชาติที่มีศักยภาพเดินทางเข้าไทย และร่วมฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ