ร่วมถกทางออกชาติ อย่าจบที่ 'ม็อบชนม็อบ'
แม้ความเห็นต่างทางความคิดจะเกิดขึ้นได้ตามระบอบประชาธิปไตย แต่สิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น คือ การปะทะกันของกลุ่มที่มีความเห็นต่างกัน หรือม็อบชนม็อบ เพราะการใช้ความรุนแรงไม่ใช่ทางออกในการแก้ไขปัญหาชาติ แต่ทางออกอยู่ที่การแก้ไขด้วยการระดมสมองหาจุดร่วมด้วยกัน
การเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ ระหว่างวันที่ 26-27 ต.ค.นี้ เพื่อพิจารณาญัตติเปิดอภิปรายทั่วไป โดยไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 165 เกี่ยวกับปัญหาการเมืองและการชุมนุม หลังผู้ชุมนุมในนามคณะราษฎรชุมนุมยืดเยื้อมาตั้งแต่วันที่ 14 ต.ค.ที่ผ่านมา นับเป็นการหาทางออกให้กับประเทศชาติอย่างสันติวิธี ตามแนวทาง “ถอยคนละก้าว” ของรัฐบาลตามคำกล่าวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่แถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 21 ต.ค.ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม วานนี้ (26 ต.ค.) ระหว่างที่ภายในสภากำลังอภิปรายญัตติดังกล่าวอยู่นั้น ด้านหน้ารัฐสภายังมีการชุมนุมของกลุ่มผู้ชุมนุมศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ (ศปปส.) รวมถึงประชาชนที่สวมเสื้อเหลือง ซึ่งมีความเห็นต่างจากผู้ชุมนุมในนามคณะราษฎร โดยหากกลุ่มผู้ชุมนุมทั้งสองกลุ่มซึ่งมีความเห็นต่างเคลื่อนการชุมนุมมาเผชิญหน้ากัน เหมือนที่เคยเกิดเหตุการณ์ชุมนุมบริเวณขึ้นบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 14 ต.ค.ที่ผ่านมา ย่อมเป็นสถานการณ์ที่อ่อนไหวอย่างยิ่ง
นั่นเพราะแม้ความเห็นต่างทางความคิดจะเกิดขึ้นได้ตามระบอบประชาธิปไตย ทว่า สิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นเลย คือการปะทะ หรือกระทบกระทั่งกันระหว่างผู้ชุมนุมทั้งสองฝ่าย จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความสงบของบ้านเมือง ต้องร่วมกันป้องกันไม่ให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น ไม่เช่นนั้นวิกฤติบ้านเมืองจะลุกลามบานปลาย จนยากจะแก้ไข เยียวยา
ยังมีผู้ตั้งข้อสังเกตแบบสุดโต่งว่า หากเกิดเหตุการณ์ “ม็อบชนม็อบ” อาจนำไปสู่ความชอบธรรมของรัฐบาลในการเข้าสลายการชุมนุม ซึ่งเราไม่เชื่อเช่นนั้น และไม่คิดว่าจะเกิดขึ้น นั่นเพราะการชุมนุมทางการเมืองหลายครั้งหลายคราที่จบลงด้วยความรุนแรง สิ่งที่ตามมาคือความบอบช้ำของประเทศชาติ ทั้งในมุมของเศรษฐกิจ และสังคม ขณะที่ความแตกแยกทางความคิดก็ยังคงอยู่
ประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ผ่านมา มีบทเรียนความเจ็บปวดให้เรียนรู้มากมาย ย้ำว่า “การใช้ความรุนแรง” ไม่ใช่ทางออกในการแก้ไขปัญหาชาติ บ้านเมือง ความเห็นต่างต้องแก้ไขด้วยการระดมสมองหา "จุดร่วม" ที่รับกันได้เท่านั้น ซึ่งแนวทางการแก้ไขปัญหาชาติกำลังไปได้ดี ผ่านการใช้เวทีเปิดอภิปรายฯในสภา โดยหลังการอภิปรายฯสิ้นสุด เชื่อว่าจะเกิดการประมวลความคิดเพื่อนำไปสู่ภาคปฏิบัติในการหาทางแก้ปัญหาชาติ ยุติความขัดแย้ง ทว่า หากการชุมนุมชิงจบด้วยความรุนแรงเสียก่อนแล้ว แทนที่จะเป็นการถอยคนละก้าว แต่หนนี้จะเป็นถอยหลังลงคลองลึก ยากจะโงหัว